เจาะลึก ‘ไลฟ์คอมเมิร์ซ’ เทรนด์แรงของไทยที่จะอยู่ ‘ถาวร’ แม้ไม่มี COVID-19

ไลฟ์คอมเมิร์ซไม่ได้เป็นที่นิยมในไทยอย่างเดียว แต่ในประเทศจีนก็กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะผู้นำตลาดอย่าง ‘Alibaba’ และ ‘JD.com’ กำลังถูก ‘Kuaishou’ แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นและไลฟ์สตรีมมิ่งหายใจรดต้นคออยู่ เพราะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แพลตฟอร์มดังกล่าวมียอดสั่งซื้อแตะ 500 ล้านหยวน และปัจจุบันรั้งอันดับ 4 ในตลาด ตามหลัง Taobao, Tmall (ของ Alibaba) JD.com และ Pinduoduo เท่านั้น

ไลฟ์คอมเมิร์ซไทยกำลังไล่ตามจีน

การไลฟ์ขายของในจีนมีมาร์เก็ตไซส์ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของอีคอมเมิร์ซทั้งหมดของจีน และคาดว่าจากนี้จะเติบโตประมาณ 35% ปีต่อปี และที่น่าสนใจคือ กว่า 80% ของคนที่ซื้อของผ่านไลฟ์คอมเมิร์ซอายุต่ำกว่า 30 ปี แพลตฟอร์มไลฟ์สดของจีนมีเยอะมากเป็นหลักร้อย ทั้งที่ทำมาโดยตรงและผ่านโซเชียลมีเดียหรือซูเปอร์แอป โดยทั้งหมดสามารถทำไลฟ์สตรีมคอมเมิร์ซได้ ส่วนผู้ขายมีทั้งเซเลบ, KOL, พริตตี้, อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงเจ้าของร้าน

ส่วนประเทศไทยมีมาร์เก็ตไซส์ประมาณ 5-10% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งหมด หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อีโคซิสเต็มส์ของไลฟ์คอมเมิร์ซไทยค่อนข้างมีความพร้อมไม่ต่างจากจีน เพราะไม่ใช่แค่ไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่แพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซก็มีฟีเจอร์รองรับ ส่วนผู้ขายก็มีครบไม่ต่างจากจีน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้กำลังบ่งบอกว่าตลาดไลฟ์ขายของไทยขยับไปใกล้เคียงกับประเทศจีนมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก Wisesight พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมามีการไลฟ์เยอะขึ้น และถึงแม้จะหมดช่วงล็อกดาวน์การไลฟ์จะลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 ดังนั้นนี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและจะอยู่ถาวร

ไลฟ์คอมเมิร์ซมี 2 แบบ ต้องวางให้ถูก

การไลฟ์ขายของสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท 1.ทำมาร์เก็ตติ้ง เช่น เปิดตัวสินค้าใหม่ ซึ่งเป้าหมายคือ จะต้องสร้างการรับรู้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่โฟกัสคือ จำนวนคนดู แบรนด์จะต้องทำความเข้าใจว่าเงินที่ลงไปนั้นยังไม่สามารถวัดผลได้ทันที ยอดขายจะเกิดขึ้นหลังจากการไลฟ์ขายของจบแล้วเป็นส่วนใหญ่ และการใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ

2.ทำเพื่อขาย สิ่งที่ต้องโฟกัสคือ ทำให้คนเข้ามาดูนานที่สุด เพื่อให้คนมีเอนเกจเมนต์กับคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการสั่งซื้อของให้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ไลฟ์ในช่วง 9.9, 10.10 และ 11.11

ข้อดีมีเยอะ แต่ข้อเสียก็ไม่น้อย

จากผลสำรวจพบว่ามี 5 ข้อ ที่ทำให้ไลฟ์คอมเมิร์ซได้รับความนิยม ได้แก่ 1.ความสนุก 2.ความน่าเชื่อถือ 3.สามารถอินเตอร์แอคชั่นกับผู้ขายได้ทันที 4.คนที่เข้ามาชมไลฟ์ส่วนใหญ่มีความชอบคล้ายกัน และ 5.เขาหวังว่าจะได้ราคาที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม เพราะการไลฟ์คอมเมิร์ซส่วนใหญ่มักจะดึงดูดผู้ชมด้วยการลดราคาสินค้าเพื่อดึงคนดูให้มากที่สุด ดังนั้น สิ่งนี้อาจจะส่งผลในทางลบต่อสินค้าใหม่หรือสินค้าที่มีราคาสูง เพราะจะทำให้คนจะรู้สึกว่าสินค้าไม่มีแวลูมากเท่ากับความเป็นจริง

ดังนั้น แบรนด์จะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าควรตั้งราคาอย่างไรสำหรับสินค้าที่อยากจะโปรโมต นอกจากนี้ ถ้าไม่มีความแม่นเรื่องสินค้า ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามผู้ชมได้อย่างชัดเจน ก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่า

shopping online ecommerce

4 ข้อที่จะทำให้ไลฟ์ประสบความสำเร็จ

ต้องพึ่งระลึกไว้เสมอว่าการไลฟ์ในแต่ละครั้งอาจจะไม่ได้สามารถสร้างกำไรได้ทุกครั้ง ถ้าแบรนด์ทำโดยขาดความเข้าใจ ดังนั้น 4 ข้อที่จะช่วยให้ไลฟ์สามารถประสบความสำเร็จคือ 1.เลือกอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีความน่าเชื่อถือ และเหมาะกับสินค้า 2.ทำการบ้านให้ดี เพื่อที่จะตอบคำถามผู้ชมได้อย่างชัดเจนและสามารถดึงความสนใจของคนดูให้อยู่กับไลฟ์ได้นาน 3.ใส่กิมมิกเพิ่มความน่าสนใจ เพราะผู้ชมต้องการความสนุกในการรับชม และอินฟลูเอนเซอร์ต้องมีความสามารถในการสร้างการพูดคุยกับคนดู เพื่อให้คนดูมีอินเตอร์แอคชั่นและปิดการขาย 4.ดีลที่ดี เพราะผู้ชมหวังว่าจะได้ดีลที่ดีจากการไลฟ์

ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการคนไหนไม่เคยทำไลฟ์คอมเมิร์ซเลย สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไปดูไลฟ์สตรีมของคนอื่น เพื่อดูอินเตอร์แอคชั่นของผู้ซื้อและผู้ขาย กิมมิกที่ใช้ และหาอินฟลูเซอร์ที่จะมาขาย ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากคนดัง แต่ต้องมั่นใจว่าคนนี้สามารถพูดให้คนเชื่อ และดึงความสนใจคนดูได้ นอกจากนี้ ทีมจะต้องพร้อม ต้องเตรียมตัว เตรียมสคริปต์ หาคนที่จะมาไลฟ์และเตรียมข้อมูลของสินค้า สุดท้าย ต้องลองทำ ถ้าไม่ลองไม่มีทางรู้แน่นอนว่าจุดอ่อนของเราอยู่ตรงไหน

“ทั้งหมดทั้งมวลที่ต้องทำในการไลฟ์ขายของคือ เอนเตอร์เทนคนดูให้เขามีส่วนร่วมและยอมซื้อของที่เราจะขาย”