COVID-19 ฉุดภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตปีนี้หดตัวต่อเนื่อง เบี้ยรับรายใหม่เสี่ยงที่จะหดตัวต่ำเป็นประวัติการณ์แตะเลขสองหลัก คนซื้อประกันเพื่อออมลดลง เพราะผลตอบเเทนต่ำไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ประกันชีวิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดย 7 เดือนแรกของปี 2563 ภาพรวม “เบี้ยประกันชีวิต” อยู่ที่ 5.74-5.99 แสนล้านบาท หดตัวลง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าปีนี้จะหดตัวในกรอบ ติดลบ 2-6% ถือว่าติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
“คาดว่าเบี้ยรับรายใหม่ มีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่ำเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับติดลบ 10-15% แม้ว่าเบี้ยปีต่ออายุน่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้”
โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยในปีนี้ มีการเติบโตที่หดตัว ได้เเก่
1) ปัจจัยเดิม : ฐานธุรกิจเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium: SP) ที่สูง และบริษัทยังจำเป็นต้องปรับลดพอร์ตประกันประเภทจ่ายครั้งเดียวลง เพื่อลดภาระในการตั้งสำรองประกันภัยเมื่อเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่
2) ปัจจัยใหม่ : อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้บริษัทประกันปรับลดอัตราผลตอบแทน (Internal Rate of Return หรือ IRR) ของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายในปีนี้ลง เหลือเพียงเฉลี่ย 1% ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบสถาบันการเงินบางประเภทที่มีระยะเวลาการออมสั้นกว่า ลดแรงจูงใจในการออมผ่านการซื้อประกันลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับบน และกลุ่มลูกค้าระดับกลางบางส่วนที่ถูกกระทบจากวิกฤต COVID-19 สุดท้ายแล้ว อาจกระทบให้เบี้ยใหม่ในภาพรวม หดตัวแตะเลขสองหลัก
โดยในระยะที่เหลือของปีนี้ คาดว่าเบี้ยรับรวมจะยังหดตัวต่อเนื่อง ทำให้เบี้ยรับรวมของทั้งปี 2563 คาดว่าจะหดตัวในกรอบ -2% ถึง -6% เป็น 5.74-5.99 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่หดตัวลง -2.6% YoY ด้วยเบี้ยรับรวม 6.11 แสนล้านบาท นำโดยทิศทางการหดตัวของเบี้ยรับรายใหม่ (New Business) ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง -10% ถึง -15% ส่วนเบี้ยปีต่ออายุ (RYP) คาดว่าจะอยู่ในระดับประคองตัวหลังปรับฐานลงค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทประกันชีวิตต่างปรับตัวเพื่อเข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่ม ทั้งแบบสามัญ (Basic Plan) บำนาญ ยูนิตลิงก์ และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (โดยส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทยูนิตลิงก์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ อยู่ที่ระดับประมาณ 5% ปรับตัวลดลงในช่วงปี 2562-2563 จากระดับสูงสุดในปี 2561 ที่ระดับ 7.2%)
โดยมองว่าควรปรับทุนประกันของแผนประกันชีวิตสัญญาหลักให้เล็กลง ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ และขยายโอกาสการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น เเละคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี เบี้ยประกันสุขภาพน่าจะปรับตัวดีขึ้น และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63
ส่วนหนึ่งที่จะทำให้เบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยบวกของการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อประกันสุขภาพเป็น 25,000 บาทต่อปี รวมถึงความตื่นตัวหลังสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทประกันชีวิตหลายแห่ง ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโรคร้ายแรงขึ้นเป็นการเฉพาะ
ประกอบกับภาวะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2564 ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นการซื้อใหม่และซื้อเพิ่ม ดังสะท้อนจากสัดส่วนเบี้ยประกันสุขภาพต่อเบี้ยประกันสัญญาหลักรายบุคคล ที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอด 5 ปี และคาดว่าจะแตะระดับ 20% ในปีนี้ จากระดับ 10.3% ในปี 2558
“ปัญหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่อยู่ระดับต่ำนี้ ยังน่าจะปรากฏต่อเนื่องในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ในระหว่างที่เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ระดับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19”
ส่วนประเด็นที่น่าจับตามองต่อไป ข้อเรียกร้องจากบริษัทประกันชีวิตที่ขออนุมัติการขายประกันสุขภาพเดี่ยว โดยไม่ต้องควบคู่กับสัญญาหลัก เหมือนปัจจุบันประกันวินาศภัยขายอยู่เดิม ขณะที่การบริหารต้นทุนของบริษัทประกันภัยโดยเฉพาะค่าคอมมิชชันอาจมีการปรับลดลง ในส่วนของลูกค้าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้ลูกค้าที่คงเงินปันผลสะสมไว้ในบริษัทด้วย
ในอีกทางหนึ่งครึ่งปีแรก 2563 ธุรกิจประกันชีวิต มีตัวช่วยจากค่าใช้จ่ายจากการเคลมสินไหมที่ลดลง จากสถานการณ์การ COVID-19 ที่ทำให้จำนวนการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลลดลงตามไปด้วย
โดยครึ่งแรกปีนี้ธุรกิจประกันชีวิตมีรายจ่ายจากการเคลมสินไหมรวมลดลงกว่า 9% เป็นประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท เทียบกับที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดโดยในปี 2562 มียอดจ่ายสินไหมที่ 5.06 หมื่นล้านบาท แต่ก็เพียงเป็นปัจจัยบวกชั่วคราว ท่ามกลางปัจจัยลบที่กดดันธุรกิจ
“นอกจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว บริษัทประกันชีวิตยังมีโจทย์ในการปรับปรุงช่องทางขายและบริการผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งมีผลกระตุ้นช่องทางขายหลักเดิมทั้งตัวแทนและแบงก์แอสชัวรันส์ ให้ตื่นตัวในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการหลังการขายบนดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับนายหน้ารายใหม่ที่เน้นเข้าถึงลูกค้าบนโลกออนไลน์เป็นหลัก”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เเนะว่า ทิศทางที่น่าจะตอบโจทย์ใหม่ของธุรกิจประกันชีวิตหลังจากนี้ จำเป็นต้องพึ่งจุดเด่นของธุรกิจในด้านความคุ้มครองอย่างแท้จริง มากกว่าการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อประกันเพื่อผลตอบแทนด้านภาษีและอัตราดอกเบี้ยอย่างที่เคยเป็นมา เมื่อต้องเจออัตราดอกเบี้ยในประเทศที่จะยังทรงตัวต่ำต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า