ศาลสหรัฐฯ ระงับคำสั่งแบน TikTok แจง “ทรัมป์” ส่อใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมาย

Photo : Shutterstock
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสหรัฐฯ ที่ขวางคำสั่งแบนการดาวน์โหลดแอป TikTok ในสหรัฐฯ แจกแจงเหตุผลว่าในกรณีนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมาย รวมทั้งยังอาจทำให้ TikTok ได้รับความเสียหายชนิดที่ไม่อาจกู้คืนได้ จากการสูญเสียผู้ที่น่าจะเป็นยูสเซอร์ของตนไปให้แก่แพลตฟอร์มคู่แข่ง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา คาร์ล นิโคลส์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของ TikTok ระงับการปฏิบัติตามคำสั่งของคณะบริหารทรัมป์ ที่ให้ห้ามดาวน์โหลดแอปวิดีโอสั้นยอดนิยมนี้ในสหรัฐฯ ตั้งแต่หลังเวลาเที่ยงคืนวันอาทิตย์

ทำเนียบขาวอ้างอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act – IEEPA) สั่งแบน TikTok โดยระบุเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศเนื่องจากบริษัทแม่คือ ไบต์แดนซ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน

ทีมทนายความของ TikTok ยังระบุในคำร้องว่า คำสั่งแบนนี้เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ขณะที่ทีมทนายความของรัฐบาลสหรัฐฯ โต้แย้งว่า ประธานาธิบดีมีสิทธิ์ในการดำเนินการด้านความมั่นคงของชาติ และการแบนเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากติ๊กต็อกมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนผ่านไบต์แดนซ์

Photo : Shutterstock

แต่ในคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้พิพากษานิโคลส์ระบุว่า ฝ่ายโจทก์ (TikTok) สามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขาน่าที่จะประสบความสำเร็จเกี่ยวกับข้ออ้างต่างๆ ของพวกเขาในเรื่องที่ว่าคณะบริหารทรัมป์ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย IEEPA

ผู้พิพากษาผู้นี้ชี้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีข้อจำกัดไม่ให้ประธานาธิบดีสั่งห้ามการติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีมูลค่า

คำวินิจฉัยของเขาระบุว่า สิ่งที่โพสต์กันบนติ๊กต็อกนั้นอยู่ในลักษณะของการบอกกล่าวแจ้งข่าว พร้อมกับชี้ด้วยว่า ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนใช้ TikTok เพื่อแบ่งปันภาพยนตร์ ภาพถ่าย ศิลปะ และข่าวสาร

นอกจากนั้น คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาผู้นี้สำทับว่า การแบนจะสร้างความเสียหายที่ไม่อาจกู้คืนได้ต่อ TikTok เนื่องจากจะมีผลโดยตรงทำให้ TikTok ไม่สามารถรับยูสเซอร์ใหม่ และผลักดันให้ยูสเซอร์เหล่านั้นต้องหันไปหาแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายสถานะการแข่งขันของ TikTok

ในเวลาต่อมา TikTok ได้ออกคำแถลงแสดงความยินดีที่ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท

ทางด้าน คาร์ล โทเบียส ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยริชมอนด์ แสดงความเห็นว่า คำสั่งของนิโคลส์เป็นการให้เวลาทั้งสองฝ่ายได้แก้ไขข้อขัดแย้งและค้นพบทางออก

เนื่องจากสิ่งที่ผู้พิพากษาทำในครั้งนี้ คือการให้ความคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้นการฟ้องร้องของ TikTok เพื่อท้าทายความชอบธรรมของคำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์จึงยังคงดำเนินต่อไปภายในศาล แต่ขณะเดียวกัน ภายนอกศาลนั้น TikTok ก็ดูยังพยายามต่อไปเพื่อให้ได้ข้อตกลงขายกิจการในอเมริกาหรือร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอเมริกัน แก้ไขข้อกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ

ข้อตกลงที่กำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้จะทำให้ออราเคิล บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่จากซิลลิคอนแวลลีย์ ได้เป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีกับ TikTok และถือหุ้นในบริษัทแห่งใหม่ที่จะใช้ชื่อว่า TikTok Global
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่า จะไม่ถูกใจปักกิ่งที่มองว่า อเมริกาพยายามดำเนินการแบบข่มเหงรังแกกันเพื่อขัดขวางเทคโนโลยีจีน

Source