“สบาย เทคโนโลยี” ดันตู้ Vending Plus สู่โมเดล New Retail Solution ทางเลือกใหม่ของค้าปลีกยุค New Normal


เมื่อตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเป็นไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภค ตอนนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลทางธุรกิจของวงการค้าปลีก “สบาย เทคโนโลยี” เปิดเกมบุกหาพาร์ทเนอร์ จำหน่ายสินค้าตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย ยันชุดชั้นใน เตรียม IPO ระดมทุน สร้างการเติบโตในอนาคต

จับตาตู้อัตโนมัติ กลายเป็น New Retail Solution

ถ้าพูดถึงวงการค้าปลีก หรือ Retail ในยุคนี้แล้ว เรียกว่ามีความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของช้อปปิ้งออนไลน์ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจ ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ล้วนเป็นสิ่งที่เข้ามา Disrupt วงการอย่างหนักหน่วง

แต่ดูเหมือนว่าม้ามึดอย่าง “ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ” หรือ Vending Machine หลายๆ คนอาจจะเรียกตู้กดน้ำก็ไม่ผิด จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความปั่นป่วนให้อุตสาหกรรมค้าปลีกไม่น้อย เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสร้างความสะดวกสบาย อีกทั้งตอนนี้ยังขายสินค้าในหลายๆ กลุ่ม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี

ในตลาดตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยในปัจจุบันมีรวม 30,000 ตู้ เบอร์หนึ่งในตลาด ได้แก่ “ซัน 108” มีจำนวน 12,000 ตู้ ส่วนเบอร์สองก็คือ “เวนดิ้งพลัส” จากค่ายสบาย เทคโนโลยี มีจำนวน 5,700 ตู้ ตอนนี้ขาใหญ่อย่าง “เซเว่นฯ” ก็เตรียมบุกตลาดอย่างหนักเช่นกัน

ถ้าใครที่เคยไปเยือนประเทศญี่ปุ่น จะคุ้นเคยกับตู้กดน้ำเป็นอย่างดี มีจำนวนตู้กดน้ำถึง 2.5 ล้านเครื่อง เทียบกับจำนวนประชากร 160 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยที่ปัจจุบันตลาดนี้มีทั้งหมด 30,000 เครื่อง เทียบกับจำนวนประชากร 70 ล้านคน ถือว่ายังมีโอกาสในตลาดอีกมาก

เติบโตกระฉูด โดยไม่มีอะไรกั้น

ยิ่งการมาของวิกฤต COVID-19 ยิ่งมองเห็นตลาด Vending Machine เติบโตแบบสวนกระแส กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลค้าปลีกรับยุค New Normal ได้อย่างดี รวมถึงยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ประกอบการยุคใหม่ด้วย

ทางด้าน บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้มีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในแบรนด์ “เวนดิ้งพลัส” พร้อมกับโมเดล Vending Machine Store ในชื่อร้าน 6.11 เพื่อตีขนาบกับร้านสะดวกซื้อ และวางในชุมชนเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด

ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เริ่มเล่าว่า

“จากวิกฤตของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นโอกาสใหม่ของตลาด Vending Machine เรียกว่าเป็น New Retail Solution จะเป็นช่องทางใหม่ของผู้ประกอบการ จากแต่ก่อนที่ต้องซื้อขายผ่านช้อป แต่พอเกิดล็อกดาวน์ทำให้มีการปิดศูนย์การค้า ไม่สามารถขายสินค้าได้ แต่ตู้ Vending Machine สามารถไปตั้งใกล้ ลูกค้าได้โดยมีค่าดำเนินการไม่เกินจุดละ 5000 บาท ก็เปิดการขายได้เลยเทียบกับการเปิดร้าน ซึ่งต้องมีงบตกแต่งมากถึง 2-3 แสนบาท”

นอกจากทางฝั่งของผู้ประกอบการแล้ว ทางด้านผู้บริโภคก็ตอบรับกับตู้กดอัตโนมัติมากขึ้น หลายคนมองว่าซื้อผ่านตู้สะดวก และรวดเร็วกว่า ไม่ต้องซื้อผ่านคน สร้างความสบายได้มากกว่า

ขายเครื่องดื่ม หน้ากากอนามัย ยันชุดชั้นใน

แต่เดิมนี้ตู้ Vending Machine ในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นตู้จำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม อาหารทานเล่น และอาหารพร้อมทาน แต่ในตอนนี้พบว่าจำนวนสินค้าหลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันตู้ของเวนดิ้งพลัสมีจำหน่ายทั้งเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ในช่วงของ COVID-19 ก็มีเพิ่มหน้ากากอนามัย อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จต่างๆ ซิมมือถือ ในอนาคตจะมีไปถึงการจำหน่ายชุดชั้นใน ซีดีเพลง และถุงยางอนามัยด้วย

ในการจำหน่ายสินค้าภายในตู้ จะมีพาร์ทเนอร์ที่มองเห็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ตอนนี้มีแบรนด์ใหญ่ทั้ง นารายา, ซาบีน่า Rizz และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

ชูเกียรติได้เล่าว่า ตอนนี้มีพาร์ทเนอร์ที่มาจับมือร่วมกันอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมีโจทย์ใหญ่คือ ต้องการขยายช่องทางในการจัดจำหน่าย และเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งตู้ Vending Machine สามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างลงตัว

แบรนด์ “นารายา” ที่ได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ทำให้นารายาต้องปรับกลยุทธ์ในการเข้าถึงคนไทยมากขึ้น มีการปรับกลุ่มสินค้า เลือกสินค้ากลุ่มที่คนไทยชอบมาจำหน่ายผ่านตู้ของเวนดิ้งพลัส ได้แก่ กระเป๋าผ้า กระเป๋าใส่ของเล็กๆ กระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าใส่นามบัตร ในอนาคตจะมีทิชชู่เปียกด้วย

ส่วนของ “ซาบีน่า” แรกเริ่มมีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยอยู่แล้ว มีการขยายไปกลุ่มชุดชั้นในที่เป็นสินค้าหลัก ปกติแล้วจะมีหน้าร้านอยู่ตามเคาท์เตอร์ในห้างสรรพสินค้ากว่า 600 แห่ง เมื่อห้างฯ ถูกปิด ทำให้ต้องหาช่องทางขายใหม่ๆ จึงปิ๊งไอเดียในการจำหน่ายชุดชั้นในผ่านตู้ของเวนดิ้งพลัส

หลายคนอาจจะงงว่า แล้วชุดชั้นในจะขายได้หรอ เพราะมีทั้งเรื่องขนาด เนื้อผ้า ที่หลายคนอาจจะต้องลองจับ ซึ่งรูปแบบการจำหน่ายของซาบีน่าจะเริ่มจากการเลือกชุดชั้นในขนาดมหาชน หรือไซส์มาตรฐานของสาวไทย พร้อมกับออกเป็น Value Pack มีราคาที่คุ้มค่า เพราะเมื่อจำหน่ายผ่านตู้ทำให้ต้นทุนในการขายลดลง ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ ทำให้สามารถปรับโครงสร้างราคาได้

ตู้จำหน่ายชุดชั้นในของซาบีน่าจะเริ่มในเดือนตุลาคม นำร่องที่ 30 ตู้ก่อน กระจายตามโลเคชั่นต่างๆ ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ในอนาคตอาจจะมีทำชุดชั้นใน และกางเกงในกระดาษขายเพิ่มเติมด้วย อีกหนึ่งพาร์ทเนอร์ที่น่าสนใจคือ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” จะมีจำหน่ายเพลงของแกรมมี่ในรูปแบบของแผ่น MP3 และ USB ในราคาเริ่มต้นที่ 99 บาท เน้นที่โลเคชั่นปั๊มน้ำมัน จับกลุ่มคนเดินทางในต่างจังหวัด พบกว่าคนกลุ่มนี้ยังชอบฟังเพลงในรูปแบบนี้อยู่

เร่งขยายโมเดลใหม่ สร้างโอกาสให้พาร์ทเนอร์

ปัจจุบันตู้เวนดิ้งพลัสมีทั้งหมด 5,700 ตู้ เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2562 ที่มี 3,900 ตู้ ตั้งเป้าสิ้นปีจะมีทั้งหมด 7,200-7,500 ตู้ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 60-70% และต่างจังหวัด 30-40% ตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ

ส่วนร้าน 6.11 มีทั้งหมด 200 สาขา มีการปิดไป 19 สาขา เพราะบางสาขาไม่คุ้มในการลงทุน และทำการ Relocate สาขาใหม่ทดแทนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มได้มากขึ้นด้วย

ชูเกียรติบอกว่าตู้ Vending Machine และ Vending Store จะกลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลของค้าปลีกได้ สามารถกระจายสินค้าได้เร็ว รวมถึงลงทุนไม่สูง

“ปัจจุบันร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ทุกคนประสบปัญหายอดขายตกลง มีการชะลอการลงทุนกันเยอะ บางแห่งขยายในปั๊มน้ำมัน การลงทุนสูง แต่ถ้าเป็นรูปแบบ Vending Machine และ Vending Store อย่างเช่น ร้าน 6.11 คอนเนอร์ จะลดค่าใช้จ่ายลงเยอะ จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าราคาถูกลง ให้พาร์ทเนอร์มีจุดกระจายสินค้า เจ้าของพื้นที่ก็แฮปปี้ด้วย”

ชูเกียรติยกตัวอย่างแบรนด์นารายาเพิ่มเติม แต่เดิมนารายาไม่มีช้อปในเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี แต่เมื่อจำหน่ายสินค้าผ่านตู้เวนดิ้งพลัส สามารถกระจายตามเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซีได้ เป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นได้ด้วย

ท้าชน “เซเว่น” คู่แข่งอันดับ 1 ตลอดกาล

แม้เบอร์ 1 ในตลาดจะเป็น “ซัน 108” จากค่ายสหพัฒน์ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่คู่แข่งที่ทางสบาย เทคโนโลยีมองเท่าไหร่ เพราะได้มองพี่ใหญ่อย่าง “เซเว่นฯ” เป็นคู่แข่งเบอร์ 1 เนื่องจากเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีกว่าหมื่นสาขา ยิ่งตอนนี้ทางเซเว่นฯ เริ่มบุกตลาด Vending Machine มากขึ้นด้วย

“ผมไม่กังวลซัน 108 แต่ผมกังวลเซเว่น” ชูเกียรติเผยถึงความท้าทายในการทำตลาดในตอนนี้

“สิ่งที่น่ากลัวคือ ตอนนี้เซเว่นฯ เริ่มนำตู้ Vending Machine เข้าแหล่งคอนโด แหล่งชุมชนมากขึ้น รวมถึงการให้ค่าเช่าแก่เจ้าของที่เป็น 2 เท่า ผมกลัวว่าเซเว่นฯ จะตั้งหมื่นตู้ภายใน 3 เดือน แต่อีกมุมหนึ่งก็ช่วยทำให้ตลาดเปิดกว้างขึ้น แต่เวนดิ้งพลัสจะใช้จุดเด่นที่การเปิดรับพาร์ทเนอร์ และเข้าถึงง่ายกว่า ราคาย่อมเยากว่า”

นอกจากเรื่องการแข่งขันในตลาดแล้ว ความท้าทายรองลงมาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ คนรากหญ้าไม่มีกำลังซื้อ อยู่ในส่วนที่ควบคุมไม่ได้ ตอนนี้เริ่มเห็นพิษเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค มีการเดินห้างน้อยลง ทำให้สบาย เทคโนโลยีต้องสร้าง Ecosystem เป็นจุดที่แบรนด์มองว่าคุ้มค่า พาร์ทเนอร์มองว่ามาช่องทางนี้แล้วลดค่าใช้จ่าย คุ้มค่ากว่าเดิม ได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย

เตรียม IPO พร้อมสยายปีกการเติบโต

อีกหนึ่งแผนธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ของสบาย เทคโนโลยีคือ การเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่ม Commerce โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท (พาร์ 1 บาท) แก่นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน

เป้าหมายหลักของการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการต่างๆ อาทิ โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) โครงการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โครงการให้บริการระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหารและร้านค้า โครงการขยายศูนย์กระจายสินค้า ตลอดจนโครงการเพิ่มตู้ขายสินค้าอัตโนมัติซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัทฯอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย

มีเป้าหมายใหญ่หลังจาก IPO แล้ว ภายในปลายปีหน้าต้องการเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรม Vending Machine ให้ได้

ายได้หลักกว่า 50% มาจาก ธุรกิจตู้เติมเงินภายใต้ แบรนด์ “เติมสบายพลัส” และ มีรายได้ 30% จากธุรกิจขายสินค้าผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ โดยรายได้จากธุรกิจตู้ขายสินค้าเติบโตเฉลี่ยสูง และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากแผนการเพิ่มจำนวนตู้สินค้าอย่างต่อเนื่อง และ การเพิ่มสินค้าใหม่ที่มีราคาต่อหน่วยสูง เช่น หน้ากากอนามัย เสื้อยืด ราคาเฉลี่ยประมาณ 100 บาททำให้รายได้ต่อตู้จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่รายได้หลักมาจากการการจำหน่ายเครื่องดื่มราคาเฉลี่ย 10-15 บาทต่อชิ้น รวมถึงการขยายร้านค้าปลีกอัตโนมัติรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ “6.11 Select” และ “6.11 Corner” และ ร้านบริการซักผ้าอัตโนมัติ “ SABUY WASH”