ย้อนรำลึก “Kenzo Takada” ดีไซเนอร์ชื่อก้อง ผู้นำศิลปะตะวันออกสู่สายตาคนทั้งโลก

Kenzo Takada ในงานฉลองวันเกิดครบรอบ 80 ปีเมื่อปี 2019 (Photo by Foc Kan/WireImage)
Kenzo Takada ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นจากไปด้วยวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2020 หลังจากต่อสู้กับอาการป่วยด้วยโรคระบาด COVID-19 ที่โรงพยาบาล American Hospital ใกล้เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางกระแสแสดงความอาลัยในฐานะผู้สร้างแบรนด์แฟชั่น Kenzo สัญลักษณ์แห่งความสดชื่นและจิตวิญญาณอิสระ

“แฟชั่นเหมือนกับการทานอาหาร นั่นคือคุณไม่ควรทานแต่เมนูเดิมๆ” เป็นคำกล่าวที่รู้จักกันดีของ Kenzo Takada ชายผู้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและนิสัยสนุกสนานขี้เล่น สะท้อนสู่แฟชั่นของเขาที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา

Takada คือผู้ก่อตั้งแบรนด์ Kenzo ซึ่งเป็นการเปิดหน้าต่างใหม่ในโลกแฟชั่น เขาคือหนึ่งในดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่โด่งดังในระดับสากล และปลดล็อกให้ดีไซเนอร์รุ่นน้องตามเข้าสู่วงการแฟชั่นตะวันตกอีกมาก พร้อมกันนั้นยังเป็นที่รักของคนในวงการแฟชั่นจนมีผู้แสดงความไว้อาลัยจำนวนมากเมื่อเขาจากไป

 

หนึ่งในผู้ชายกลุ่มแรกของวิทยาลัยแฟชั่นบุนกะ

ก่อนที่จะเกิดแบรนด์ Kenzo และทำให้เขาเป็นที่ชื่นชมของคนในวงการจำนวนมาก เขาต้องฝ่าฟันเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง เพราะแรกเริ่มไม่มีใครสนับสนุนเขา ทั้งพ่อแม่และสังคมญี่ปุ่น

Takada เกิดที่เมืองฮิเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1939 เริ่มแรกเขาเรียนทางด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยโกเบตามความต้องการของพ่อแม่ ก่อนจะลาออกกลางคัน จากนั้นเขาหันไปสมัครเข้าเรียนใน วิทยาลัยแฟชันบุนกะ และเป็นหนึ่งในนักเรียนชายกลุ่มแรกที่ได้เรียนที่นี่

น้ำหอม Flower by Kenzo ซิกเนเจอร์ในโลกแฟชั่น

เขาให้สัมภาษณ์กับ New York Times เมื่อปี 2019 ว่า “มีคนบอกผมว่า มันเป็นไปได้ที่ชายชาวญี่ปุ่นสักคนจะเข้าไปทำงานในวงการแฟชั่นที่ปารีส ผู้ชายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนในโรงเรียนดีไซน์ ยุค 1950s นั้นการมีความคิดสร้างสรรค์ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมญี่ปุ่น และที่เหนือกว่าทุกเรื่องก็คือ พ่อแม่ของผมไม่เห็นด้วยที่ผมจะไปทำงานในโลกแฟชั่น”

 

นำกลิ่นอายตะวันออกบุกโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม Takada ก็กัดฟันสู้ตามฝันของตนเอง หลังเรียนจบเขาเริ่มงานในแผนกเสื้อผ้าสตรีที่ห้างสรรพสินค้าซานาอิ ก่อนจะพบจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคือ บังเอิญว่าแฟลตที่เขาอยู่อาศัยถูกรัฐบาลเวนคืนที่ไปใช้ในงาน Tokyo Olympics 1964 และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินชดเชยเป็นค่าเช่าแฟลต 10 เดือน

เงินชดเชยนั้นเขานำไปใช้ไล่ตามฝันที่ปารีส ยุคนั้นเขาต้องใช้วิธีลงเรือเดินทะเลเป็นแรมเดือน ผ่านสิงคโปร์ บอมเบย์ และสเปน ก่อนจะไปถึงปารีสในที่สุด

Takada เริ่มต้นทำงานเป็นนักวาดภาพสเก็ตช์ให้ดีไซเนอร์รายอื่นก่อน ด้วยความตั้งใจเดิมที่จะอยู่ในปารีสแค่ 6 เดือน แต่ช่วงเวลากลับยืดยาวขึ้น (และกลายเป็นการอยู่ยาว 54 ปีในภายหลัง) เขาเก็บประสบการณ์และเงินทุนจนสามารถเปิดห้องเสื้อของตนเองในปารีสได้ในปี 1970 และได้เปิดตัวเป็นที่รู้จักอย่างจริงจังเมื่อ Catherine Rousso บรรณาธิการนิตยสาร ELLE ฝรั่งเศส เลือกใช้เสื้อผ้าของเขาให้นางแบบสวมใส่บนหน้าปกเมื่อปี 1971

Takada กล่าวถึงสไตล์แฟชันของเขาในยุคแรกๆ ว่าเต็มไปด้วยลายพิมพ์ดอกไม้ ผ้ามีลาย และกิโมโน รวมถึงลายเส้นที่แสดงให้เห็นภาพธรรมชาติด้วยศิลปะสไตล์ญี่ปุ่นอย่างชัดเจน

“เมื่อครั้งที่ผมเปิดห้องเสื้อของตัวเอง ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์เลยที่ตนเองจะทำอย่างที่ดีไซเนอร์ฝรั่งเศสทำกัน เพราะผมทำไม่ได้” Takada กล่าวกับสำนักข่าว SCMP เมื่อปี 2019 “ดังนั้น ผมก็เลยทำสิ่งต่างๆ ในแบบของตัวเองเพื่อให้เกิดความแตกต่าง โดยใช้ผ้ากิโมโนและอื่นๆ เข้ามาในงาน”

ห้องเสื้อของเขาได้รับความนิยม และเริ่มขยายไปเปิดสาขาที่ New York ในปี 1976 พร้อมกับรีแบรนด์ใหม่เป็น “Kenzo” และอีกครั้งที่เขาได้รับสปอตไลต์จากแวดวงแฟชั่น เสื้อผ้าของเขาถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Vogue อเมริกัน

 

แปลก ใหม่ และต่าง

ทำไมแฟชั่นแบบ Kenzo จึงปฏิวัติวงการแฟชั่นระดับสากลในขณะนั้น Olivier Gabet ผู้อำนวยการ Musée des Arts Décoratifs ในเครือพิพิธภัณฑ์ Louvre ฝรั่งเศส กล่าวย้อนรำลึกว่า “แฟชั่นโชว์แรกของเขาเป็นที่จดจำ เบาสบายและสนุกสนาน ด้วยเหล่านางแบบที่เหมือนกับเต้นไปบนแคตวอล์ก มากกว่าเดินแบบหรือโชว์เสื้อผ้า ห่างไกลจากวิสัยทัศน์แบบแบ่งชนชั้นของเสื้อผ้าฝรั่งเศส”

Takada ในงาน Mercedes Benz Fashion Week ที่อิสตันบูล ปี 2018 (photo : shutterstock)

Takada ผู้ไม่ชอบการถูกเรียกว่า “ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น” แต่ต้องการให้เรียกเขาว่า “แฟชั่นดีไซเนอร์” มากกว่า เขาจัดแฟชั่นโชว์ที่แตกต่างอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งเขาจัดโชว์ในเต็นท์ละครสัตว์ โดยมีตัวเขาเองขี่ช้างเข้ามาในโชว์ “เป็นโชว์ในตำนาน และหนึ่งในงานที่หาบัตรเข้าชมยากที่สุดของเมืองนี้” Gene Pressman อดีตประธานกรรมการร่วมแบรนด์ Barneys กล่าว “เขาเป็นบุคคลสัญลักษณ์แห่งความ ‘คัลต์’ สำหรับหนุ่มสาวและคนที่มีจิตใจแบบคนหนุ่มสาว”

 

เข้าสู่อ้อมอก LVMH

หลังจากนั้นแบรนด์ยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการขยายไปออกแบบคอลเลกชันเสื้อผ้าผู้ชายในปี 1983 ตามด้วยไลน์น้ำหอมในปี 1988 ก่อนที่เขาจะขายกิจการให้ LVMH ในปี 1993 ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงหลายประการในอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมถึงเหตุผลส่วนตัวนั่นคือการจากไปของ Xavier de Castella คู่ชีวิตของ Takada

“ผมตัดสินใจขายกิจการด้วยหลายเหตุผล แฟชั่นเริ่มเป็นการพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะแฟชั่นก็เปลี่ยน และความเร็วในการทำงานก็เปลี่ยนไป” Takada กล่าว “ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ตั้งแต่วิธีการทำเสื้อผ้า วิธีการกระจายข่าวสาร และมีเสื้อผ้าประจำฤดูกาลบ่อยขึ้นเรื่อยๆ”

แฟชั่นโชว์ Kenzo คอลเลกชัน Spring/Summer 2021

เขาอยู่ต่อกับห้องเสื้อจนถึงปี 1999 และตัดสินใจลาออกเพื่อเกษียณอายุในวัย 60 ปี แต่เขาก็ไม่ได้หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง เช่น Takada ยังรับออกแบบชุดยูนิฟอร์มให้ทีมโอลิมปิกญี่ปุ่นเมื่อปี 2004 และมาเป็นดีไซเนอร์ให้แบรนด์ตกแต่งบ้าน Gokan Kobo เมื่อปี 2005 ซึ่งศิลปะการตกแต่งบ้านกลายมาเป็นความสนใจใหม่ของเขาจนถึงห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

Kenzo Takada จากไปในระหว่างการจัดงาน ปารีส แฟชั่น วีค 2020 งานแฟชั่นโชว์เก่าแก่ที่ปีนี้ต้องเผชิญวิกฤตโรคระบาด มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชม และเผยแพร่งานส่วนใหญ่ผ่านระบบไลฟ์สดแทน ยิ่งตอกย้ำความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับวงการแฟชั่นจาก COVID-19

Source: The New York Times, Forbes