เอาจริง! “เวียดนาม” ตั้งเป้าเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน” เป็นเท่าตัวภายในปี 2030

แหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมใน Phan Rang, Ninh Thuan ทางใต้ของเวียดนาม (Photo : Shutterstock)
“เวียดนาม” ตั้งเป้าเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน” สูงขึ้นเป็นเท่าตัว หรือคิดเป็น 15-20% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 เพื่อลดการพึ่งพิงถ่านหินและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุโลกร้อน

รัฐบาลเวียดนามเปิดเผยเป้าหมายด้านพลังงานบนเว็บไซต์รัฐบาลเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ จะคิดเป็นสัดส่วน 15-20% ของซัพพลายพลังงานในเวียดนามภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10%

เป้าหมายนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถทำตาม ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 ได้สำเร็จ โดยคำมั่นสัญญาที่เวียดนามให้ไว้ขณะนั้นคือ ภายในปี 2030 เวียดนามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองเป็นสัดส่วน 8% หรือจะเพิ่มเป็น 25% หากได้รับการสนับสนุนทุนจากต่างประเทศ

เป้าหมายแรกคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% ภายในปี 2030 และยังตั้งเป้าขั้นถัดไป ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2045

ที่ผ่านมาเวียดนามมีการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในหลายทิศทาง เช่น เงินสนับสนุนจากรัฐให้กับเอกชนหรือบุคคลที่ลงทุนผลิตพลังงานทดแทนเอง รวมถึงสิทธิให้บริษัทเอกชนสามารถจำหน่ายพลังงานตรงแก่ผู้บริโภคได้

 

เวียดนามใช้ไฟฟ้าเพิ่มปีละ 10%

สถานการณ์การใช้พลังงานปัจจุบันของเวียดนามยังต้องพึ่งพิงถ่านหินเป็นหลัก และมีแนวโน้มการใช้พลังงานเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 10% เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วของประเทศ ส่วนแหล่งพลังงานอันดับสองของเวียดนามคือไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อน

ประเทศเวียดนามกำลังเติบโตและต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นปีละ 10% จากโรงงานผลิตที่ย้ายฐานเข้ามา และชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น (Photo : Shutterstock)

แม้ว่าจะมีเป้าหมายสนับสนุนพลังงานทดแทน รวมถึงความกังวลต่อปัญหามลพิษของประเทศ ความต้องการพลังงานก็ทำให้เวียดนามยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีกตาม แผนการพัฒนาพลังงานฉบับที่ 7

อย่างไรก็ตาม เซซิเลีย เจิ้ง นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจพลังงานจาก IHS Markit มองว่า ครึ่งหนึ่งของแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผน 7 นี้ยังมีโอกาสถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปได้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้รัฐบาลยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีปัจจัยจูงใจเพิ่มคือแหล่งทุนอย่าง OCBC ธนาคารสิงคโปร์ กับ รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ถอนตัวจากการลงทุนไปแล้ว

เจิ้งยังระบุด้วยว่า แผนการพัฒนาพลังงานฉบับที่ 8 ที่กำลังร่างขึ้น แสดงให้เห็นกลยุทธ์ด้านพลังงานใหม่ของเวียดนามที่กำลังมุ่งไปสู่แหล่งพลังงานทดแทน

 

ดีมานด์ไฟฟ้าสูง แต่ต้องลดถ่านหินเพื่ออนาคต

นอกจากการเปลี่ยนแหล่งพลังงาน เจิ้งมองว่าเวียดนามยังจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพระบบกริดในการจ่ายไฟฟ้า จากขณะนี้ที่ระบบมักจะถูกใช้เกินพิกัดบ่อยครั้ง ทำให้อาจเกิดไฟฟ้าขาดแคลนได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อโรงงานผลิตต่างๆ ยังคงย้ายออกจากจีนมาเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และชนชั้นกลางของเวียดนามกำลังเติบโต ทำให้มีการบริโภคและการก่อสร้างสูงขึ้น

ด้วยดีมานด์ขนาดนี้ เวียดนามวางแผนจะเพิ่มกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศเป็น 60 กิกกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2020 และเป็น 96 กิกกะวัตต์ภายในปี 2025 แต่ธนาคารโลกประเมินเมื่อเดือนมกราคม 2020 ว่าประเทศเวียดนามมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 47 กิกกะวัตต์เท่านั้น

เวียดนามมีความใส่ใจต่อปัญหาโลกร้อนค่อนข้างสูง เนื่องจากมองว่าภูมิศาสตร์ของตนเองทำให้เวียดนามเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด ด้วยภูมิประเทศมีชายฝั่งเป็นแนวเส้นยาว เป็นเขตพื้นที่รับมรสุม เสี่ยงต่อภาวะการแทรกตัวของน้ำเค็มเข้าสู่ชายฝั่ง และการกัดกร่อนดินชายฝั่ง ทำให้ประเทศหวังว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

Source