60 ปีที่แล้ว “กำพล วัชรพล” เริ่มเส้นทางการก่อตั้งหนังสือพิมพ์เพื่อให้ตัวอักษรข่าวได้โลดแล่นอยู่ในหน้ากระดาษเบื้องหน้าผู้อ่าน จากสื่อหัวต่าง ๆ จนมาลงตัวเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยแจ้งเกิดหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โปรดักต์ที่สามารถสร้างไทยรัฐยืนยาวมานานเกือบ 50 ปี แต่ในอีกมุมหนึ่งของอาณาจักรแห่งนี้ “วัชร วัชรพล หรือ จูเนียร์” หลานตาของ “กำพล” ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 กำลังเริ่มต้นสิ่งใหม่ในยุคที่โลกหมุนเร็ว เพื่อสร้างตัวตนให้กับ “ไทยรัฐ” ในโลกออนไลน์ เป็นจุดสตาร์ทที่สำคัญของเขาในการขับเคลื่อนอาณาจักรนี้ในอนาคต
“วัชร” ถูกวางตัวจากแม่คือ “ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของผู้ก่อตั้งไทยรัฐ ที่หล่อหลอมและวางเส้นทางของเขาตั้งแต่การเรียน จนมาถึงการทำงาน และการเข้ามาสู่อาณาจักรไทยรัฐ ที่เริ่มต้นในสื่อออนไลน์ภายใต้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ที่สะท้อนถึงทายาทรุ่นที่ 3 คือ “Trend VG3” ที่ย่อมาจาก Thairath Electronic News Development Vacharaphol Generation 3 หากสำเร็จคงไม่ยากที่ชาวไทยรัฐจะอ้าแขนยอมรับเขาเข้าสู่ธุรกิจหลัก
“วัชร” เปิดตัวเองอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2552 ในการแถลงเปิดตัวธุรกิจส่งข่าว SMS กับค่ายเอไอเอส และปลายปีกับค่ายดีแทค พร้อมกับการพัฒนาเว็บไซต์ข่าวต่อยอดจากทีมเดิมของไทยรัฐที่ทำมาก่อน รวมไปถึงพยายามศึกษาหาช่องทางอื่นๆ เพื่อไทยรัฐในอนาคต
“วัชร” สนทนากับทีม POSITIONING เกือบ 2 ชั่วโมง จากประโยคแรกๆ ด้วยความเคร่งขรึม กลายเป็นผ่อนคลายในเวลาไม่นานนัก จริงจังเมื่อพูดถึงเรื่องงาน และมีสีสันเมื่อเล่าถึงความชอบและไลฟ์สไตล์ อย่างเช่นตัวอักษรในบรรทัดต่อไปนี้
POSITIONING ช่วงเรียนหรือก่อนเข้ามาบริหารธุรกิจออนไลน์ได้เข้ามาช่วยในไทยรัฐก่อนบ้างไหม
วัชร ก่อนมาเริ่มบริษัทนี้ (Trend VG3) ก็อยู่ในไทยรัฐ3ปี ช่วยคุณแม่ทำโน่นทำนี่ ส่วนใหญ่ดูว่าคุณแม่ทำงานยังไง ดูระบบพิมพ์ว่าเป็นไง เพราะจบBusinessมา ไม่รู้ระบบอะไรเกี่ยวกับการพิมพ์เลย เราก็ต้องเรียนรู้แท่นพิมพ์ ดูกระดาษบ้าง
POSITIONING มาเริ่มออนไลน์เมื่อไหร่ และโจทย์ตอนนั้นคืออะไร
วัชร ปลายปี51ก่อนที่เราจะเปิดบริษัทเรามีระดมความคิดกันมาครึ่งปีกว่า Brain Stormกันทุกเรื่อง ว่าเว็บจะเป็นยังไง คนต้องการอะไรจากเว็บ ความต่างจากฮาร์ดก๊อบปี้(ตัวหนังสือพิมพ์) กับออนไลน์ มาถึงตรงนี้แล้วโจทย์ก็คล้ายเดิมแต่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม คือผลักดันไทยรัฐไปสู่ช่องทางต่างๆ ในมีเดียใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ตอนแรกเรารู้ว่าเราต้องปรับปรุงเว็บไปโมบายล์ ตอนนี้เราต้องพัฒนาไปช่องทางใหม่ๆ ก็ยังต้องหาอยู่ ยังไม่นิ่ง แต่ก็นิ่งระดับหนึ่งเราก็ยังปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ
POSITIONING วางเป้าหมายนิวมีเดียกับสื่อเดิมไว้อย่างไรบ้าง
วัชร พัฒนาและต่อยอดธุรกิจออกไป ตอนแรกเราต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีโนว์ฮาว100% เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่เราก้าวมาทำ แต่ก็มีรากฐาน เราเป็นสื่อ เป็นรากฐานเดียวกับหนังสือพิมพ์ แต่นี่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี
POSITIONING พัฒนาการของธุรกิจ จำนวนพนักงาน ระบบ และรายได้ในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา
วัชร ในแง่รายได้ถือว่าไปได้ดี อัตราเติบโตเร็ว ยอดรายได้โฆษณาโตขึ้นประมาณ 15% และอีกประมาณครึ่งหนึ่งมาจากข่าว SMS ซึ่งต้องค่อย ๆ ทำไป โตเร็วมากก็น่ากลัว จำนวนพนักงานตอนนี้มี 53 คน จากช่วงแรกประมาณ 12 คน และระบบทำเองหมด จากช่วงแรกที่ให้คนนอกทำให้คือกระปุก ซึ่งไม่สะดวกเมื่อเราต้องปรับเปลี่ยนอะไร
POSITIONING ว่ากันว่าเว็บมาเร็ว คนเสพข่าวบนเว็บมากขึ้น แต่รายได้โฆษณายังสวนทางคือไม่มาก
วัชร ผมว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักนิดที่เอเยนซี่ในเมืองไทยจะหันมาให้ความสนใจ หรือเห็นว่าเว็บไซต์เป็นช่องทางที่คุ้มมากกว่าที่จะไปลง Traditional mediaทั้งหลาย
POSITIONING คิดว่าออนไลน์จะฆ่าหนังสือพิมพ์ได้ไหม
วัชร ผมคิดว่าก็คงมีผลบ้าง แต่สำหรับเมืองไทยคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ยังอยู่ได้ เพราะยังมีความแตกต่างหลายอย่างในตัวออนไลน์กับหนังสือพิมพ์ ฉบับพิมพ์ยังไงก็มีอรรถรสอย่างหนึ่งในการอ่าน ตอนเช้านั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่เหมือนหยิบแท็บเล็ต หรืออ่านผ่านจอคอมพิวเตอร์ และInfrastructure ของอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ก็อยู่ในตัวเมืองใหญ่ ชนบทไปไม่ถึงราคาอุปกรณ์ที่ชาวบ้านจะจ่ายไหวก็ยังไม่ถึง แต่มีกลุ่มคนในสังคมกรุงเทพฯ จะไปเร็วกว่าต่างจังหวัด ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์ยังไปได้อีก ถ้าจะกระทบจริง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 ปี
POSITIONING ตั้งแต่มีไทยรัฐ ยังไม่เคยมีธุรกิจอื่น
วัชร ไม่มีครับ เป็นเหมือนปณิธานของ ผอ.กำพลให้โฟกัสทำอย่างเดียว และทำให้ดีที่สุด ไม่ไปทำหลายอย่าง
POSITIONING แล้วการทำออนไลน์
วัชร ครับ เรายังหัวเดิมแบรนด์เดิม แต่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย แน่นอน ผมว่าถ้าท่านอยู่ ท่านก็เห็นด้วยว่าต้องทำอย่างนี้ มันต้องไป
POSITIONING ณ วันนี้คอนเทนต์ในเว็บตอบโทจย์คนอ่านแค่ไหน
วัชร เว็บเราก็เอาคอนเซ็ปต์พื้นฐานมาจากตัวฉบับพิมพ์ไทยรัฐที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ธุรกิจ บันเทิง หรือกีฬาอย่างเดียว เราพยายามครอบคลุมทุก Section ทุกกลุ่มคนอ่าน ตั้งแต่เด็กจนแก่ เราไม่ได้เจาะว่าเป็น Specialist เราเป็น General Newsอยู่
POSITIONING เว็บไทยรัฐเข้าถึงแมสในระดับเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหรือยัง
วัชร เราคิดว่าเราถึงจุดนั้นแล้วในการเสนอข่าวทุกเพศทุกวัยในทุกหมวดของข่าว แต่เราต้องพัฒนาต่อไป เพราะกลุ่มเป้าหมายออนไลน์กับฉบับพิมพ์ต่างกัน เพราะคนอ่านออนไลน์เป็นคนเมือง เพิ่งเรียนจบ วัยเริ่มทำงาน เราเข้าถึงแล้ว แต่กลุ่มในชนบทเรายังเข้าไม่ถึง เพราะ Infrastructure ยากที่จะเข้าไปถึงเหมือนฉบับพิมพ์
POSITIONING คิดว่าเขาคลิกอ่านไทยรัฐออนไลน์เพราะอะไร
วัชร ด้วยชื่อไทยรัฐ เขาสามารถเช็กข่าวว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าไทยรัฐรายงานแล้วคือจริงแล้ว เป็น Credibility ของไทยรัฐมากกว่า
POSITIONING วิธีการทำงานกับคนรุ่นเดิม
วัชร เราก็ต้องเข้าใจเขาก่อนว่าพวกเขาคิดอะไร ยังไง เราก็ต้องให้เขายอมรับในตัวเราให้ได้ว่าเราคิดครั้งนี้มีเหตุผลใดสนับสนุน ถ้าเขาไม่ยอมรับเราก็คงไปยาก ถ้าเขายอมรับก็คุยกันได้ เราก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ให้ได้ว่าเขาคิดมายังไง ผมว่าเขาก็คงเข้าใจเรา
POSITIONING การแยกออกมาทำนิวมีเดียจะเป็นผลงานที่ทำให้ขยับไปทำสิ่งพิมพ์ในอนาคตได้หรือไม่
วัชร ก็น่าจะได้
POSITIONING ทำให้ง่ายขึ้น
วัชร ครับ
POSITIONING ได้เข้าไปดูแลกอง บก.ไทยรัฐ หรือยัง
วัชร ไม่ได้ไปเลย แต่จะประสานงานกัน เพราะผมต้องขอ Support จากทางโน้นนักข่าวภาคสนาม หรือต่างจังหวัด ผมไม่ได้ไปก้าวก่าย หรือขัดแย้งกับอาๆ หรือพี่ๆ แต่ช่วงแรกเราต้องปรับจูน ว่าเราทำเว็บมา เขาอยากได้อะไร เราก็ต้องปรับจูนให้เขา
POSITIONING ตัวหนังสือพิมพ์จำเป็นต้องปลี่ยนตามคนอ่านรุ่นใหม่หรือไม่
วัชร เรายังรักษาความดั้งเดิมกับตัวไทยรัฐ อย่างหนึ่งที่คนอ่านติดไทยรัฐ เพราะเขารู้แน่นอนว่าอ่านหน้า 4 คือะไร ซูม อยู่หน้า 5 เป็นความคุ้นเคย เคยชิน เราไม่อยากปรับเปลี่ยนตรงนั้น เพราะไม่รู้จะกระทบกับคนอ่านยังไงบ้าง
POSITIONING วางแผนชีวิตการทำงานไว้อย่างไร ต้องไปดูสิ่งพิมพ์เมื่อไหร่
วัชร วันหนึ่งก็คงต้องกลับไปดูแลตรงนั้น ตอนนี้ก็ทำตรงนี้ก่อน ยังสนุกกับตรงนี้อยู่
POSITIONING ให้เวลากับตัวเองกี่ปี
วัชร ผมไม่เคยคิดให้เวลากับตัวเองขนาดนั้น ก็คือทำไปเรื่อยๆ ก่อน เดี๋ยวถึงเวลาเหมาะสม ถ้าผู้ใหญ่เห็นก็คงเรียกตัวผมเอง
POSITIONING คุณแม่ให้แนวคิดในการบริหารงานบ้างไหม
วัชร ก็ไม่มีประโยคไบเบิล ก็มาวันละนิดวันละหน่อย บางทีเจอก็ค่อยๆ สอน
POSITIONING มีคำแนะนำพิเศษ
วัชร Work hard Play hard
POSITIONING การพัฒนาต่อไปของไทยรัฐออนไลน์
วัชร ในอนาคตก็ต้องดู Device ใหม่ๆ ก็เป็นไปได้กับไทยรัฐใน Version eBook Download Daily แต่เราต้องสร้างความต่างให้ได้สำหรับออนไลน์กับeBook หรือมีลูกเล่นเพิ่ม ต้อง Interactiveมากขึ้น ไม่ใช่เอาออนไลน์เข้าไปในนั้นแค่นั้น ผมว่าInteractiveคือส่วนสำคัญ
POSITIONING มีหน่วยศึกษาเฉพาะไหม
วัชร ตอนนี้ยังไม่มี R&D Team ดูตามกระแส ตัวผมชอบ Gadget บางทีเพ้อเจ้อก็มี เป็นข้อแก้ตัวที่ดีว่าพออะไรออกมาใหม่ ก็ซื้อใหม่อยู่เรื่อย ก็บอกว่าต้องเอามาศึกษา ผมมีไอโฟน บีบี กูเกิลแอนดรอยด์ เน็กซัสวัน ไอแพด ผมเป็นแอปเปิลเลิฟเวอร์ ผมบ้าแอปเปิล เป็นสาวกสตีฟ จ็อบส์ เป็นไอดอลคนนึ่ง เป็นศาสดาของหลายคน เป็นคนบ้าแอปเปิล ก็ชอบ ไม่ว่าอะไรออกมาก็ซื้อหมด เพราะความเป็น User Friendly ทำอะไรง่าย
POSITIONING มีสไตล์บริหารงานแบบไหน
วัชร ทำให้บรรยากาศการทำงานสบายๆ อยากจะทำให้เหมือนแบบสตีฟ จ๊อบส์ สบายของผมก็พนักงานใส่กางเกงยีนส์มาทำงานได้ ไม่ซีเรียส แต่อยู่ที่คุณภาพมากกว่า เพราะทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง แต่ยังมีตอกบัตร เป็นเบสิกก็เอามาจากไทยรัฐ วัชรพลก่อน ตัวผมเองก็มาคุยเล่นกับลูกน้องตลอด หยอกล้อ สบายๆ ผมก็ไม่ทำอะไรที่ทำให้รู้สึกเข้าไม่ถึง ประตูห้องเปิดตลอด ปิดยกเว้นทำอะไรส่วนตัว แต่ก็ใสอยู่ดี เปิดตลอด มีอะไรก็มาหาได้ตลอด
POSITIONING ทำไมต้องมีห้องประชุมใหญ่มาก
วัชร วอร์รูมได้ด้วย เพราะประชุมเยอะ เอาหลายแผนกมาคุยด้วยกัน สมมุติเราอยากทำอะไรสักอย่าง ฝ่ายคอนเทนต์ กราฟิก มาร์เก็ตติ้งทำได้ไหม ไม่อยากคุยแยกทีละส่วน ก็คุยกันไปเลย มีมอร์นิ่งทอล์กทุกวันจันทร์ 10โมงครึ่ง
POSITIONING นิวยอร์กได้เปลี่ยนแปลงอะไรตัวเองบ้างไหม
วัชร นิวยอร์กการแข่งขันสูง ทุกคนต้องรีบ ไม่มีใครรอช่วยเรา แต่ก็มีเพื่อนๆ กันเอง ซี้กัน ช่วยกันได้อยู่แล้ว แต่คนนิวยอร์กไม่มีใครรอใคร ทุกคนขึ้นSubway รีบไปทำงาน จะผู้หญิงผู้ชาย ทุกคนก็ต้องไป อาจมีคนชราที่คนหลีกให้ แต่ทุกคนต้องแข่งขันและเร็ว เวลามีค่าตลอด อ่านหนังสือพิมพ์ยังต้องพับเกาะรถไฟ ลงบันไดเลื่อนก็อ่าน ใช้เวลาให้คุ้มที่สุด แต่อยู่เมืองไทยสบายๆ เสียเวลารถติด ชอบอยู่ที่โน่นเพราะบางทีเหมือนสบายดี อิสระแต่บางทีก็รู้สึกเหมือนLost คือเมืองใหญ่ คนเยอะ เราก็ต้องสู้ ใช้ชีวิตของเราไป ไม่มีใครมาช่วยกัน
POSITIONING ตอนเรียน ที่บ้านให้ใช้เงินจำกัดไหม
วัชร ก็มีจำกัด คุณแม่ให้มาจำนวนหนึ่ง ให้เป็นปี ให้ไปบริหารจัดการเอง เราก็ต้องคำนวณชักหน้าให้ถึงหลัง ปีต่อปี ไม่ใช่ได้เงินมาก้อนหนึ่ง ตอนมาเยอะแน่ ถ้าเราไปซื้ออะไรเยอะ ปลายปีเราตายแน่
POSITIONING เพื่อนคนไทย
วัชร เราอยู่กัน 6-7 คน ไทเทเนียมทั้งวงอยู่ด้วยกัน
POSITIONING ได้ทำงานที่นิวยอร์กหรือไม่
วัชร กลับมาเลยไม่ได้ทำ แต่เคยไปทำสตูดิโอ ทำเจเนอรัลเบ๊ ทำทุกอย่าง เก็บสายไฟ เดินไปซื้อกาแฟให้ศิลปิน กวาดถู ล้างจาน เพราะผมเคยไปเทกคอร์สซาวด์เอ็นจิเนีย พอดีมีคนหาคนมาช่วยทำงาน บังเอิญผมว่างก็เลยทำอยู่ 2-3 เดือน
POSITIONING ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ อาชีพอื่นที่อยากทำ
วัชร เปิดค่ายเพลง มั้งครับ ไม่ได้เป็นศิลปินเอง แต่ผมคงไปบริหารให้พวกเขา ดีลธุรกิจให้เขามากกว่า และไม่ใช่ฮิพฮอพอย่างเดียว เราต้องเอาธุรกิจพ่วงว่าอะไรขายได้ อะไรขายไม่ได้ แต่ต้องมีคอนเซ็ปต์คร่าวๆ ว่าอินดี้หน่อย ต้องรักษาคอนเซ็ปต์ แต่ขายได้ หรืออาจเอาดนตรีเข้าช่องทางนิวมีเดีย เอาความชอบมาผสมกัน น่าจะดี
แรงขับเคลื่อนด้วย “สตรีทอาร์ต และสตีฟ จ๊อบส์”
“วัชร วัชรพล” หรือ “จูเนียร์” เป็นบุตรชายคนโตของ “ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” บุตรสาวคนโตของ “กำพล วัชรพล” เป็นหลานตาที่ใช้นามสกุล “วัชรพล” ตามความประสงค์ของ “กำพล” ที่ต้องการให้หลานทุกคนใช้นามสกุล “วัชรพล” และชื่อเล่น “จูเนียร์” คือการสื่อถึงการเป็น “จูเนียร์” ของคุณตา เขามีน้องสาวอีก 2 คนคือ จิตสุภา และ ธนวลัย วัชรพล ทั้งสองสาวกำลังศึกษาอยู่ที่นิวยอร์ก
“วัชร” ศึกษาที่ประเทศไทยที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงชั้น ม.1 แล้วคุณแม่ส่งไปโรงเรียนประจำที่สวิส ที่ Institute Monterasa Montreux 2 ปี เรียน ม.2 – ม.3 ซึ่งเขาก็บอกว่าไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถูกส่งไปที่สวิส แต่คิดว่าคุณแม่คงอยากให้ได้ภาษาฝรั่งเศสด้วย จากนั้นก็ไปเรียนไฮสกูลที่อเมริกา ที่ Suffield Academy จากนั้นเขาเลือกเรียน Business Marketing ที่มหาวิทยาลัย Hofstra University ที่นิวยอร์ก ใช้ชีวิตที่นั่นรวมประมาณ 5 ปีครึ่ง
ชีวิตที่นิวยอร์กมีกลุ่มเพื่อนคือวงไทเทเนียม ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นเขาแต่งตัวสไตล์ฮิพฮอพที่มีสีสัน แต่เมื่อโตขึ้นแนวเสื้อสีดำ กางเกงยีนส์ และเอิร์ธโทน เป็นภาพที่หลายคนเห็นเขาบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นแนวเดียวกับ “สตีฟ จ็อบส์” ซีอีโอของแอปเปิล ที่ไม่เพียงเขาชื่นชอบความสามารถจนเป็นไอดอลเท่านั้น แต่ยังเป็นสาวกแอปเปิลเหมือนคุณแม่ ที่ติดผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลตั้งแต่คอมพิวเตอร์จนมาถึงไอแพด (และเชื่อว่าเร็วๆ นี้ ไอโฟน 4 คงอยู่ในมือ)
ไลฟ์สไตล์ของ “วัชร” ยังสะท้อนความเป็นนิวยอร์ก ที่ชอบสะสมงานศิลปะแนวป๊อปอาร์ต สตรีทอาร์ต
“ผมว่าผมโตที่อเมริกา อยู่ที่นิวยอร์กก็ซึมซับสิ่งเหล่านี้”
นี่คือเบื้องหลังของกำแพงชั้นวางของที่อยู่กลางออฟฟิศ และในห้องทำงานของเขา ที่เต็มไปด้วยหนังสือแนวอาร์ต และที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ตุ๊กตาที่ลูกตาเป็นกากบาท เหมือนตุ๊กตาของเล่น แต่เล่นอะไรไม่ได้มาก แต่มีดีไซน์ ของศิลปินที่ชื่อว่า Kaws ที่ “วัชร” ชื่นชอบเพราะเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตที่นิวยอร์กที่ว่ากันว่าเสมือนเป็น “แอนดี วอร์ฮอล” ศิลปินแนวป๊อปอาร์ตที่โด่งดังคนต่อไป
มีมากแค่ไหนนั้น คำตอบคือ “ไม่เคยนับ” แต่ละตัวราคาสูงหลักหมื่น อย่างตัวใหญ่ที่วางไว้ทางเข้าออฟฟิศ แหล่งที่ซื้อก็มีทั้งจากต่างประเทศ และอีเบย์ นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตารูปทรงกระต่าย Dunny ที่เป็น Platform Toy ให้ศิลปินไปวาดใหม่ได้ อีกชิ้นที่สะดุดตาคือพระพิฆเนศบนวิทยุ ที่มี 200 ตัวในโลก และเขาได้มาจากอีเบย์
สิ่งที่ได้จากการสะสมนั้น “วัชร” บอกว่า “เพลินดีครับ ไม่เหมือนอยูในออฟฟิศ ที่บ้านก็มี รกมาก”
นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงและภาพวาดรูปของ “บ๊อบ มาร์เลย” มีหนังสือกราฟิกที่หาซื้อมาเพื่อแชร์ให้ทีมงานได้ร่วมศึกษาเพิ่มเติม หรือแม้แต่ความชอบส่วนตัวอย่าง “ราเมน” ก็มีหนังสือเผื่อใครอยากเปิดดู
“วัชร” กับสังคมไฮโซ หรือการออกงานสังคมนั้น ดูจะไม่ไปด้วยกัน เพราะเขาบอกว่า ชอบอยู่เงียบๆ มากกว่า ด้วยคำยืนยันว่า “ผมไม่ชอบ ผมขอบอยู่เงียบๆ เราทำธุรกิจข่าว ไม่อยากเป็นข่าวเอง เห็นอยู่เยอะแล้ว ไม่อยากไป แต่ถ้าเป็นงานของพรรคพวก ผมไปให้โดยความเต็มใจ แต่ถ้าเป็นงานสังคม ผมไม่ค่อยชอบไป พยายามจะเลี่ยงด้วยซ้ำ”
ที่โยงไปเรื่องเป็นแฟนกับดารานั้น “วัชร” บอกว่า “อันนั้นก็ไม่มาก ผมชอบอยู่เงียบๆ ไม่รู้ดิ ไม่ค่อยชอบเปิดเผยตัว”
เพราะความเป็นไทยรัฐที่มุมหนึ่งอาจส่งเสริมให้ดัง แต่อีกมุมหนึ่งคือความกดดัน ซึ่งเขาบอกว่า “ก็มีส่วนด้วย ถ้าเราไปข้างนอกเราก็ต้องระมัดระวังตัวเองหน่อย ดูว่าอะไรเหมาะ อะไรควรหรือเปล่า เพราะแน่นอนต้องมีคนจับตา และคอยจับผิดผม โดนสแต็มป์กลางหน้าไว้แล้ว”
แบรนด์ที่ชอบ – แอปเปิล
ไอดอล – สตีฟ จ็อบส์
เว็บไซต์ที่ดูประจำ – นอกจากไทยรัฐ มีเว็บข่าวต่างประเทศ ซีเอ็นเอ็น บีบีซี นิวยอร์กไทม์ การ์เดียน
กีฬาที่ชอบ – ดูฟุตบอล แต่ไม่ได้เล่น และเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลอายุ 12 ปี
ประเทศที่ไปบ่อย – ญี่ปุ่น
งานนิทรรศการ – งานสิ่งพิมพ์ Drupa ที่เยอรมนี
คำแนะนำ – Work hard Play hard (จากคุณแม่)
พักผ่อน – ฟังเพลง แนวฮิพฮอพ และออกนอกกรุงเทพฯ ไปบ้านที่สมุย และที่เมืองกาญจนบุรี