5% ของพนักงาน Coinbase ตบเท้ารับแพ็กเกจ “ลาออก” หลังบริษัทประกาศ “ไม่ยุ่งการเมือง”

หลังจาก Coinbase บริษัทบิตคอยน์ชื่อดังแห่งซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบาย จะไม่มีการแสดงจุดยืนในเชิงสังคมการเมือง และมุ่งมั่นเฉพาะเป้าหมายของบริษัทเองเท่านั้น พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานรับแพ็กเกจสมัครใจ “ลาออก” ได้ หากรู้สึก “ไม่สบายใจ” กับทิศทางของบริษัท ล่าสุดมีพนักงานลาออกแล้ว 60 คน หรือคิดเป็น 5% ของทั้งบริษัท

ไบรอัน อาร์มสตรอง ซีอีโอบริษัท Coinbase แถลงผ่านบล็อกโพสต์ของบริษัทว่า ขณะนี้มีพนักงาน 60 คนหรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของทั้งหมด ตัดสินใจรับแพ็กเกจสมัครใจลาออก เนื่องจากมีมุมมองไม่ตรงกันกับทิศทางของบริษัทที่ต้องการไม่แสดงจุดยืนในประเด็นสังคมการเมืองใดๆ

อาร์มสตรองประกาศผ่านบล็อกโพสต์ของเขาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2020 ว่า บริษัทต้องการสร้างวัฒนธรรม “ไม่แสดงจุดยืนทางการเมือง” และขอให้พนักงานมุ่งมั่นกับเป้าหมายของบริษัทเท่านั้น นั่นคือ “การสร้างระบบการเงินแบบเปิด” พร้อมระบุสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในบริษัทเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมการเมือง

ในวันต่อมา Coinbase ร่อนอีเมลถึงพนักงานทุกคนว่า บริษัทมีโครงการสมัครใจลาออก หากพนักงานรู้สึกไม่สบายใจกับวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าว โดยพนักงานที่ทำงานไม่ถึง 3 ปีจะได้รับเงินชดเชย 4 เท่าของเงินเดือน ส่วนพนักงานที่ทำงาน 3 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือน

อาร์มสตรองยังระบุในบล็อกโพสต์ครั้งล่าสุดว่า คาดว่ามีพนักงานราว 8% ของบริษัทที่สนใจเข้าโครงการ แต่เชื่อว่าจะมีผู้ตัดสินใจลาออกจริงไม่ถึงสัดส่วนดังกล่าว รวมถึงระบุว่า กลุ่มพนักงานที่ถือเป็นกลุ่มชายขอบ เช่น คนผิวสี ผู้หญิง ไม่ได้ลาออกเป็นสัดส่วนมากกว่าค่าเฉลี่ยแต่อย่างใด

 

ย้อนรอยจุดเริ่มต้น ‘ดราม่า’ ใน Coinbase

เรื่องราวก่อนจะมาถึงการตัดสินใจของอาร์มสตรอง ต้องย้อนไปถึงการประท้วง Black Lives Matter จากกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอจนเสียชีวิตกลางถนนเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2020 จากนั้นในเดือนมิถุนายน เหตุประท้วงเกิดขึ้นรอบสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกลุ่มคนผิวสี

บริษัทอเมริกันหลายแห่งตัดสินใจแสดงจุดยืนสนับสนุน Black Lives Matter ทำให้พนักงานของ Coinbase
พยายามเรียกร้องให้บริษัทของตนแสดงจุดยืนด้วยเช่นกัน กลางการประชุมออนไลน์รอบแรกเต็มไปด้วยน้ำตาของพนักงานผิวสีที่เรียกร้องให้บริษัทสนับสนุนพวกเขา ขณะที่อาร์มสตรองกล่าวว่า โดยส่วนตัวเขาเข้าใจความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่รับปากว่าบริษัทจะปฏิบัติอย่างไร

ผู้คนร่วมไว้อาลัยการจากไปของจอร์จ ฟลอยด์ (Photo : mgronline.com)

วันต่อมา ในการประชุมรวมทั้งบริษัท อาร์มสตรองระบุว่า ภารกิจของ Coinbase คือการสร้าง “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” และบริษัทมีวัฒนธรรมแบบ “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เขาตอบคำถามอย่างคลุมเครือเมื่อพนักงานถามว่า การแบ่งแยกสีผิวถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นหรือไม่ และยังคงไม่รับปากการแสดงจุดยืนเรื่อง Black Lives Matter

ความคลุมเครือของบริษัททำให้พนักงานหลายสิบคนเริ่มประท้วงด้วยการพิมพ์คำว่า Black Lives Matter ในช่องทาง Slack ที่มีไว้ติดต่อประชุมงาน และพนักงานบางแผนก ได้แก่ ทีมดูแลประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า ทีมทรัพยากรบุคคลบางส่วน และทีมวิศวกร ต่างนัด “พับหน้าจอ” คอมพิวเตอร์พร้อมกันระหว่างประชุม เปรียบเหมือนการ “วอล์กเอาต์” จากการประชุมแต่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

ตารางงานที่สะดุดลงทำให้อาร์มสตรองรีบทวีตสนับสนุน Black Lives Matter ในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แต่ทวีตบนบัญชีส่วนตัว มิใช่ของบริษัท ตามด้วยการส่งอีเมลขออภัยกับพนักงาน พร้อมให้คำมั่นว่าบริษัทจะพัฒนาความหลากหลายของบุคลากร โดยตั้งเป้าให้วิศวกรบริษัทสัดส่วน 20% ต้องมาจากกลุ่มคนชายขอบ (ตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 3%) ยังผลให้พนักงานคลายความกังวลและมีความหวังมากขึ้น

 

พลิกกลับอีกรอบ บริษัทเปิดโครงการสมัครใจลาออก

ทว่า หลังจากนั้นบริษัทก็เริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรอย่างจริงจัง เริ่มจากปิดช่องทางสื่อสารกลางบนออนไลน์ที่ให้พนักงานทุกคนสามารถส่งคำถามถึงผู้บริหารได้โดยตรง ต่อด้วยเดือนสิงหาคม บริษัทมีแนวนโยบายใหม่สำหรับให้พนักงานปฏิบัติเมื่อจะพูดคุยเรื่องการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังใกล้เข้ามา

ตามด้วยบล็อกโพสต์ขนาดยาวเหยียดของอาร์มสตรองเมื่อปลายเดือนกันยายนดังกล่าว โดยเขากล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัทว่า “Coinbase กำลังเผชิญความท้าทายของเราเองที่นี่ หมายรวมถึงการวอล์กเอาต์ของพนักงานด้วย”

ไบรอัน อาร์มสตรอง ซีอีโอ Coinbase

โพสต์ของเขาเน้นย้ำอีกครั้งว่าภารกิจของบริษัทคือ “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” และบอกขอบเขตที่ชัดเจนว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ว่าคือ การสร้างโครงสร้างคริปโตเคอเรนซี่ซึ่งจะทำให้คนบนโลกเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงบริษัทจะช่วยแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทุกประการบนโลก รวมถึงย้ำว่าบริษัทมีวัฒนธรรมไม่แสดงจุดยืนทางการเมือง

อาร์มสตรองยังสรุปแนวปฏิบัติให้พนักงานด้วยว่า สิ่งที่พนักงานไม่ควรทำ คือ อภิปรายเรื่องสังคมการเมืองหรือนักการเมืองภายในบริษัทโดยไม่เกี่ยวข้องกับงาน, คาดหวังให้บริษัทเป็นตัวแทนความเชื่อส่วนบุคคล, ทึกทักว่าเพื่อนร่วมงานไม่บริสุทธิ์ใจและไม่คอยระวังหลังให้กัน และร่วมกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจหลักในงาน

ส่วนสิ่งที่พนักงานควรทำคือ ถกเถียงเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน, สนับสนุนกันและกันเพื่อสร้างความร่วมมือในทีม,  คาดการณ์ว่าเพื่อนร่วมงานมีความตั้งใจดี และวางเป้าหมายของบริษัทให้เหนือกว่าเป้าหมายของทีมหรือของตนเอง

ตามด้วยการเปิดโครงการสมัครใจลาออกดังกล่าว ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทมีการขีดเส้นแบ่งและเปิดเผยว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองใดๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวของบริษัทหลังมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพราะ Coinbase ก็เหมือนกับบริษัทเทคฯ อเมริกันส่วนใหญ่คือมีพนักงานหลักเป็นคนผิวขาวและผู้ชาย ขณะที่นักเคลื่อนไหวพยายามมาหลายปีเพื่อให้ผู้หญิงและคนผิวสีได้มีที่ทางในธุรกิจเทคโนโลยี การแบนการพูดคุยประเด็นทางสังคมในบริษัทครั้งนี้ จะทำให้ความหลากหลายในองค์กรก้าวถอยหลังหรือไม่

Source: Wired, Forbes, LA Times