หากพูดถึงห้างฯ ‘MBK’ หรือ ‘มาบุญครอง’ ภาพจำของใคร ๆ คงจะคิดว่าเป็นห้างฯ ที่มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เพราะที่ผ่านมา 70% ของผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย, อินเดีย และอาหรับ ที่เหลือเป็นนักช้อปไทย แต่จากวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้น่านฟ้าไทยปิดไม่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งสำหรับ MBK นั้น นี่เปรียบเสมือนการ ‘Set Zero’ ของธุรกิจเลยทีเดียว
วิกฤตใหญ่สุดในรอบ 36 ปี
สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติยอดคนเดิน MBK เฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คน/วัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 30,000-40,000 คน/วัน เพราะนักท่องเที่ยวหาย ซึ่งนี่ถือเป็นวิกฤตหนักสุดตั้งแต่เปิดศูนย์การค้ามา 36 ปี ไม่ว่าจะเกิดโรคหรือวิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ม็อบทางการเมืองก็ไม่หนักเท่านี้ เพราะไม่ใช่แค่ไทยแต่เป็นทั่วโลก
“ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา MBKไม่เคยขาดทุน แถมถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกคน แต่มาวันนี้ไม่ใช่แล้ว ซึ่งโชคดีที่ธุรกิจอื่น ๆ ในเครือยังพอทำกำไร ทำให้เรายังไม่เข้าเนื้อ ไม่งั้นป่านนี้คงเจ๊งไปแล้ว”
ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ปรับภาพดึง ‘คนไทย’
พฤติกรรมของลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่เข้ามาใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 89% ซื้อสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า, รองเท้า, กระเป๋า, เครื่องประดับ) 38% สินค้าอุปโภคบริโภคในท็อปส์ 23% ชมภาพยนตร์/เล่นเกม 21% โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ 19% โดย MBK ยอมทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาทปรับโฉมห้างฯ ใหม่เพื่อดึงดูดคนไทย โดยจะทยอยปรับไปทีละชั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2564
ชั้น G และ ชั้น 2 จะมีการปรับโซนด้านหน้าห้างฯ ให้เป็นอาหาร ในโซนแฟชั่นทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็นร้านอาหารเช่นกัน เบื้องต้นมีร้านที่ตกลงแล้ว 9 ร้าน อาทิ สุกี้ตี๋น้อย, 2 Fast Food เป็นต้น ซึ่งร้านอาหารบางร้านจะเปิดบริการตั้งเเต่ 7 โมงเช้า และบางร้านปิดดึกถึงตี 2 เลยทีเดียว
ชั้น 3 รวมสินค้าขายชาวต่างชาติ และเล็งพัฒนาเป็นศูนย์รวมสินค้าไทยคุณภาพดี เช่น ผลไม้ที่ขายตรงโดยเกษตรกร
ชั้น 4 โซนโทรศัพท์และและธนาคารเหมือนเดิม แต่จะมีร้านเพิ่มเติม อาทิ เสียวหมี่ คอมเซเว่น และบานาน่าไอที
ชั้น 5 ปรับจาก Outlet เป็นโซนการศึกษาสำหรับสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ครบ 19 สถาบัน, มีศูนย์บริการทำพาสปอร์ต และปรับเป็นโซนบริการความงาม
ชั้น 6 เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ และออฟฟิศ
ชั้น 7 จะเป็นโซนเอนเตอร์เทนเมนต์เหมือนเดิม โดยมีโรงภาพยนตร์ SF, เกม, เธียเตอร์ของ BNK48
“เราคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหารจากเดิมมี 20% จะเพิ่มเป็น 22%, แบงก์เซอร์วิสจาก 9% เป็น 19%, เอนเตอร์เทนเมนต์ 17% เท่าเดิม, สินค้าแฟชั่นจาก 20% ลดเหลือ 15%, โมบาย 10% เท่าเดิม, ความงามจาก 9% เหลือ 7% และอื่น ๆ 10%”
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิด COVID-19 มีลูกห้องหายไป 10% จากทั้งหมด 1,700 ร้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายสินค้าให้ชาวต่างชาติ เช่น ชุดอาหรับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทาง MBK เข้าใจถึงปัญหา โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ก็ลดค่าเช่า 70% ตั้งแต่คลายล็อกดาวน์ และจากนี้ยังต้องดูสถานการณ์เดือนต่อเดือนว่าจะลดยาวถึงเมื่อไหร่ โดยอาจจะยืดไปถึงปีหน้า
“ในส่วนของร้านอาหารนั้นไปได้ หลัง COVID-19 มาร้านเต็มตลอด แต่กับสินค้าแฟชั่นทำได้แค่เลี้ยงตัวเอง”
เพิ่มกิจกรรมดึง ‘วัยรุ่น’
เมื่อต้นปี MBK ได้วางกลยุทธ์ ‘ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง’ (Idol Marketing) เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพิ่มทราฟฟิก และทำให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในศูนย์ฯ นานขึ้น จนปัจจุบันสัดส่วนวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้งาน MBK อยู่ที่ 50 : 50 โดยกลุ่มลูกค้าอายุ 18 – 24 ปีเข้ามาใช้บริการร้านอาหารเป็นจุดนัดพบปะสังสรรค์ และร่วมกิจกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ จับจ่ายสินค้าแฟชั่นและโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
โดยจากนี้ MBK ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เดิม แต่จะจัดให้ ‘ถี่’ ยิ่งขึ้น อาทิ โปรเจกต์ไอดอล เอ็กซ์เชนจ์ (Idol Exchange) ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน และมีกิจกรรมพิเศษอย่าง ‘บ้านผีสิงไอดอล’ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดเต้น MBK Center Cover dance เป็นต้น
น่านฟ้าเปิดตั้งเป้าโกยนักช้อป 1.2 แสนคน/วัน
MBK ตั้งเป้าเพิ่มทราฟฟิกจากคนไทยให้ได้วันละ 1,500 คน/วัน และหลังจากรีโนเวตพื้นที่สมบูรณ์ในปี 2565 คาดว่าจะมีนักช้อปไทยและต่างชาติมาใช้บริการวันละ 120,000 คน/วัน และคาดหวังว่าสัดส่วนลูกค้าคนไทยและต่างชาติจะเป็น 50 : 50
“เรามั่นใจว่าเมื่อน่านฟ้าเปิด นักท่องเที่ยวจะกลับมา MBK อีกครั้ง เพราะเราเป็นเหมือนแลนด์มาร์กที่ต้องมาให้ได้สักครั้ง ซึ่งมีผลสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวทุกคนอย่างน้อยต้องมา MBK 1 ครั้ง”
แม้ภารกิจการปรับภาพของ MBK ให้มาดึงดูดคนไทยจะเริ่มทำตั้งแต่ปี 2562 แต่เพราะ COVID-19 ที่บีบให้ต้องเร่งมือยิ่งกว่าเดิมเพราะไม่มีลูกค้าต่างชาติมาเดินอีกต่อไป แต่การเจาะกลุ่มคนไทยและนักเรียน นักศึกษาไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะอย่าลืมว่ามีก้างชิ้นใหญ่อย่าง ‘สามย่านมิตรทาวน์’ น้องใหม่ในถิ่นเดียวกันที่มัดใจวัยทีนไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นคงต้องจับตาดูกันอีกที ว่ายอมทุ่มงบขนาดนี้จะลบภาพห้างฯ ชาวต่างชาติได้หรือไม่