ชาวประมงท้องถิ่น-นานาชาติกดดัน “ญี่ปุ่น” ไม่ควรปล่อย “น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี” ลงทะเล

ท่าเรือโอนะฮามะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ (Photo : Shutterstock)
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจจะปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 1.2 ล้านตันลงสู่มหาสมุทร โดยน้ำเหล่านี้เป็นน้ำหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ซึ่งรั่วไหลจากเหตุสึนามิถล่มเมื่อ 9 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม นานาชาติต่างกดดันให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแนวทาง รวมถึงชาวประมงท้องถิ่นในฟุกุชิมะก็เรียกร้องเช่นกันว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยน้ำปนเปื้อนทำลายแหล่งประมง

โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกันมันตรังสีถึง 1.2 ล้านตันลงสู่มหาสมุทร

แม้ว่าน้ำหล่อเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชินี้จะได้รับการบำบัดแล้ว แต่ก็ยังคงมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องบำบัดน้ำเสียเหล่านี้วันละ 170 ตัน จากนั้นจึงเก็บไว้ในแท็งก์น้ำออกแบบพิเศษไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล ซึ่งผลิตขึ้นมารองรับทั้งหมด 1,000 ใบ

นอกจากนานาชาติแล้ว ทั้งชาวประมงท้องถิ่นและนักสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นต่างร้องขอให้รัฐบาลเปลี่ยนการตัดสินใจเนื่องจากทั้งชาวประมงและนักสิ่งแวดล้อมได้ใช้ความพยายามมาเกือบทศวรรษ เพื่อสร้างชื่อเสียงกลับคืนมาให้ฟุกุชิมะ อันเป็นพื้นที่ที่ยังมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ตรวจจับได้

ตามสถิติจากอุตสาหกรรมการประมงจังหวัดฟุกุชิมะ ตั้งแต่เกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหลเมื่อปี 2011 อุตสาหกรรมประมงของจังหวัดที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 11,000 ล้านเยนต่อปี มีมูลค่าลดลงฮวบฮาบเพราะลูกค้าปฏิเสธสั่งสินค้า และแม้ว่าสินค้าประมงจากฟุกุชิมะจะไม่พบสารปนเปื้อนมานานตั้งแต่ปี 2015 แต่ในปี 2019 ก็ยังมีมูลค่าอยู่เพียง 1,000 ล้านเยนเท่านั้น ด้วยชื่อเสียงที่ยังไม่กลับมาเหมือนเก่า

การตัดสินใจจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเลของรัฐบาลญี่ปุ่น สร้างความกังวลให้ชาวประมงและนานาชาติว่าสารอาจจะปนเปื้อนสู่สัตว์น้ำ และส่งมาถึงอาหารของมนุษย์ (Photo : Pixabay)

ปัญหาสารปนเปื้อนที่ฟุกุชิมะ ส่งผลให้บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ออกระเบียบแบนการนำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ฟุกุชิมะมาโดยตลอด และเป็นประเทศเกาหลีใต้นี้เองที่เร่งขอเปิดโต๊ะเจรจากับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นตั้งใจจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของ สหประชาชาติ (UN) หลายราย กล่าวขอร้องญี่ปุ่นไม่ให้ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่แหล่งน้ำ เนื่องจากเกรงว่าสารดังกล่าวจะลอยไปไกลจนถึงชายฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเข้าไปอยู่ในสัตว์น้ำและห่วงโซ่อาหารทั้งหมดซึ่งสุดท้ายจะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

 

น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมาจากไหน?

สาเหตุที่มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เกิดจากการใช้น้ำหล่อแกนกลางเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิให้เย็นลง เมื่อน้ำเหล่านี้นำไปหล่อเตาปฏิกรณ์ จึงเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไปด้วย และจำต้องไปเก็บในแท็งก์พิเศษดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังจะไม่เหลือที่พอสำหรับเก็บน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ นอกจากนี้ บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์และเก็บรักษาน้ำปนเปื้อนไปแล้วถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ตามข้อมูลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ระบุว่าแท็งก์พิเศษกำลังจะเต็มหมดภายในปี 2022 และตลอดปีที่แล้วญี่ปุ่นมีความพยายามผลักดันการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทรมาโดยตลอด โดย รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อมมองว่า การแก้ปัญหาเดียวที่ญี่ปุ่นทำได้ในเรื่องนี้คือ “ปล่อยน้ำลงไปในมหาสมุทรเพื่อเจือจางรังสี”

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถูกโจมตีด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อมทางทะเลเสมอ นอกจากความพยายามปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ญี่ปุ่นยังเคยถอนตัวออกจากคณะกรรมาธิการล่าวาฬสากล เพื่อที่จะทำการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ไปจนถึงกองเรือของญี่ปุ่นที่ทำน้ำมันปนเปื้อนในทะเลบริเวณหมู่เกาะมอริเชียส ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามีน้ำมันปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำมากแค่ไหน

Source

Source