ดาวรุ่งเบียดตลาด! TikTok ชวน SME ลงโฆษณา ชูจุดเด่น “วิดีโอถ่ายง่ายไม่ต้องลงทุนสูง”

นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก TikTok แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาแรงที่เปิดตัวในไทยเมื่อปี 2561 และมาบูมหนักมากช่วงล็อกดาวน์อยู่กับบ้านท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 จากฐานผู้ใช้ที่มากและหลากหลายขึ้น ทำให้บริษัทได้ฤกษ์เปิดตัว TikTok for Business เมื่อเดือนมิถุนายน’63 ดึงธุรกิจ SME ลงโฆษณา ด้วยจุดเด่นคือวิดีโอโฆษณาที่ถ่ายทำง่ายไม่ต้องลงทุนสูง เพราะแพลตฟอร์มมีเครื่องมือเตรียมไว้ให้หมดแล้ว

ก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 แพลตฟอร์ม TikTok ถูกมองว่าเป็นโซเชียลมีเดียของวัยเรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย แต่การล็อกดาวน์อยู่กับบ้านทำให้เกิดจุดเปลี่ยน นอกจากจะบูมจนมีผู้ใช้งานสูงขึ้นมาก ผู้ใช้หน้าใหม่ที่เข้ามาสู่ TikTok ยังหลากหลายมากขึ้นในแง่กลุ่มวัย รวมถึงคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน

สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing – Thailand ของ TikTok เปิดเผยโปรไฟล์ผู้ใช้ล่าสุด 60% เป็นคนวัย 16-34 ปี รองลงมา 30% เป็นวัย 13-15 ปี และปิดท้าย 10% เป็นคนวัย 35 ปีขึ้นไป ทำให้ภาพรวมทั้งหมดของ TikTok ไทย มีผู้ใช้ 80% เป็นวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงานตอนต้น

โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายซึ่งเป็นวัยทำงานเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีนี้ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีความสนใจที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเรื่องการเงินการลงทุนซึ่งผู้ใช้ TikTok 50% ให้ความสนใจ สะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มมีความพร้อมแล้วที่จะเป็นพื้นที่เข้าถึงลูกค้าของแบรนด์ทุกประเภท

 

เปิดพื้นที่ให้ SME ยิง ad ได้ด้วยตนเอง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ TikTok มีพื้นที่ให้แบรนด์ลงโฆษณาทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

1) Brand Takeover โฆษณาในตำแหน่งแรกก่อนเข้า Feed เห็นโฆษณาตั้งแต่เริ่มเปิดแอปฯ
2) Top View โฆษณาในตำแหน่งแรกบนฟีเจอร์ For You
3) In-Feed Ads โฆษณาที่จะขึ้นระหว่างคอนเทนต์ปกติ โดยอัตราส่วนทุกคอนเทนต์ปกติ 4 ครั้งที่ปัดดู จะแทรกด้วยโฆษณา 1 ชิ้น
4) Hashtag Challenge รูปแบบการจัดแคมเปญ Challenge สร้างกระแสให้ร่วมกิจกรรมบน TikTok ผ่านผู้นำเทรนด์คือเหล่าครีเอเตอร์ชื่อดัง
5) Branded Effect แบรนด์สร้างสรรค์ Effect วิดีโอให้ผู้ใช้ได้ใช้บน TikTok สร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์

สิรินิธิ์กล่าวว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดตัวฟีเจอร์ TikTok for Business ขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ SME มาลงโฆษณากับ TikTok ได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องซื้อสื่อผ่านเอเจนซี่หรือติดต่อกับ TikTok โดยตรง แต่เข้าไปใช้ระบบ Self-Serve ของ TikTok เพื่อลงโฆษณาเองได้เลย และ customize เองได้ว่าต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายใด ภายใต้งบประมาณที่ต้องการ

ทั้งนี้ โฆษณาจาก SME ผ่านระบบ Self-Serve จะซื้อพื้นที่ได้เฉพาะข้อ 3) คือ In-Feed Ads เท่านั้น ส่วนโฆษณาในจุดอื่นหรือรูปแบบอื่นที่เหลือยังต้องติดต่อโดยตรงกับ TikTok อยู่

หลังจากเปิดตัว 3 เดือน ปัจจุบันพบว่ามีลูกค้า SME ลงโฆษณากับแพลตฟอร์มแล้วหลักหมื่นราย และจะขยายต่อไปให้มากที่สุด เนื่องจาก SME คือฐานธุรกิจสำคัญของประเทศ โดยพบว่ามี SME ในไทยกว่า 3 ล้านราย

 

จุดแข็ง “วิดีโอที่ถ่ายทำเองได้ง่าย”

การลงโฆษณาด้วยตนเองอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ TikTok คือการเป็นแพลตฟอร์ม “วิดีโอสั้น” ที่มีเครื่องมือตัดต่อ เพลงประกอบ และ Effect สารพัดรูปแบบพร้อมให้ผู้ใช้ใช้งานอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนสามารถสร้างวิดีโอคอนเทนต์เองได้ง่ายๆ แค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ไม่ต้องอาศัยโปรดักชันขนาดใหญ่ ไม่ต้องใช้โปรแกรมช่วยตัดต่อ

สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing – Thailand ของ TikTok

สิ่งนี้ส่งต่อมาถึงการทำโฆษณาวิดีโอสั้นลงใน TikTok เช่นกัน SME ที่จะลงโฆษณาสามารถใช้เครื่องมือของ TikTok สร้างสรรค์ได้เต็มที่ โดยมีคำแนะนำจากแพลตฟอร์มคือขอให้ผู้ลงโฆษณา Don’t Make Ads. Make TikToks คือให้ทำโฆษณาที่แนบเนียนเหมือนมาทำคอนเทนต์ปกติบนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ที่กำลังเพลิดเพลินกับคอนเทนต์ รับข้อมูลของสินค้าและบริการไปได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าคนทำธุรกิจที่หันมาจับตลาดออนไลน์จะมีการใช้งานโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง แต่เมื่อ TikTok มีจุดแข็งเรื่องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทำคอนเทนต์เองได้ง่าย จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องจับตา เพราะอาจมาขอแบ่งเค้กงบลงโฆษณาจากโซเชียลมีเดียอื่นที่ SME เคยลงโฆษณาด้วยก็เป็นได้