บอกลาห้องชุดจิ๋ว 21 ตร.ม. เทรนด์ “คอนโดฯ” ยุคใหม่กลับมาใหญ่ขึ้น – มีห้องทำงาน

สถานการณ์ COVID-19 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่อาศัยของคน ต้องการพื้นที่ในห้องมากขึ้นโดยเฉพาะ “ครัว” และ “ห้องทำงาน” ทำให้ห้องชุดต้องมีพื้นที่เริ่มต้น 27-28 ตร.ม. จึงจะเพียงพอ พร้อมปรับพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นส่วนตัวขึ้น มีจุดรับเดลิเวอรี่-พัสดุเพื่อป้องกันด้านสุขอนามัย

“ไพทยา บัญชากิติคุณ” ผู้ก่อตั้ง ATOM Design บริษัทสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย เปิดเผยถึงเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังประเทศไทยผ่านสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 พบว่าความต้องการของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไป ต้องการห้องชุดคอนโดมิเนียมที่ใหญ่ขึ้น มีฟังก์ชันครบ

โดยเฉพาะจุดที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ “ครัว” และ “ห้องทำงาน” เพราะช่วงล็อกดาวน์อยู่กับบ้านทำให้ผู้อยู่อาศัยหันมาทำอาหารทานเอง และเมื่อมีการ Work from Home การใช้โต๊ะกินข้าวหรือโต๊ะกาแฟหน้าโซฟาทำงานจึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ควรจะมีมุมทำงานหรือห้องทำงานเป็นสัดส่วน

ห้องครัวในคอนโดฯ เทรนด์ใหม่จะกลับมาสู่ชุดครัวที่ทำอาหารได้จริง (ภาพจากโครงการศุภาลัย พรีเมียร์ สี่พระยา-สามย่าน)

ย้อนกลับไปในอดีต ห้องชุดในคอนโดฯ มีแนวโน้มจะเล็กลงเรื่อยๆ ตามราคาที่ดินกรุงเทพฯ ที่พุ่งสูงขึ้น โดยกฎหมาย กำหนดไว้ว่าห้องชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 21 ตร.ม. โดยสถาปนิกพบว่าห้องชุดขนาดที่นิยมจะมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 24 ตร.ม. และเทรนด์การออกแบบห้องเล็กขนาดนี้จะพยายามตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น ครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ

แต่เมื่อเกิดจุดเปลี่ยน COVID-19 ในปีนี้ดังที่กล่าวข้างต้น การออกแบบปัจจุบันทำให้ห้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 27-28 ตร.ม. เพื่อให้ครัวกลับมาใช้ทำอาหารได้ ไม่ใช่เป็นครัวอุ่นอาหารเท่านั้น และห้องแบบ 1 ห้องนอนพลัส คือมีห้องย่อยไว้เป็นห้องทำงาน เริ่มเป็นที่นิยมสูงขึ้น

 

ห้องใหญ่ขึ้นแต่ราคาต้องเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อห้องปรับใหญ่ขึ้นจาก 24 ตร.ม. เป็น 28 ตร.ม. โดยปกติราคาต้องเพิ่มขึ้นตามประมาณ 20% หากคิดราคาต่อตร.ม.เท่าเดิม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้ซื้อไม่สามารถจ่ายแพงขึ้นอีก 20% ได้ กลายเป็นโจทย์ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะกดราคาลงมาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับตลาด ทำให้ผู้ซื้อจ่ายเท่าเดิมแต่ได้ห้องใหญ่ขึ้นให้ได้

ไพทยาให้ความเห็นว่า ต้นทุนที่ผู้ประกอบการสามารถต่อรองได้ในสภาวะนี้คือ “ที่ดิน” ซึ่งบางแปลงปัจจุบันสามารถต่อราคาลงได้ 20-30% เพราะเจ้าของที่ดินอาจมีความจำเป็นต้องเร่งขายเพื่อนำเงินสดไปหมุนธุรกิจ

ยุคเศรษฐกิจฝืด ที่ดินบางแปลงยอมลดราคา 20-30% ขึ้นอยู่กับการเจรจา และความจำเป็นขายของเจ้าของที่ดิน

อีกส่วนหนึ่งคือ “ค่ารับเหมาก่อสร้าง” เนื่องจากสภาวะนี้ทำให้ผู้รับเหมาแข่งขันกันลดราคาสูงมาก จนล่าสุดมีโครงการที่มีผู้รับเหมาประมูลงานได้ในราคาที่ถูกที่สุดในรอบ 5 ปี

สำหรับผู้ประกอบการที่ดัมพ์ราคาเปิดขายให้ต่ำกว่าตลาด 20% ขึ้นไปเริ่มมีให้เห็นแล้วในปีนี้ และราคาที่ถูกลงส่งผลให้ยอดขายดี ยกตัวอย่างโครงการที่ขายดีจน Sold Out ปิดการขายทั้งโครงการได้ท่ามกลางเศรษฐกิจฝืด เช่น ศุภาลัย พรีเมียร์ สี่พระยา-สามย่าน, ดิ ออริจิ้น อ่อนนุช, โมดิซ ลอนช์ ทียู รังสิต เป็นต้น

 

พื้นที่ส่วนกลางไม่เพิ่ม แต่ต้องเป็นส่วนตัว

ด้าน “พื้นที่ส่วนกลาง” ที่เป็นอีกข้อกังวลของคนอยู่คอนโดฯ ในช่วง COVID-19 ไพทยามองว่าโครงการไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเว้นระยะห่างจากกันได้ เพราะจะมีผลกับราคาขาย แต่ในพื้นที่ส่วนกลางขนาดเท่าเดิม ต้องมีการจัดแบ่งใหม่ให้เหมาะกับวิถีชีวิต New Normal

วิถีชีวิตใหม่ต้องการที่ทำงานในบ้าน อย่างน้อยควรมีมุมตั้งโต๊ะทำงานแยกจากโต๊ะทานอาหาร (ภาพจากโครงการ โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง)

ยกตัวอย่างเช่น คอนโดฯ บางแห่งที่จะจัดให้มี Co-working Space ในโครงการ จากเดิมอาจจะวางโต๊ะยาวนั่งรวมกัน ก็ต้องพิจารณาปรับมาเลือกเป็นโต๊ะเก้าอี้แบบ Private Booth มีที่กั้นเป็นสัดส่วนมากขึ้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายใจ

นอกจากนี้ ยังต้องจัด ส่วนรับสินค้าเดลิเวอรี่และพัสดุ ต่างหาก เพื่อป้องกันไม่ให้คนนอกเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลางมากเกินไป และเฝ้าระวังทำความสะอาดได้ง่าย จุดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับโลกยุคใหม่ เพราะจากการเก็บสถิติพบว่า โครงการที่มีจำนวนห้องชุด 300 ห้อง จะมีการรับพัสดุและเดลิเวอรี่เฉลี่ยวันละถึง 100 ชิ้น

สำหรับเทรนด์การออกแบบเหล่านี้และการออกแบบในประเด็นอื่นๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากงานสัมมนาและเอ็กซ์โป ACT Forum’20 Design + Built ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. 63 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น การออกแบบโรงแรมและคอนโดฯ ในยุค COVID-19, การปลูกป่ากลางเมืองเรื่องที่ทำได้จริง, คุณภาพชีวิตใหม่ในบ้านพักคนงาน, Circular Economy in Architecture เป็นต้น