ย้อนไป 2 ปีก่อน ‘LINE SHOPPING’ คือ ‘Market Place Aggregator’ ที่ร่วมเอา ‘Market Place’ เจ้าดังอย่าง Lazada, JD Central, Shopee รวมถึงเว็บไซต์อื่น ๆ มาไว้ในที่เดียว แต่หลังจากมี ‘LINE MyShop’ ที่เป็นฟีเจอร์ใหม่สำหรับผู้ใช้ LINE Official Account (LINE OA) ทาง LINE SHOPPING ก็ปรับใหม่โดยจะดึงเฉพาะ LINE MyShop เข้ามาอยู่เท่านั้น แถมยังดึงเอา ‘ป้าตือ’ เข้ามาสร้างสีสันอีกด้วย ทั้งหมดที่ทำก็เพื่อขึ้นเป็น ‘เบอร์ 1’ ของตลาด ‘Social Commerce’
ให้ความสำคัญ ‘LINE MyShop’ อันดับ 1
แรกเริ่มเดิมทีนั้น LINE OA เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่เน้นสร้าง Loyalty เพื่อเก็บรักษาฐานลูกค้า แต่ก็มีผู้ใช้งานส่วนหนึ่งที่นำมาเป็นช่องทางในการปิดการขาย เพราะลูกค้ามักจะแอดไลน์เข้ามาพูดคุยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะตัดสินใจซื้อ และส่งหลักฐานการโอนเงินผ่านไลน์อีกที
ในขณะที่ปีนี้อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตสูงขึ้นเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยกว่า 83% เคยซื้อของออนไลน์ และ 71% ซื้อของผ่านมือถือ ดังนั้น ไลน์จึงถือโอกาสนี้เพิ่มฟีเจอร์ ‘LINE MyShop’ เข้าไปใน OA เพื่อให้ร้านค้าสามารถขายของได้สะดวกขึ้น โดยร้านค้าสามารถจัดการสถานะออเดอร์โดยตรง, ทำลิสต์รายการสินค้า และสามารถชำระเงินผ่าน LINE Pay หรือ LINE BK ได้เลย โดยปัจจุบัน LINE MyShop มีจำนวน 50,000 ราย จาก LINE OA ทั้งหมด 3 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่โพสิชั่นของ ‘LINE SHOPPING’ ในตอนแรกคือ ‘Market Place Aggregator’ ที่รวมเว็บไซต์และมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ รวมถึงแอคเคาท์ของ LINE MyShop ด้วย ซึ่งนั่นทำให้ทรานแซคชั่นกระจัดกระจาย ดังนั้น ไลน์จึงตัดสินใจที่จะตัดเว็บไซต์และมาร์เก็ตเพลสออกแล้วดึงเฉพาะ LINE MyShop อย่างเดียวเพื่อให้ลูกค้าหาร้านค้าเจอได้ง่ายขึ้น
“คนใช้ไลน์ซื้อขายกันอยู่แล้ว แต่เราแค่ทำให้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น มีเครื่องมือ มีตัวช่วยในการโปรโมต คนซื้อ-ขายได้เหมือนเดิม แต่ถูกค้นพบได้ง่ายขึ้น” เลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย กล่าว
ดึง ‘ป้าตือ’ LIVE เรียกแขก
หลังจากที่ร้านค้าใน LINE SHOPPING เปลี่ยนตัวเองเป็นแพลตฟอร์มให้กลายเป็นร้านค้าโซเชียล (ที่เปิดร้านบน LINE MyShop เท่านั้น) ทำซึ่งถือเป็นการทำ ‘Social Commerce’ แบบเต็มตัว ซึ่งตลาดนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 62% ของ E-Commerce โดยเลอทัดมองว่า Social Commerce ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 แกนหลัก ได้แก่ 1.Entertainment ด้วย Content ที่สนุกความบันเทิง 2.Engagement นักช้อปสามารถมีส่วนร่วมกับผู้ขายได้ทุกเมื่อ และ 3.Commerce การซื้อขายบนแพลตฟอร์มโซเชียลที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว
ดังนั้น นอกจากจุดแข็งของจำนวนผู้ใช้ไลน์ 47 ล้านคน รวมถึงฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ทาง LINE SHOPPING ได้ร่วมมือกับ ‘ป้าตือ’ สมบัษร ถิระสาโรช จัดทำรายการ ‘LINE SHOPPING x TUES LIVE’ ที่เป็นการผสมผสานรายการทอล์กโชว์เข้ากับ Live Commerce เพื่อสร้างประสบการณ์ Chat & Shop ผ่านการไลฟ์ขายของกันสด ๆ สำหรับแบรนด์ไหนที่ต้องการนำสินค้าโปรโมตผ่านรายการ ซึ่งรายการจะเผยแพร่ทุกวันอังคาร เวลา 20.00 – 22.00 น. นำเสนอตอนแรกในวันที่ 10 พ.ย. 2563 โดยในช่วงที่ทดสอบลอนช์รายการไปมีผู้เข้าชมกว่า 4.4 แสนราย
“เสน่ห์ของ Social Commerce คือ เราสามารถคุยกันต่อได้ ทำให้สามารถต่อรองขอของแถม ขอส่วนลด เพราะมันเป็นการพูดคุยกัน ซึ่งทำให้โอกาสปิดการขายผ่านแชทอยู่ที่ 45% ส่วนเว็บไซต์มีโอกาสปิดที่ 3% เท่านั้น และแม้ว่าราคาจะเป็นส่วนหนึ่งในการปิดการขายแต่สิ่งที่เราจะเน้นคือ วิธีการนำเสนอ ซึ่งการไลฟ์เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้”
3 ปีขึ้นเบอร์ 1 Social Commerce
ปัจจุบัน LINE SHOPPING โดยมีผู้ใช้แอคทีฟ 3 ล้านราย/เดือน โดยปีนี้ยอดเพจวิวเติบโตขึ้น 191% จำนวนคำสั่งซื้อเติบโต 44% และมูลค่าคำสั่งซื้อ (GMV) เติบโต 95% เฉลี่ยที่ประมาณ 1,000 บาท/คำสั่งซื้อ โดยปีนี้ LINE SHOPPING เน้นสร้างประสบการณ์การใช้งาน ทำให้เอนเตอร์เทนเมนต์มากขึ้น ใช้งานง่ายขึ้นเพื่อจับตลาด Social Commerce มากขึ้น เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ผู้เล่นเบอร์ 1 ใน 3 ปี (2564-2566)
และในส่วนของร้านค้า LINE SHOPPING ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี LINE MyShop ทั้ง 50,000 รายจะต้องเข้าสู่แพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้วางเป้าว่าจำนวน LINE MyShop จะเติบโตเป็นเท่าไหร่ แต่มองว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมากเนื่องจาก LINE OA มีกว่า 3 ล้านแอคเคาท์ โดยเริ่มเห็นแนวโน้มของแบรนด์ใหญ่ที่เข้ามาเปิด LINE MyShop เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เรามองว่าการพัฒนา LINE SHOPPING ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาครั้งสำคัญ ที่เป็นการผสานรวมและนำเอาความแข็งแกร่งของทุกเซอร์วิสบน LINE Ecosystem มาสร้างความสะดวกสบาย เพื่อเป็นอันดับหนึ่งแพลตฟอร์ม Social Commerce ตัวจริงที่ให้คนโซเชียลได้แชทและช้อปปิ้งบน LINE”