ถ้าไม่สร้างสรรค์ คิดอะไรใหม่ ก็อาจกลายเป็น Dead Program จุดนี้ทำให้รายการเรียลลิตี้โชว์ Academy Fantasy (AF) ของทรูวิชั่นส์ ที่เดินทางตามฝันมาจนถึงปีที่ 7 ต้องต่อสู้กับโจทย์ยาก ความเบื่อหน่ายของผู้ชมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ซีซั่น 5 และต่อเนื่องมาถึงซีซั่น 6 เมื่อมาถึง AF7 ทรูจึงต้องขนอาวุธสร้างความต่างหามุมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือเลือกนักล่าฝันเด็กลงจากอายุ 18 ปี เหลือ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยจี๊ด กล้า บ้าบิ่น มันส์ อยากได้ความมั่นใจในตัวเอง แต่ก็เต็มไปด้วยความสับสนเพื่อสร้างสีสันในจอ จนเกิดผลพวงป่วนทะลุโชว์ของ “มาร์ค V11” ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ ข่าวหลายรายการพูดถึงจนมาถึงเกรป V2 ที่พยายาม “จิ้น” สร้างกระแส และเด็กหลายคนใน “จังหวะนรก” วงแตก จากวิกฤตกลายเป็นโอกาสพาเรตติ้ง AF ให้กระฉ่อนกลับมาในกระแสได้อีกครั้ง
เลือกเด็กดึงเรตติ้ง
ในการเปิดตัว AF7 อาจเงียบถ้าไม่มีอะไรต่างจากซีซั่นที่ผ่านมา แต่เพราะการเลือกนักล่าฝันอายุน้อยลงคือตั้งแต่อายุ 15 ปี ถึงขั้นทำข่าวแจกแจงสื่อถึงนักล่าฝันคนแรกที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกโดยกรรมการลงมติเอกฉันท์คือสาวน้อยปั๋ม V7 ย้ำถึงวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น และการพาเข้าบ้านในสัปดาห์แรกจำนวน 100 คน ทำให้ AF7 ได้ความสนใจระดับหนึ่ง
“บอย อรรถพล ณ บางช้าง” ผู้อำนวยการสร้าง รายการ AF ให้เหตุผลถึงการเลือกปั๋ม V7 ว่า ”ดูแล้วเรามั่นใจ เสน่ห์เขาอยู่ตรงธรรมชาติความเป็นเด็ก ไม่ประดิษฐ์ และเสียงร้องก็ดีมาก เป็นคนแรกที่ผมกับทีมกรรมการตัดสินใจได้เลยที่จะให้เขาผ่านเข้าสู่บ้านทรู เอเอฟ”
นอกเหนือจากนี้ ”บอย อรรถพล” ยังบอกว่า เป็นเทรนด์ของศิลปินทั่วโลกที่มีอายุลดลง เพื่อมีอายุการเป็นศิลปินยาวนานขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 10 ปี และนี่คือการมาถูกทางเมื่อผู้สมัครกว่าครึ่งจากทั้งหมดเกือบ 20,000 คน มีอายุ 15-17 ปีเท่านั้น
จาก 100 คนในวีคแรก เมื่อถึงรอบ 12 คนสุดท้าย ยิ่งมองเห็นกลยุทธ์ของทรูวิชั่นส์ที่ชัดเจนว่าซีซั่นนี้ AF7 ขอเล่นกับ ”วัยรุ่น” ตั้งแต่มัธยม มากกว่าจะเล่นกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเหมือนที่ผ่านมา คือจำนวนเด็กที่เข้าบ้าน 12 คนนั้นต่ำกว่า 18 ปี ถึง 8 คน (อายุ 15 ปี 4 คน) ซึ่งเป็นความต่างที่ทรูวิชั่นส์พยายามใส่เข้ามา โดยเดินตามเจ้าของลิขสิทธิ์รายการเรียลลิตี้โชว์ La Academia ที่ซื้อมาจากเม็กซิโก ที่ซีซั่น 7 เพิ่งได้ผู้ชนะ คือ Giovanna Paz ที่ระหว่างแข่งขันเขามีอายุเพียง 15 ปี หลังจากที่ซีซั่น 6 เริ่มเปิดให้เด็กวัยรุ่นเข้าบ้าน และล่าสุดกับการมีเด็กเข้าบ้านมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดแข่งขัน คือ 36 คน
ทรูวิชั่นส์กำลังบอก Positioning ใหม่ของ AF ว่านี่คือเวทีของวัยรุ่น เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งในเวทีประกวด Talent Show หลายเวทีในเมืองไทยที่ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จจากการดึงวัยรุ่นเข้ามาแข่งขัน โดยเฉพาะจากเดอะสตาร์ ค่ายแกรมมี่ ในปี 5 มีสิงโต เดอะสตาร์ เป็นแชมป์ตอนอายุประมาณ 16 ปี ได้เรตติ้งและโหวตสูงจนกระแสเดอะสตาร์ได้ไปต่อ ได้เสียงกรี๊ด ตามมาเบียด และเปรียบเทียบเรตติ้งกับ AF ทุกปี
ด้วยคอนเซ็ปต์เรียลลิตี้โชว์ คือต้องการให้ผู้ชมผูกพันกับศิลปินตั้งแต่เริ่มฝึกร้องเต้น ติดตามคอนเสิร์ต และเป็นแฟนคลับสนับสนุนกันไปตลอดบนเส้นทางบันเทิง ดังนั้นการทำให้ผู้ชมติดตามดูตลอดเวลา หรือบ่อยที่สุดผ่านทรูวิชั่นส์ช่อง 60 จึงเป็นสิ่งท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเกือบทุกมุขที่วงการบันเทิงควรเล่น AF ก็ได้เล่นไปแล้ว
นักล่าฝันที่เข้าบ้านใน 6 ซีซั่นที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยคืออายุ 20 ปี ส่วนใหญ่เตรียมตัวมาแล้วเต็มที่ แม้บางคนความสามารถในการร้องเพลงอาจไม่ถึง แต่พฤติกรรมอยู่ในเกณฑ์รับได้ มีหลุดบ้างแต่ก็ออกแนวน่ารักสดใส ที่ผ่านมาทรูวิชั่นส์ใช้มุกต่างๆ เอามาโปรโมตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายของวิทย์ แชมป์ AF1 เด็กเก่งที่ครอบครัวมีอาชีพร้อยพวงมาลัย ตุ้ย AF3 ที่กตัญญูต่อครอบครัว ที่แม่มีอาชีพเป็นแม่บ้าน ส่วนพ่อรับซ่อมรองเท้า การสร้างกระแสการจับคู่ ลูกตาล กับโจ ใน AF2 และตี๋ พะแพง ใน AF4 และกระแสทอมดี้ ของซานิ แชมป์ AF6
ในยุคปัจจุบันวัยรุ่นที่มีบุคคลิกขัดแย้งในตัวเอง ตามที่หลายสำนักวิจัยฟันธง ทั้งกล้าแสดงออก เปิดเผยตัวตน แต่ก็อยากได้ความมั่นใจ และสับสน จึงเป็นพฤติกรรมที่น่าจะนำมาโชว์ในเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง และทรูวิชั่นส์ก็มองเห็นไม่ต่างกับเทรนด์นี้ ”บอย อรรถพล“ จึงเชื่อว่าความเป็นเด็กจะปล่อยความเป็นธรรมชาติออกมา ตามคอนเซ็ปต์ที่เป็นจุดเด่นของรายการ คือเรียลลิตี้โชว์
และด้วยความตั้งใจเลือกบุคลิกภาพที่หลากหลาย ที่มีทั้งเด็กช่างพูด เด็กเก็บกด เด็กเงียบสุภาพ เด็กที่กล้าแสดงความรู้สึก ทั้งร้องไห้และหัวเราะ และเด็กแรงกล้าแสดงออกร้องเต้นและสั่งการ จนมีการนำไปเปรียบเทียบว่าเหมือนกับเรียลลิตี้โชว์ บิ๊กบราเธอร์ส ที่เน้นการใช้ชีวิตร่วมกันในบ้าน ด้วยการเลือกผู้ร่วมแข่งขันที่บุคลิกภาพแรงๆ เพื่อสร้างสีสันในบ้าน “บอย อรรถพล” บอกเพียงว่า ที่เหมือนก็เป็นเพียงการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนอื่นยังคงเน้นการพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในด้านต่างๆ และแม้จะมีสิ่งที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นกรณีมาร์ค V11 กับประเด็นทางการเมือง และทำให้ AF7 ดังขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการตลาดของทรูวิชั่นส์ เพราะไม่คุ้มกับชื่อเสียง
เหตุผลที่ AF7 กล้าเล่นมากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งของทรูวิชั่นส์ที่มีเครือข่ายสมาชิกเคเบิลทีวี โดยเฉพาะที่ติดจานแดงกว่า 1 ล้านคนที่เป็น Mass เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่ AF จะหากลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะ ”วัยรุ่น” ที่พร้อมโหวตและซื้อ จากเดิมที่ทรูวิชั่นส์ยังไม่มีจานแดง แฟนคลับส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มที่จ่ายค่าสมาชิกให้ทรูวิชั่นส์ตั้งแต่แพ็กเกจซิลเวอร์ขึ้นไป คนติดตาม AF ส่วนใหญ่จึงเป็นวัยทำงาน วัยรุ่นมหาวิทยาลัย และ Mass กลุ่มหนึ่งที่ดูจากโมเดิร์นไนน์ทีวี
จานแดงช่วยให้ AF มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น ทั้งจากสปอนเซอร์ที่ร่วมสนับสนุนรายการ และเสียงโหวตผ่านเครือข่ายสื่อสารทุกรูปแบบของค่ายทรูฯ และที่สำคัญคือ หากแต่ละคนได้ตามฝัน มีที่ยืนบนเส้นทางบันเทิง การได้เริ่มตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นคืออนาคตที่ยาวไกล บนทางเดินแห่งความฝันนี้ และต่อยอดให้กับธุรกิจบริหารศิลปิน “ทรู แฟนเทเซีย” ได้มากขึ้น
เมื่อกระแส AF7 ไต่ได้ระดับหนึ่งแล้ว และเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นให้ชัดเจนขึ้น หลังจากมาร์คแล้ว AF ก็หาส่วนผสมใหม่ โดยเกาะกระแสเกาหลีที่วัยรุ่นและเด็กๆ ชอบ โดยให้นักล่าฝัน 12 คน โชว์ร้อง และแดนซ์เพลงเกาหลี จากเพลงที่ฮิตในหมู่วัยรุ่นตั้งแต่ของ 2 PM จนถึงวันเดอร์เกิร์ล Girl Generations ชนิดต้องลุ้นกันตัวโก่ง ทั้งครูใหญ่ จนถึงครูสอนแดนซ์และร้อง คอนเสิร์ตจบลง สำหรับคนฟังที่อยากได้คุณภาพถึงกับฝันร้ายกับความเพี้ยน แต่สำหรับเด็กๆ แล้วกรี๊ดกันสนั่นฮอล นี่คือความต่างของกลุ่มเป้าหมายต่างวัยในยุคนี้
และเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสามารถของ AF7 ดั่งสนั่นเว็บบอร์ด
บิลด์โหวตได้ไม่หยุด
อะไรก็ไม่ฉุดไม่อยู่ถ้ามีช่องทางให้ทำรายได้มากขึ้น หลังจากทรูวิชั่นส์พลาดเป้าจากสปอนเซอร์ที่สนับสนุนรายการ ทั้งเป๊ปซี่ และแพนทีน ต่างหายจากเวที AF ที่เหลือ 80% คือสินค้าในเครือซีพี ขณะที่การลงทุนยังอยู่ในระดับ 100 ล้านบาท รายได้จากการโหวตจึงสำคัญมากขึ้น ดังนั้นเมื่อ AF7 เริ่มจุดกระแสติด ทรูวิชั่นส์จึงใช้ความพยายามบิลด์โหวตให้มากและแนบเนียนที่สุด และที่สำคัญวัยรุ่นกับโทรศัพท์คือสิ่งที่คู่กัน แม้มีเงินจะโหวตไม่มาก แต่ก็ชอบโหวต
AF7 จึงไม่ใช่แค่โหวตเพื่อให้นักล่าฝันแต่ละคนได้อยู่ต่อเท่านั้น หรือการโหวตกลับเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ยังมี ”เพลงปริศนา” ที่แฟนคลับคนไหนอยากให้นักล่าฝันที่ตัวเองเลิฟได้ร้อง ก็ต้องโหวตเพิ่มเข้าไปอีกด้วย เทคนิคนี้ใช้ได้ผลในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของมาร์ค V11 ที่ได้ร้องเพลง ”ขออุ้มหน่อย” ของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์
ระหว่างคอนเสิร์ตวันเสาร์ พี่ต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ยังต้องเพิ่มหน้าที่ใหม่เข้าไปอีก ด้วยการบอกกับผู้ชมเป็นระยะๆ ถึง 3 ครั้ง ว่า ณ นาทีนั้นว่านักล่าฝันคนหนึ่ง บอกเพียงว่าหญิงหรือชาย กำลังได้เสียงโหวตน้อยที่สุด แน่นอนแฟนคลับก็ต้องกระหน่ำส่งโหวตกันอย่างเต็มที่
ขึ้นสัปดาห์ที่ 5 นักล่าฝันยังอยู่ครบ 12 คน ด้วยฤทธิ์ของตุ๊กตาภูมิคุ้มกัน สีสันในบ้านเริ่มเข้มข้น เด็กบางคนที่เคยบ่นอยากกลับบ้าน เริ่มติดบ้าน AF มากกว่า คุ้นเคยและคุยกัน เล่นกันดังขึ้นเรื่อยๆ อีกกว่า 1 เดือนที่เหลือ โจทย์สำหรับทรูวิชั่นส์ คือการหามุกใหม่มาเล่นเรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับความตื่นเต้นไว้ให้อยู่ เพื่อให้คุ้มค่าสำหรับผู้ชมและแฟนคลับ ที่ทุ่มโหวตให้นักล่าฝันของตัวเอง
ยอดโหวต | |
AF1 | 9 ล้านโหวต |
AF2 | 11.5 ล้านโหวต |
AF3 | 13 ล้านโหวต |
AF4 | 20 ล้านโหวต |
AF5 | 22 ล้านโหวต |
AF6 | 20 ล้านโหวต |
AF7 | 25 ล้านโหวต (คาดจะโต 25%) |
ที่มา : ทรูวิชั่นส์ |
- ครั้งแรกใน AF7
- เลือกเข้าบ้านสัปดาห์แรก 100 คน
- 5 สัปดาห์ผ่านไป ยังอยู่ครบ 12 คน
- เด็กอายุต่ำสุด 15 ปีมี 4 คน สูงสุด 22 ปีคนเดียว
- มาร์ค V11 ถูกกระแสกดดันจนสละสิทธิ์ และต้องมี V13 มาแทน
- ลงทุนระบบภาพความละเอียดสูง (HD) แต่กระแสไม่แรงพอ
- สปอนเซอร์บางรายยกเลิกกลางครันระหว่างออดิชั่น
- เริ่มมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน (ปลาและสุนัขที่มาเป็นระยะ) เพราะมีอาหารสัตว์เป็นสปอนเซอร์
- เพลงปริศนา เพื่อเพิ่มยอดโหวต
- แจ้งผลโหวตระหว่างแข่งขันบนเวที
- คาดยอดโหวตเพิ่มขึ้น 25% จากซีซั่น 6 ได้ 20 ล้านโหวต
ใครเป็นใครใน AF7 | ||
AF | อายุ (ปี) | บุคลิก |
V1 มีน | 22 | พี่ใหญ่ ชัด และแรง มุ่งมั่นตั้งใจ กล้าแสดงออก |
V2 เกรป | 15 | ร่าเริง ขี้สงสัย กังวลว่าใครๆ ก็ไม่รัก พูดไม่ยั้งคิด |
V3 เบน | 18 | มีความเป็นตัวตนสูง มีอารมณ์กวนๆ บางที |
V4 นิว | 15 | ขี้อาย เรียบร้อย แต่เงียบเมื่ออยู่ในบ้าน |
V5 นัตตี้ | 15 | ช่างพูด อารมณ์แปรปรวนแบบเด็กที่เอาแต่ใจ งอแง |
V6 น้ำแข็ง | 21 | มีเสน่ห์ ขี้เล่น ภายนอกดูเข้มแข็งแต่ข้างในอ่อนโยน |
V7 ปั๋ม | 15 | ยิ้มง่าย จริงจังกับสิ่งที่ทำ เป็นผู้ใหญ่กว่าวัยเดียวกัน |
V8 กรีน | 21 | พี่ใหญ่ เอาจริงเอาจัง พูดเก่ง มีความมุ่งมั่น |
V9 ผ้าแพร | 17 | มีกรอบ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ เป็นคนจริงจัง |
V10 บอส | 16 | มีความเป็นเด็ก ชอบบีบอย พูดน้อย ไม่มั่นใจกับสิ่งที่ทำ |
V11 มาร์ค(สละสิทธิ์) | 17 | ช่างพูด มั่นใจ กล้าแสดงออก เป็นเด็กกวนๆ ชอบพูดอำ มีลุคแบดบอย |
V12 ปอ | 16 | น่ารักใสๆ แต่ทันคน อีกด้านก็มีอารมณ์รุนแรง |
V13 ต้น | 18 | ติดหล่อ มีกรอบ มีเสน่ห์ มั่นใจ พูดจาห้วนๆ |
ที่มา : รวบรวมจากความเห็นแฟนคลับ และกรรมการ AF |
ศัพท์ใหม่ใน AF7
“จิ้น” มาจากImaginคู่จิ้น นอกจากเด็กในบ้านจะจินตนาการจับคู่กันเอง นอกบ้านก็จับคู่ให้เด็กเหมือนที่ผ่านมาตั้งแต่ AF1 เป็นมุกเฮฮาอำกันเล่นในบ้าน มีทั้งเกรปกับพี่ปอ นัตตี้ขอแจมด้วย กลายเป็นสามเส้า หรือว่าเพื่อนๆ จิ้นให้บอสกับนิว กระแสนอกบ้าน ก็เล่นจับคู่พี่น้องสร้างเว็บคู่ดูโอ พี่ฝรั่ง (เบน) น้ององุ่น(เกรป)
“เบอร์ใหญ่” มาจากการแสดงของพี่ใหญ่ มีน V1 ที่ชอบแสดงออกเต็มที่เกินธรรมชาติ
“จังหวะนรก” แฟนคลับนอกบ้านพูดกันถึงพฤติกรรมของเด็กๆ ในบ้าน AF บางคน ที่แทรกพูดขึ้นมาระหว่างวงสนทนาที่กำลังสนุกสนานจนเกิดอาการ ”วงแตก”