สรุป Insight ‘นักช้อปชาวทวิตเตี้ยน’ ที่ร้านค้าควรรู้ก่อนถึงวันละลายทรัพย์แห่งปี ’11.11’

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 4.57 พันล้านคนทั่วโลก (59% ของประชากรโลก) และในประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราว 75% จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวันแห่งการช้อปปิ้งจึงเป็นการจัดโปรโมชันออนไลน์และกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญในการทำอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะวัน ‘ดับเบิลเดย์’ ไม่ว่าจะเป็น 7.7, 8.8, 9.9, 10.10 และ 11.11 ที่กำลังจะถึงนี้ ได้กลายเป็นช่วงเวลาของการสร้างมูลค่ามหาศาลสำหรับวงการค้าปลีกในประเทศไทย

4 ใน 5 ผู้ใช้ Twitter ช้อปออนไลน์

ทวิตเตอร์ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคนิยมพูดคุยเกี่ยวกับการช้อปปิ้งในประเทศไทย ดังนั้น อาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ออกมาเปิดเผยถึงพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคโดยระบุว่า ในช่วงระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ (eCommerce) และ เอ็มคอมเมิร์ซ (mCommerce) ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกันราว 3.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ไทยมากกว่า 4 ใน 5 คน มีการซื้อของออนไลน์

“COVID-19 เป็นจุดเปลี่ยนให้คนช้อปออนไลน์ ดังนั้น ไม่แปลกใจเลยว่าบทสนทนาที่พูดคุยเกี่ยวกับการช้อปปิ้งบนทวิตเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพิ่มมากขึ้น และเราจะเห็นช่วงพีคที่สุดในช่วงใกล้ ๆ วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งก่อนและหลังวันที่มีการจัดโปรโมชัน ยิ่งผู้บริโภคหันมาใช้อีคอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซมากขึ้นจะพบว่าเทรนด์การสนทนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง”

สินค้าอุปโภคบริโภค ขายดีสุด

สำหรับ 5 อันดับของสินค้าที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในประเทศไทยนิยมสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้แก่

1.แชมพู (84.7%)

2.น้ำยาปรับผ้านุ่ม (75.6%)

3.น้ำยาซักผ้า / ผงซักฟอก (74.2%)

4.ครีมนวดผม (66.9%)

5.เสื้อผ้า (66.7%)

ขณะที่ 4 ปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยเลือกช้อป ได้แก่

1.จัดส่งฟรี (63%)

2.ส่วนลด (57%)

3.จ่ายเงินปลายทาง (45%)

4.เสียงสนับสนุนและการพูดถึงของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ (39%)

94% ต้องดูรีวิว

‘ผู้หญิง’ คือกลุ่มที่นิยมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องช้อปปิ้งบนทวิตเตอร์มากที่สุดในประเทศ โดยสาว ๆ นักช้อปบนทวิตเตอร์มีความสนใจในเรื่องของดนตรี, อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, การทำอาหาร, ความงามและเครื่องสำอาง ในขณะที่ ‘หนุ่มนักช้อป’ มีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยี, ดนตรี, การเล่นกีฬาและข่าวสารต่าง ๆ

ที่น่าสนใจคือ 94% ของนักช้อปออนไลน์บนทวิตเตอร์มักจะหาข้อมูลจากรายการสิ่งของที่อยากได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ 50% ของนักช้อปออนไลน์ในประเทศไทยมักจะตรวจสอบข้อมูลของแบรนด์และข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงบนทวิตเตอร์

“นักช้อปออนไลน์บนทวิตเตอร์คือผู้ทรงอิทธิพล ชอบการค้นพบสิ่งใหม่ เปิดใจรับผลิตภัณฑ์หรือไอเดียใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์และมักจะเข้าร่วมวงสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับการช้อปปิ้ง สำหรับแบรนด์ สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

ให้ความสำคัญทุกขั้นตอน มากกว่าแค่การตัดสินใจซื้อ

การซื้อของออนไลน์คือขั้นตอนอย่างหนึ่ง หากลองศึกษาวันแห่งการช้อปปิ้งอย่างเช่นโปร 10/10 ทวิตเตอร์พบว่าช่วงเวลาขั้นตอนของการทำอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ประมาณ 10-14 วัน โดยมีหัวใจหลักอันสำคัญที่แบรนด์สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระหว่างที่มีการจัดโปรโมชัน หากแบรนด์มีการลงทุนและโฟกัสที่จะขายสินค้าเฉพาะแค่ในวันที่ 10 เดือน 10 จะได้รับประโยชน์น้อยกว่าแบรนด์ที่มีการเอ็นเกจกับผู้บริโภคมาตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ก่อนมีโปรฯ ไปจนถึงหลังวันที่มีโปรฯ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ได้แนะนำ 5 ขั้นตอนในการสร้างความสัมพันธ์กับชาวทวิตเตอร์ก่อนที่จะถึงวันที่จัดโปรโมชัน ดังนี้

1.เริ่มทวีต : ก่อนจะถึงวันที่มีการจัดโปรฯ สักหนึ่งอาทิตย์ ควรเริ่มต้นสร้างบทสนทนาขึ้นมาบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะทวีตถึงโค้ดส่วนลดต่าง ๆ และจะได้เก็บโค้ดเหล่านั้นเอาไว้เพื่อช่วยให้พวกเขามีส่วนลดเพิ่มในวันที่มีการจัดโปรฯ

2.อุ่นเครื่อง : นี่เป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์เริ่มปรึกษาพูดคุยกับเพื่อน ๆ ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังวางแผนที่จะซื้อ ดังนั้น อาจใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อนักช้อปก่อนที่จะถึงวันจริง

3.วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ : ในวันนี้นักช้อปบางคนอาจจะยังค้นหาโค้ดส่วนลดอยู่ และนี่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อในวันนั้น ดังนั้น อาจใช้นำรีวิวเข้ามาช่วยเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ

4.รีวิวแกะกล่องผลิตภัณฑ์ : นักช้อปบนทวิตเตอร์มักชอบแบ่งปันข้อมูลในสิ่งที่พวกเขาได้ช้อปมาแล้วหลังจากที่ซื้อ ดังนั้น นี่คือช่วงเวลาที่นักช้อปคนอื่น ๆ อาจจะมีการตัดสินใจซื้อเพิ่ม เนื่องจากได้เห็นคนอื่นได้ซื้อสินค้าไปแล้ว

5.หลังจากวันจัดโปรฯ : หลังจากที่ผู้บริโภคเริ่มมีการทวีตและมีฟีดแบ็กถึงผลิตภัณฑ์ ร้านค้ายังคงสามารถสร้างเอ็นเกจได้ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3-4 วัน ดังนั้น อาจเตือนว่าโปรโมชันใกล้จะหมดแล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นครั้งสุดท้ายก่อนหมดโปรได้อีกเช่นกัน

สำหรับร้านค้าร้านไหนที่กำลังอยากเจาะชาวทวิตเตี้ยน ลองเอาอินไซต์ไปปรับใช้กันดูได้เลย หาก 11.11 ไม่ทัน ยังมี ‘12.12’ รออยู่นะ