‘หัวเว่ย’ อาจถูก ‘เสียวหมี่’ แซงขึ้นเบอร์ 2 ของโลก หากไม่มี ‘ออเนอร์’

จากจุดเริ่มต้นในปี 2019 ที่ ‘หัวเว่ย (Huawei)’ ได้ถูก ‘สหรัฐอเมริกา’ ติด Entity list ทำให้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถใช้งาน Google และระบบปฏิบัติการ Android ได้ โดยอ้างว่ามีความกังวลเรื่องความมั่นคง แม้หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ตาม จนมาในปี 2020 ก็ได้แบนไม่ให้เข้าถึง ‘ชิป’ ที่จำเป็นต่อการผลิตสมาร์ทโฟนอีก และดูเหมือนว่าหัวเว่ยเองจะเริ่มทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนต้องตัดใจขาย ‘ออเนอร์ (Honor)’ แบรนด์ลูกที่เน้นทำตลาดในกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาประหยัดทิ้ง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ออกแถลงการณ์ว่าได้ ‘ขาย’ แบรนด์ ‘ออเนอร์’ ให้กับกลุ่มตัวแทนจำหน่ายและดีลเลอร์จำนวนกว่า 30 ราย โดยหัวเว่ยจะไม่ถือหุ้นในออเนอร์อีกต่อไป และกลุ่มผู้ซื้อจะทำการจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ชื่อว่า Shenzhen Zhixin New Information Technology อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยไม่ได้เปิดเผยถึงมูลค่าการซื้อขาย แต่มีการประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.5 แสนล้านบาท

Nicole Peng นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยตลาด Canalys กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้บริหารของหัวเว่ยได้กล่าวในการประชุมว่า บริษัทอยู่ใน “สถานการณ์ที่ยากลำบาก” และ “การอยู่รอดคือเป้าหมาย” และเมื่อหัวเว่ยมีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้น การขายออเนอร์เพื่อลดใช้ทรัพยากรเพื่อมุ่งเน้นไปที่สมาร์ทโฟนเรือธงของหัวเว่ยเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

การอยู่รอดหมายความว่าพวกเขาต้องแน่ใจว่ามีส่วนประกอบเพียงพอที่จะมีความต่อเนื่องทางธุรกิจเป็นระยะเวลานานขึ้น และการขายออเนอร์จะทำให้หน่วยสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยได้มีพื้นที่หายใจ อย่างน้อยตอนนี้ก็สามารถเก็บรักษาทรัยากรไว้สำหรับรุ่นเรือธงได้”

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อหัวเว่ยจะคลี่คลายลงเมื่อ Joe Biden เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่คนใหม่ แต่ไม่มีการรับประกันว่าฝ่ายบริหารของ Biden จะยกเลิกข้อจำกัดของหัวเว่ยหรือไม่

อนาคตและแนวโน้มของหัวเว่ยยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้นพวกเขาจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขามี และสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขามีคือ สมาร์ทโฟนรุ่นระดับไฮเอนด์” Wil Wong นักวิเคราะห์จากบริษัท วิจัยตลาด IDC กล่าว

โทรศัพท์รุ่นเรือธงของหัวเว่ย เช่น P Series และ Mate Series มีราคาขายได้สูงกว่า 4,500 หยวน (20,700 บาท) และ 6,400 หยวน (29,000 บาท) ตามลำดับ ขณะที่ออเนอร์ที่จับตลาดกลางมีราคาถูกกว่ามาก โดย 10X Series ล่าสุดเริ่มต้นที่ประมาณ 2,100 หยวน (9,600 บาท) และรุ่น Play ที่จับตลาดระดับล่างขายเพียง 1,200 หยวน (5,500 บาท)

“การให้ความสำคัญกับรุ่นเรือธงจะช่วยให้หัวเว่ยรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับไฮเอนด์ และยังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” Wong กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียออเนอร์จะติดอันดับในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกของหัวเว่ยได้รับผลกระทบในทางลบ จากที่เมื่อต้นปีหัวเว่ยเคยขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนโลกในช่วงสั้น ๆ แซงหน้า ‘ซัมซุง (Samsung)’ ที่มียอดขายตกลงในช่วง COVID-19 โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากแบรนด์ออเนอร์ เนื่องจากในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาแบรนด์ราคาประหยัดมีสัดส่วนระหว่าง 25% – 29% ของการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งหมดของหัวเว่ย ซึ่งออเนอร์คิดเป็น 20% – 40% ของยอดขายทั้งหมดของหัวเว่ย

Photo : Shutterstock

อย่างในไตรมาสที่สองของปีนี้ที่หัวเว่ยขึ้นเป็นเบอร์ 1 แบรนด์ออเนอร์สามารถทำรายได้มากกว่า 1 ใน 4 ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั้งหมดของหัวเว่ย ดังนั้น หากไม่มียอดจากออเนอร์ที่ขายได้ประมาณ 15 ล้านเครื่อง หัวเว่ยจะไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้นำ ซึ่งปัจจุบัน ซัมซุงครองตำแหน่งเบอร์ 1 ในไตรมาสสามของตลาดสมาร์ทโฟนโลก ตามมาด้วยหัวเว่ย และ ‘เสียวหมี่ (Xiaomi)’ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสมาร์ทโฟนออเนอร์ มีความเป็นไปได้ที่หัวเว่ยจะหล่นไปเป็นอันดับ 3 ตามหลังเสียวหมี่

Source