พูดคุยกับ “วศุมา คณาธนะวนิชย์” ทายาทเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของ “รีเจ้นท์ กรุ๊ป” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่ในชะอำ หัวหิน ความท้าทายครั้งใหญ่ในการเปิดโครงการใหม่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
รู้จัก “วาลา หัวหิน” บูทีค รีสอร์ตในเครือรีเจ้นท์ กรุ๊ป
เรียกได้ว่าเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่โรงแรม “รีเจ้นท์ ชะอำ หัวหิน” ได้ทำตลาดโลดแล่นในเมืองชะอำ เป็นโครงการของ “รีเจ้นท์ กรุ๊ป” ธุรกิจของตระกูล “เตชะไพบูลย์” กลายเป็นโครงการที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่างแน่นอน
ในปีนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของรีเจ้นท์ กรุ๊ป ในการเปิดตัวโครงการใหม่ที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยิ่งเพิ่มความยาก และความท้าทายมากขึ้นไปอีก
รีเจ้นท์ กรุ๊ปได้เพิ่งเปิดโครงการ วาลา หัวหิน – นู แชปเตอร์ โฮเทล (VALA Hua Hin – Nu Chapter Hotels) บูทีค บีชรีสอร์ต ระดับ 5 ดาว ได้เปิดให้บริการ Soft Opening เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นโครงการใหม่ในรอบหลายปี อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ “วศุมา คณาธนะวนิชย์” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท รีเจ้นท์ กรุ๊ป ทายาทเจนเนอเรชั่นที่ 3 เข้ามาดูแลอย่างเต็มระบบตั้งแต่ Day One
วาลา หัวหิน ใช้งบลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ ชูจุดเด่นด้วยพื้นที่กว้างขวาง มีความเป็นส่วนตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบ ร่มรื่น อุดมด้วยแมกไม้ใหญ่นานาชนิด ติดชายหาดทอดยาวถึง 260 เมตร มีส่วนผสม 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1. โลเคชั่นที่ตั้งติดชายหาด มีความเป็นส่วนตัว 2. ดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ และ 3. มีความใกล้ชิดธรรมชาติอย่างเต็มที่
วาลา หัวหิน ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิก Small Luxury Hotels of the World (SLH) ตอกย้ำความมีเอกลักษณ์ โดดเด่น หรูหราทันสมัย คำว่า VALA หมายถึงพลังของธรรมชาติ ถือเป็นทางเลือกใหม่ของหัวหิน-ชะอำ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องการโรงแรมในรูปแบบบูทีค รีสอร์ต
วศุมา เริ่มเล่าว่า วาลา หัวหิน ใช้เวลาในการพัฒนากว่า 2 ปี เป็นการเอาพื้นที่ที่เป็นที่ดินดั้งเดิมของครอบครัวที่มีกว่า 500 ไร่ มาพัฒนา ซึ่งตรงนี้เป็นที่ดินสวย ติดหาด มีต้นไม้สูงใหญ่จำนวนมาก จึงมีการออกแบบพื้นที่โครงการให้ยังคงรักษาต้นไม้เดิมเอาไว้ทั้งหมด หรือบางต้นย้ายไปปลูกในจุดใหม่แทน
โครงการนี้ให้บริการห้องพักทั้งหมดเพียง 97 ห้อง แบ่งเป็นโซนห้องพักบนอาคาร 3 ชั้น จำนวน 84 ห้อง สามารถเห็นวิวทะเลทุกห้อง และโซนพูลวิลล่า โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 4,000 – 18,000 บาท
ในตอนแรกโครงการนี้จะเปิดให้บริการช่วงเดือนเมษายน แต่ติดเรื่องการแรพ่ระบาดของไวรัส COVID-19 และเรื่องการก่อสร้างที่ล่าช้า จึงเลื่อนมาเปิดช่วงกันยายน แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับดี มีอัตราการเข้าพัก 40-50% แต่ก็เริ่มทยอยเปิดในส่วนพูลวิลล่าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เปิดให้บริการแค่บนตึก
ปั้น Nu Chapter Hotels ลุยตระกูลบูทีค
จะเห็นได้ว่าวาลา หัวหิน จะมีคำว่า Nu Chapter Hotels หรือนู แชปเตอร์ โฮเทล ต่อท้าย นั่นคือแบรนด์ใหม่ที่รีเจ้นท์ กรุ๊ปปั้นขึ้นมา เพื่อเป็นกลุ่มแมเนจเมนต์ของผู้บริหารนิวเจนรุ่นใหม่ และเป็นแบรนด์ที่จับกลุ่มตลาดบูทีค รีสอร์ตหรูด้วย เป็นการเสริมพอร์ตให้แข็งแรงขึ้น
แต่เดิมรีเจ้นท์ กรุ๊ปมีโครงการในเครือ ได้แก่ โรงแรมเดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ต, รีเจ้นท์ชาเล่ย์ และโรงเรียนการโรงแรมและท่องเที่ยว รีเจ้นท์ ชะอำ โดยที่โรงแรมเดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว วางจุดยืนเป็นโรงแรมที่จับกลุ่มสัมมนา และครอบครัวเป็นหลัก
แต่ยูนิตนู แชปเตอร์ โฮเทลจะขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ เป็นนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ มีคาแร็กเตอร์เป็นเอกลักษณ์ ใส่ใจเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มครอบครัว เพื่อน หรือคู่รักก็ได้ แต่เป็นไลฟ์สไตล์การท่องเทีย่วของคนรุ่นใหม่นั่นเอง
วศุมาเสริมอีกว่า ชื่อ Nu Chapter มาจากชื่อของคุณตา และคุณยายมาผสมกัน คุณยายชื่อโนรี หรือตัว N คุณตาชื่ออุทรณ์ หรือตัว U ทั้งสองคนเป็นคนสำคัญ เป็นคนก่อตั้งบริษัท อีกทั้งยังสามารถพ้องเสียงเป็น “นิว” แปลว่าสิ่งใหม่ๆ ได้ด้วย รวมถึง “นู่” เป็นชื่อเล่นของวศุมาเองที่ชื่อว่านูนู่
ขอมีคาแร็กเตอร์ ไม่ต้องพึ่งเชนใหญ่บริหาร
วศุมาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวาลา หัวหินตั้งแต่วันแรก มีส่วนร่วมในการออกแบบ เลือกวัสดุก่อสร้าง กำหนดคอนเซ็ปต์ คาแร็กเตอร์ ซึ่งสิ่งต่างๆ สะท้อนมาจาก Passion ส่วนตัวของวศุมาเองทั้งสิ้น
“วาลา หัวหิน มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน จะเป็นสถานที่ที่แต่ละคนสามารถเอ็นจอยได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัว คนทำงาน วัยรุ่น แต่มีไลฟ์สไตล์ชัดเจน เป็นคนพิถีพิถัน โปรดักต์จะมีความ Feminine มีความนิ่ง สงบ มีลายเส้นชัดเจน ถ้าเปรียบเป็นคน จะเป็นสาวอายุประมาณ 30 ปี เป็นคนที่ไม่ได้รักแค่ตัวเอง แต่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย”
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญก็คือ การปั้นนู เชปเตอร์ โฮเทล เป็นเหมือนหน่วยการบริหารใหม่ จะแตกต่างจากโรงแรมสมัยใหม่ยุคนี้ที่บางโครงการจะใช้ “เชนโรงแรม” รายใหญ่เข้ามาบริหาร เพื่อต้องการสร้างแบรนด์อย่างรวดเร็ว ใช้เชนใหญ่ช่วยบริหารสร้างความเชื่อมั่น
แต่วศุมากลับคิดตรงข้าม ต้องการพัฒนาโครงการที่เป็น Independent ไม่ต้องพึ่งพาเชนโรงแรมขนาดใหญ่ เพราะสามารถเข้าใจลูกค้าท้องถิ่นได้ดีกว่า แนวคิดนี้มาจากไลฟ์สไตล์ของวศุมาเองที่เป็นคนชอบท่องเที่ยว ในการเลือกแต่ละที่ก็จะเลือกโรงแรมที่มีคาแร็กเตอร์ ชอบโรงแรมขนาดเล็ก เพราะต้องการดูความหลากหลาย การบริหาร ความพิเศษ การบริการ และกิมมิกต่างๆ เป็นสิ่งที่เชนโรงแรมขนาดใหญ่ทำไม่ได้
“การเลือกใช้เชนโรงแรมใหญ่ๆ หรือไม่ใช้เชน ขึ้นอยู่กันศักยภาพของที่นั้นๆ การบริหารเองจะทำให้เรารู้จักในพื้นที่ดี ถ้าทำเองทำได้มากกว่า ทำได้สอดคล้องมากกว่า ชูดคาแร็กเตอร์ได้มากกว่า ก็เลือกที่จะบริหารเอง”
ต้องเป็นกรีนโฮเทล
นอกจากเรื่องดีไซน์ที่ชูแนวคิด Nature’s Touch with a Modern Design นั่นคือการใช้ดีไซน์แบบโมเดิร์น ท่ามกลางธรรมชาติรายล้อมได้อย่างลงตัว ที่นี่จะมีพื้นที่สีเขียวถึง 48% รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainability ก็เป็นคอนเซ็ปต์สำคัญของโครงการเช่นกัน
วศุมาเป็นคนอินกับเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมองว่าเทรนด์การท่องเที่ยวในยุคนี้เปลี่ยนไป คนจะมองหาอะไรที่เป็นคุณค่าต่อจิตใจมากขึ้น การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่จุดนอน แต่เป็นเดสติเนชั่น
วาลา หัวหินจึงมีคอนเซ็ปต์ Green Hotel ด้วย ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เริ่มงดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อุปกรณ์ที่ใช้สิ้นเปลือง อุปกรณ์ในห้องน้ำก็เป็นแบบรีฟิว เลือกวัสดุที่ย่อยสลายได้ และลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) การทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ และการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบในประเทศ และผักผลไม้ตามฤดูกาล
ความยากของทายาทเจน 3
วศุมาเป็นบุตรสาวคนโตของ ปิยะมาน เตชะไพบูลย์ กับวิศิษฐ คณาธนะวนิชย์ มีน้องชาย 1 คน นีโน่-กุลนาถ คณาธนะวนิชย์ นักธุรกิจสาวในวัย 30 ปี ได้ช่วยกิจการครอบครัวของรีเจ้นท์ กรุ๊ปมา 5 ปีแล้ว แรกเริ่มอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจดูในเรื่องการตลาด ระบบปฏิบัติการต่างๆ และปรับปรุงรีโนเวตเล็กๆ น้อยๆ
โปรเจกต์นี้จึงเป็นก้าวสำคัญของวศุมาที่ได้รับผิดชอบโครงการใหญ่เป็นครั้งแรก จึงมีการทุ่มเทมาก และได้รวบรวมสิ่งที่ชอบ เทรนด์ต่างๆ ไว้ในโครงการนี้
“วาลา หัวหินเป็นก้าวใหญ่ของทายาทเจน 3 เป็นเหมือนลูกคนแรก ที่ได้เห็นการเติบโตตั้งแต่วันแรก อาจจะตะกุกตะกักไปบ้าง แต่ที่ออกมาก็พอใจ ดีที่ว่าตั้งแต่เด็กๆ ได้เห็นภาพการทำงานของครอบครัวมาตลอด ที่บ้านไม่ได้กดดันอะไรมาก ส่วนใหญ่เกิดจากเรากดดันตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ให้คำปรึกษาอยู่ เพียงแต่ตัวเราอยากให้อะไรออกมาดีมากๆ อยากให้ทุกคนมาแล้วประทับใจ”
วศุมา เสริมอีกว่า ความยากของการบริหารคือ การเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเจอ ต้องตัดสินใจด้วยความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การออกแบบ ต้องเป็นคนหลักในการตัดสินใจ ยิ่งเป็นโปรเจกต์แรกก็ยิ่งยาก แต่ก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
“ถ้ามี 100 อย่างให้ตัดสินใจ ตัดสินถูก 80 ก็โอเคแล้ว อีก 20 เป็นบทเรียน”
สำหรับแผนการพัฒนาโครงการวาลา หัวหินในเฟสที่ 2 ต้องรอดูผลตอบรับต่อไปในอนาคต แต่ได้มีการปรับเข้ากับเทรนด์การท่องเที่ยวของคนยุคใหม่มากขึ้น มีกิจกรรมให้ใช้เวลาที่โรงแรมมากขึ้น อีกทั้งชะอำ-หัวหินก็ยังเป็นเดสติเนชั่นหลักสำหรับคนไทยที่ต้องการอยากไปทะเล ยังเป็นตัวเลือกที่สำคัญอยู่ไม่น้อย