-
“เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) กางแผนลุยธุรกิจ “โรงแรม” เต็มตัว จากเดิมมีเพียง 2 แห่งในพอร์ต อีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอีก 37 แห่ง รวม 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัด มูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท
-
ทั้งหมดจะประกบกับ “ศูนย์การค้า” ทั้งเซ็นทรัล-โรบินสัน ตามแผนงาน “มิกซ์ยูส” และจะทำให้พอร์ตโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของบริษัท
-
ผนึก “เซ็นทารา” เข้ามาบริหาร 3 แบรนด์ ได้แก่ Centara, Centara One และ Go! Hotel สำหรับสองแบรนด์หลังคือแบรนด์ใหม่ “เอ๊กซ์คลูซีฟ” ให้กับเซ็นทรัลพัฒนาเท่านั้น เจาะตลาดโรงแรมระดับกลางและพรีเมียมแมส
ปัจจุบัน บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) มีโรงแรมเพียง 2 แห่งในพอร์ต คือ โรงแรมฮิลตัน พัทยา และ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี โดยรายได้จากกลุ่มโรงแรมคิดเป็นเพียง 2% ในพอร์ต เพราะดังที่ทราบกันว่าเซ็นทรัลพัฒนาเน้นหนักด้านศูนย์การค้าเป็นหลัก แต่นับจากนี้ CPN จะกระโดดเข้ามาในตลาดโรงแรมเต็มตัวแล้ว
“วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ประกาศแผนของบริษัท “5 ปี ขยายโรงแรม 37 แห่ง รวม 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัด มูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท” เริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นปีแรก
การลงทุนครั้งนี้ เซ็นทรัลพัฒนาจะประกบโรงแรมเข้ากับศูนย์การค้าในเครือไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลหรือโรบินสัน ตามนโยบายการดำเนินโครงการแบบ “มิกซ์ยูส” มีทั้งศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมในบริเวณเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจ ‘synergy’ กันได้ ลูกค้ามีความสะดวกสบาย เสริมโอกาสทางการค้าให้กันและกัน
วัลยายังกล่าวด้วยว่า กลยุทธ์การบุกตลาดโรงแรมครั้งนี้ของ CPN จะตอบโจทย์ทั้งลูกค้าพักผ่อน ธุรกิจ ทำงาน รวมถึงจะมีครบทุกเซ็กเมนต์ และยังเน้นการจ้างงานคนในชุมชน เน้นอัตลักษณ์อาหารและการออกแบบจากท้องถิ่นด้วย เพราะหวังให้โรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาเป็นมาตรฐานใหม่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของประเทศ
“ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวขยายความการตัดสินใจพัฒนาโรงแรมมากขึ้นของบริษัท นอกจากนโยบายมิกซ์ยูสแล้ว ยังเกิดจากบริษัทเล็งเห็นว่าการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวได้ดีกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา คนไทยเที่ยวในไทยถึง 30 ล้านคน เทียบกับเมษายน 2562 คนไทยเที่ยวไทย 38 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีกระแส workation คนย้ายที่ทำงานไปทำงานทางไกลจากจังหวัดที่ได้พักผ่อน รถไม่ติด อากาศบริสุทธิ์ ทำให้ค่าเฉลี่ยการเข้าพักหลัง COVID-19 เพิ่มเป็น 3-5 วัน จากก่อนเกิดโรคระบาดจะเฉลี่ยที่ 2-3 วัน
เมื่อรวมกับศักยภาพของเครือเซ็นทรัล ทางเซ็นทรัลพัฒนามีที่ดินใจกลางเมืองจากการพัฒนาศูนย์การค้าอยู่แล้วโดยไม่ต้องจัดซื้อเพิ่ม และมีเซ็นทาราเป็นผู้บริหารโรงแรมที่เชี่ยวชาญ การขยับมาพัฒนาโรงแรมจึงเป็นทิศทางที่เหมาะสม
เปิดแบรนด์ใหม่ ‘Centara One’ และ ‘Go! Hotel’
ภูมิกล่าวต่อว่า การเปิดตัวโรงแรมทั้งหมด 37 แห่ง ภายใน 5 ปี จะแบ่งเป็น 3 เซ็กเมนต์ครบทุกระดับ ได้แก่
- Centara แบรนด์ระดับฟูลเซอร์วิส ราคาห้องพักประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป โดยจะเปิดทั้งหมด 4 แห่ง เช่น Centara Korat, Centara Ayutthaya, Centara Ubon
- Centara One แบรนด์ผสมผสานไลฟ์สไตล์และธุรกิจ (Bleisure) ในระดับกลาง ราคาห้องพักประมาณ 1,500-1,700 บาท จะเปิดทั้งหมด 8 แห่ง เช่น Centara One Rayong
- Go! Hotel แบรนด์โรงแรมระดับพรีเมียมแมส โรงแรมขนาด 79 ห้อง ราคาห้องพักประมาณ 1,000 บาท จะเปิดทั้งหมด 25 แห่ง มีแผนเปิดแล้ว 7 ทำเล คือ โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี และเชียงราย
สำหรับแบรนด์ใหม่คือ Centara One และ Go! Hotel นั้น วัลยากล่าวว่าเกิดจากทางเซ็นทรัลพัฒนาที่ต้องการจะเปิดโรงแรมในหัวเมืองต่างๆ แต่ต้องการแบรนด์ในระดับกลางและพรีเมียมแมสที่จะเข้าถึงตลาดเหล่านั้นได้ ทำให้นำไปพูดคุยกับเซ็นทาราเพื่อวางคอนเซ็ปต์แบรนด์ใหม่ขึ้นมา และจะเป็นแบรนด์ “เอ๊กซ์คลูซีฟ” สำหรับโครงการที่พัฒนาโดย CPN เท่านั้น (ทั้งนี้ Go! Hotel จะเป็นลิขสิทธิ์ของเซ็นทรัลกรุ๊ป เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่เซ็นทรัลดูแลตั้งแต่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เวียดนาม)
ประเดิมแห่งแรก ‘Centara Korat’
จากแผนงานดังกล่าว แห่งแรกและแห่งเดียวที่จะเปิดตัวในปี 2565 คือโรงแรม Centara Korat อยู่ในโครงการมิกซ์ยูสร่วมกับเซ็นทรัล โคราช และคอนโดฯ Escent โคราช มูลค่าทั้งโครงการมิกซ์ยูส 10,000 ล้านบาท
ภูมิกล่าวถึงโรงแรมนี้ว่า จะเป็นโรงแรมขนาด 218 ห้อง มีไฮไลต์เด่น เช่น ร้านอาหาร House of Kin (เฮาส์ ออฟ กิน) ร้านที่ทานได้ทุกเจนเนอเรชัน มีตั้งแต่ส้มตำถึงเฟรนช์ฟรายส์ สามารถจัดเลี้ยงในโอกาสพิเศษได้, ร้านอาหาร Rooftop ให้คนท้องถิ่นได้มีที่แฮงต์เอาต์พร้อมชมวิวเมืองโคราช, ห้องประชุมพื้นที่ 930 ตารางเมตร รองรับการเป็นจังหวัด MICE City ทั้งหมดนี้จะเปิดบริการกันยายน 2565
ดันพอร์ตโรงแรมขึ้นมาเป็น 10%
ดังที่กล่าวว่าโรงแรมเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในพอร์ตรวมของ CPN ขณะนี้ แต่หลังการเพิ่มแผนงานด้านโรงแรม วัลยามองว่า เมื่อเปิดครบ 37 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า พอร์ตโรงแรมจะขึ้นมามีสัดส่วน 10% ของบริษัท
“เรามั่นใจในการลงทุนเพราะการพักโรงแรมยุคนี้คนไม่ได้ไปเพื่อการท่องเที่ยว แต่มีการไปติดต่อธุรกิจ และการ workation” วัลยากล่าว
“เราเห็นตัวอย่างจากเมืองนอก แม้เราจะไปเมืองรองของเขาแต่ก็ยังมีโรงแรมที่มีมาตรฐานให้เข้าพัก เราก็อยากจะทำให้ได้เหมือนกัน ยกระดับมาตรฐานโรงแรมในเมืองรองขึ้นมา” ภูมิกล่าว