“เฮียฮ้อ” ประกาศปัดฝุ่นธุรกิจเพลง RS Music โดยอยู่ภายใต้โมเดลใหม่ Music Star Commerce เปิด 3 ค่ายเพลง พร้อม 9 ศิลปินใหม่ RS ยุคใหม่ ศิลปินต้องลงทุนเอง และต่อยอดเป็น Business Partner ขายของต่อได้
ไม่ได้หายไป กลับมารุกใหม่ในจังหวะที่ใช่
เชื่อว่าหลายคนต้องมีประสบการณ์ และเติบโตมากับเพลงของ RS เรียกว่ายุคหนึ่งเป็นช่วงที่เพลง RS ครองเมือง ในตอนนี้ก็ยังย้อนวัยกลับไปฟังได้ ในยุคที่รุ่งเรืองขีดสุด RS เคยมีศิลปินในค่ายถึง 400 คน แต่ในตอนนั้นโจทย์ของธุรกิจยังเน้นในเรื่องธุรกิจเพลง
แต่เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป RS ได้เริ่มปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์การแข่งขันของโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ เพลง ปรับโมเดลเข้าสู่ “คอมเมิร์ซ” เต็มตัว ทำให้ธุรกิจเพลงเริ่มลดบทบาทลง จนเหลือแค่ธุรกิจอีเวนต์ และเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่ยังมีค่ายเพลงอาร์สยามที่ยังคงแอคทีฟอยู่ค่ายเดียว
จนในปีนี้เรียกว่าเป็นปีที่เหมาะเจาะที่ RS จะปัดฝุ่นธุรกิจเพลง กลับมารุกครั้งใหญ่อีกครั้ง เปิดตัว 3 ค่ายเพลง RoseSound, Kamikaze และ RSIAM ภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ Music Star Commerce เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ศิลปิน และสอดคล้องกับธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปในปัจจุบันที่เน้นในเรื่องคอมเมิร์ซ
เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
“จริงๆ เราไม่เคยหยุดธุรกิจเพลง ไม่เคยหายไป เพลงยังเป็นต้นน้ำ เป็นรากฐานของ RS เพียงแต่มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ปีนี้กลับมารุกอย่างจริงจังมากกว่า ภายใต้โมเดล Music Star Commerce การทำเพลงไม่ใช่เรื่องยาก เราอยู่กับมันมาขนาดนี้ แต่อยู่ที่จังหวะว่าเมื่อไหร่ควรทำมากทำน้อย อยู่ที่การตัดสินใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ อยู่ที่โจทย์ในตอนนั้น”
เฮียฮ้อมองว่า RS Music จะเป็นธุรกิจเพลงยุคใหม่ ที่ได้ปรับให้เข้ากับโมเดลธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปในตอนนี้ มีการจัดโครงสร้างที่เหมาะสม มีทีมงานราว 20-30 คน มี 3 ค่ายเพลง กับ 9 ศิลปินใหม่ ถือว่าเพียงพอ และกำลังมีแผนเพิ่มในอนาคต เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ธุรกิจในตอนนั้น
“แม้ตอนนี้คอมเมิร์ซจะเป็นธุรกิจหลัก แต่ธุรกิจเพลงไม่เคยขาดหายไป เพียงแต่เข้าไปอยู่ในแผนการเติบโตของ Entertainmerce การมาของ RS Music จึงถูกจังหวะ สร้างความท้าทายใหม่ เป็น RS ในยุคใหม่”
โมเดลใหม่ ศิลปินลงทุนเอง ปั้นสตาร์เป็น Business Partner
การเปิดตัว 3 ค่ายเพลง เป็นการเอากลิ่นอายเดิมๆ ของ RS มาปัดฝุ่นใหม่ แถมยังเอาค่ายดั้งเดิมอย่าง RoseSound กลับมาด้วย โดยที่ศิลปินใหม่ 9 คน ก็เป็นหน้าใหม่แกะกล่อง ไม่มีศิลปินเก่าเลย ส่วนแนวเพลงของแต่ละค่าย จะแยกตามไลฟ์สไตล์
– RSIAM (อาร์สยาม) ปรับโฉมค่ายเพลงลูกทุ่ง ให้มีความ Mass Music มีศิลปินใหม่ 1 คน ได้แก่ โฬม อาร์สยาม
– RoseSound (โรสซาวด์) แนวเพลง Trendy Music กับ 4 ศิลปิน ริศา, ติม, ดนุมาร์ค และมิวสิค
– Kamikaze (กามิกาเซ่) แนวเพลง POP Music กับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ GRACY, KKP, UTTER และ FRESHYBII
ในศิลปิน 9 คนนี้ มีการเซ็นสัญญาทั้งหมด 8 ปี ตัวเลข 9 คนนี้เฮียฮ้อมองว่าไม่ได้น้อยไป เพราะไม่ได้มองที่ปริมาณ แต่มองที่ว่าสามารถตอบโจทย์ธุรกิจ และโมเดลได้หรือไม่
โดย RS Music ยุคนี้ก็มาพร้อมกับโมเดลใหม่ นั่นคือ ให้ศิลปินทุกคนลงทุนทำเพลงเอง ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชั่นต่างๆ ทำ Music VDO เสื้อผ้า หน้าผม เพียงแต่ทาง RS จะเป็นผู้บริหารจัดการให้ ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ทำให้ศิลปินมีความเสี่ยงน้อย และทำการตลาดให้ ใช้จุดแข็งจากการเป็นค่ายใหญ่
เฮียฮ้อเล่าว่าถ้าเป็นโมเดลแบบสมัยก่อนที่ทางค่ายลงทุนทำเพลงให้ศิลปิน มีต้นทุนเฉลี่ย 3-5 แสน/เพลง ตอนนี้ก็อยู่ในราคานี้ เพียงแต่ทางศิลปินลงทุนเองทั้งหมด ทางค่ายจะเป็นคนบริหารจัดการ ทำการตลาด แต่ถ้ารวมมูลค่าในการปั้นศิลปินแต่ละคนนั้น เฮียฮ้อบอกว่ามูลค่าหลายล้าน แต่ตอนนี้ใช้แค่ไม่กี่แสนเท่านั้น ทำเพลงแล้วลงโซเชียล มีเดียก็ได้แล้ว
รวมไปถึงศิลปินจะต้องต่อยอดกับโมเดล Music Star Commerce ได้ ในอนาคตอาจจะเชื่อมโยงกับสินค้าของ RS Mall หรือเปิดตัวสินค้า เป็น Business Partner ร่วมกันก็ได้ เพราะศิลปินแต่ละคนมีแพลตฟอร์ม และมีแฟนเพลงเป็นของตัวเอง
“ในอดีตเราจะคุยกันว่าเราจะสร้างศิลปินเป็นนักร้อง ซูเปอร์สตาร์ แต่ตอนนี้เราบอกว่าปลายทางเราต้องการให้เป็น Business Partner กัน อาจจะเป็นนักร้องดังด้วย และมีธุรกิจที่เป็นหุ้นส่วนด้วย”
บอกลาบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป
จะเห็นว่าคาแร็กเตอร์ของศิลปิน RS ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในตำนานยุค 90 หรือค่ายเพลงรุ่นใหม่อย่าง Kamikaze ล้วนมีส่วนประกอบของวงที่เป็นบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ปค่อนข้างเยอะ มีหลายวงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ศิลปินใหม่ของ RS Music ในยุคนี้ไม่มีที่เป็นวงเลย มีแต่ศิลปินเดี่ยว
เมื่อยิงคำถามนี้ เฮียฮ้อได้ให้คำตอบว่า “อยู่ที่โจทย์” ถ้ามีวงบอยแบนด์ หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่สามารถเข้าระบบ และตอบโจทย์โมเดลนี้ได้ ก็อาจจะได้เห็น เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีตรงโจทย์ เลยมีแค่ศิลปินเดี่ยว
เฮียฮ้อได้เล่าถึงหลักการเลือกศิลปินของ RS Music ยุคใหม่เพิ่มเติม ตอนนี้มุมมองจะแตกต่างจากเดิม ไม่ใช่แค่มีความสามารถ แต่ต้องมีไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนด้วย สามารถเป็น Influencer ได้
“หลักการเลือกศิลปินในตอนนี้จะมีความแตกต่างจากเดิมมาก การสร้างศิลปินจะต้องมองมากกว่าที่เคยมอง แต่ก่อนมองแค่ว่ามีความสามารถ การแสดงดี ร้องเพลงดี บุคลิกดี ตอนนี้โมเดลใหม่ต้องเน้นไลฟ์สไตล์ชัดเจน มีตัวตน มีชีวิตส่วนตัวน่าสนใจ เป็นคนอยู่ในโลกโซเชียล เป็น Influencer ได้”
ในส่วนของศิลปินเก่า ตอนนี้ RS ยังมีศิลปินค่าย RSIAM ที่ยังอยู่ในสัญญารวม 20 คน ซึ่งศิลปินเก่าจะกลับมาทำตลาดในมุมของการทำอีเวนต์ และคอนเสิร์ต มากกว่าการทำเพลงใหม่
หวังปั๊มรายได้จากเพลงเติบโตขึ้น
ในเรื่องของรายได้นั้น เฮียฮ้อก็หวังที่จะมีรายได้จากธุรกิจเพลงเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบของการชมในโซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง งานแสดง กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงพรีเซ็นเตอร์
โมเดลการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเพลงจะมี 3 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่
– Music Star Commerce เพลงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง ต่อยอดศิลปินให้เป็น Business Partner
– การบริหาร asset ทั้งหมด อาทิ การฟังเพลงผ่านระบบดิจิทัล การบริหารศิลปินในค่าย การขายลิขสิทธิ์เพลง รวมถึงการจัด event และ concert
– การทำโปรเจกต์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อทำให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ๆ เช่น การทำ Project “RS X JOOX GENERATION JOOX” ที่นำเอาเพลงระดับตำนานของอาร์เอส มาให้ศิลปินที่อยู่ในกระแสปัจจุบันมาตีความ
ปัจจุบันธุรกิจเพลงสร้างรายได้สัดส่วน 7% หรือราวๆ 200 ล้านบาท เฮียฮ้อบอกว่าในยุคหนึ่งที่ธุรกิจเพลงรุ่งเรืองมากๆ เคยมีสัดส่วนรายได้จากเพลงถึง 90%
ต้องจับตาดูว่า โมเดลธุรกิจเพลงยุคใหม่ของ RS จะเวิร์กหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ และ Disrupt วงการเพลง และปรับตัวให้เข้ากับโมเดลธุรกิจของตัวเองให้มากที่สุด