จากโอชินโมเดลสู่ไฟอมตะ

นอกจากจากตัวอักษรในหนังสือ “ผมจะเป็นคนดี” ที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็น ละคร ”ไฟอมตะ” ทางช่อง 9 เพื่อให้ผู้ชมทั่วประเทศรับรู้ได้ในวงกว้าง ความตั้งใจของทั้งวิกรมและเจเอสแอล ยังต้องการให้ละครเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไปในหลายประเทศ ในรูปแบบของ ดีวีดี ทำให้มีการลงทุนถ่ายทำ ด้วยภาพความละเอียดสูง (HD) เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลของการผลิตละครยุคนี้

เนื้อหาของละครอิงชีวประวัติของวิกรม ที่เปิดเผยแง่มุมของชีวิตที่มีด้านมืดและสว่าง ผ่านการต่อสู้ ลองผิดลองถูกกับการใช้ชีวิตมาแล้วทุกรสชาติ กว่าที่จะประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย เจ้าของ “นิคมอุตสาหกรรมอมตะ” มูลค่านับแสนล้าน จนเคยติดอันดันนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุด 40 อันดับแรก จากการจัดอันดับนิตยสาร ฟอร์บส์ เอเชียนมาแล้ว ทำให้ถูกคาดหวัง ละครไฟอมตะ น่าจะเป็นละครที่สามารถส่งออก ไปประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับละคร “สงครามชีวิตโอชิน” ของญี่ปุ่น และแดจังกึมของเกาหลี

สงครามชีวิตโอชิน ดัดแปลงมาจาก เรื่องราวในชีวิตจริงของ คัทสึ วะดะ แม่ของคะซึโอะ วะดะ ผู้ก่อตั้งและประธานห้างสรรพสินค้าเยาฮัน สามารถก่อร่างสร้างตัวจากร้านขายผักสด จนเป็นเจ้าของร้านขายของชำ และขยายกิจการจนเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จทั้งในญี่ปุ่น และยังขยายเปิดสาขาในหลายประเทศ รวมทั้งไทย

ละคร ที่นำเสนอเรื่องราว ที่ให้แง่คิดของชีวิตทั้งสุขและทุกข์ของโอชิน ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของหญิงสาวในยุคนั้น ที่ต้องผ่านความยากลำบากแสนสาหัส ถือกำเนิดมาในครอบครัวชาวนายากจน ตั้งแต่เล็กต้องเป็นลูกจ้างแลกกับข้าว เมื่อมีครอบครัว ยังต้องฟันฝ่ากันทั้งปัญหาชีวิต ต้องเลี้ยงลูก 5 คนตามลำพัง สามีฆ่าตัวตาย ลูกชายคนโตตายในสงคราม แต่ก็ยังถึงแม้จะล้มเหลวกับธุรกิจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ลุกขึ้นมาได้ทุกครั้ง ด้วยจิตใจแน่วแน่ เข้มแข็ง ไม่หวั่นกลัวต่อความล้มเหลว ขณะเดียวกันก็สามารถหาความสุข สงบได้ท่ามกลางความยากลำบาก

ละครเรื่องนี้ยังถ่ายทอด สะท้อนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในอดีต ที่ต้องผ่านประสบการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ตั้งแต่สมัยที่ก่อนสงครามโลก ที่ทหารมีอำนาจปกครอง จนเข้าสู่สงครามรัสเซีย และจีน จนกระทั่งต้องพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำไปสู่การฟื้นฟูประเทศจากการความมุ่งมั่นของคนในประเทศ ที่ร่วมแรงร่วมใจ จนผ่านพ้นความยากลำบาก ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกครั้ง

เรื่องราวรันทดใจ กินใจของคนดูโอชิน ที่ออนแอร์เกือบ 1 ปีเต็ม ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จแต่เพียงแต่ในญี่ปุ่น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ในวงการทีวี ที่มีผู้ชมสูงถึงมากกว่า 50% ของผู้ชมทั้งหมด เป็นสถิติสูงสุดของละครทีวีที่เคยได้มา

โอชินยังแพร่ภาพ 59 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 5 ก็ทำเอาเรตติ้งของช่อง 5 ในช่วงนั้น แรงชนิดที่แซงหน้าละครหลังข่าวของช่อง 3 และช่อง 7 จนต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของช่อง 5 เช่นเดียวกับในอีกหลายประเทศ ที่โอชินกลายเป็นตัวละครที่ผู้ชมทั่วโลกพากันหลงรักและเอาใจช่วย
ต่อมาละครโอชินถูกนำไปต่อยอดในรูปแบบของสื่ออื่น ซึ่งเป็นแนวทางของประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อเนื้อหาของหนังสือ หรือละครเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ จะนำทำให้แพร่หลายได้มากขึ้น ทำเป็นหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์การ์ตูน ละครเวที หรือแม้แต่บทเพลง และแสตมป์

นักการเมืองของญี่ปุ่นถึงกับนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจ โดยอิงกับวิธีคิดของโอชิน ที่มีทั้งความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ เข้าใจหลักการตลาด การใช้ชีวิตมัธยัสถ์ของโอชิน ที่แม้ประสบความสำเร็จเพียงใด แต่มีการตั้งข้อสังเกตมีหลักการและรายละเอียดใกล้เคียงกับเศรษฐกิจแบบพอเพียงของไทย

โอชินเอฟเฟกต์ ยังโด่งดังไปทั่วโลก ถึงขนาดที่เคยถูกเลือกจากนิตยสาร TIMES ให้เป็นผู้หญิงแห่งปี และเป็นบุคคลที่สมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรแนล เรแกน ไปเยือนญี่ปุ่น ผู้แสดงเป็นโอชิน คือผู้ที่อดีตประธานาธิบดีอยากพบมากที่สุดคนหนึ่ง

ความสำเร็จของโอชินโมเดลนี้เอง เป็นเสมือนแรงบันดาลใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งวิกรม และเจเอสแอล ตั้งความหวังไว้ว่า เรื่องราวของชีวิตที่ยิ่งกว่าละครของวิกรม ซึ่งสะท้อนเรื่องราวชีวิต การต่อสู้ ทั้งร้ายและดี ผ่านความยากลำบาก ตั้งตัวจากเงินไม่กี่บาท จนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจมาด้วยความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ รวมถึงการเลือกใช้ชีวิตที่สมถะ ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ป่า เขา แต่ยังคงขับรถราคาแพง ความชอบ และกำลังซื้อที่มีอยู่ แม้จะดูขัดแย้ง แต่กลับให้แง่คิดอีกด้าน ที่สะท้อนภาพการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในอีกแง่มุมหนึ่ง