“เทคสตาร์ทอัพ” เป็นธุรกิจและวิธีลงทุนแบบใหม่ของโลก จนทำให้หลายเมืองปั้นตนเองให้มีระบบนิเวศเอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพ ที่ผ่านมาแหล่งดึงดูดใหญ่ๆ จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ของจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่ในระยะหลัง เมืองอื่นของโลกก็ต้องการส่วนแบ่งจากตลาดนี้บ้าง จึงพยายามสร้างจุดเด่นดึงการลงทุนและบรรดาบุคลากรหัวกะทิด้านเทคโนโลยีเข้ามาอยู่อาศัย เกิดเป็น 8 เมืองดาวรุ่งเหล่านี้
Savills บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เริ่มศึกษาและรายงานเมืองที่โดดเด่นด้านการลงทุนของกลุ่มเทคสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ปี 2015 จนปัจจุบันการลงทุนกลุ่มนี้แพร่หลายออกไปทั่วโลก และทำให้หลายเมืองได้รับอานิสงส์ของการลงทุน โดยปี 2020 บริษัทจัดทำรายงานแบ่งเมืองแหล่งเทคสตาร์ทอัพออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มหานครแห่งเทคโนโลยี, เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคโนโลยี และ เมืองดาวรุ่งด้านเทคโนโลยี
สองกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่มีตัวตนบนแผนที่โลกในฐานะศูนย์รวมเทคสตาร์ทอัพอยู่แล้ว โดยข้อแตกต่างของ “มหานคร” กับ “เมืองไลฟ์สไตล์” คือกลุ่มมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกิน 5 ล้านคน และเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนเมืองแห่งไลฟ์สไตล์นั้นเป็นเมืองขนาดเล็กกว่า 5 ล้านคน ดึงดูดเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปิตอลได้น้อยกว่า แต่ไลฟ์สไตล์เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตของชาวเทคมากกว่า
มหานครแห่งเทคฯ นั้น Savills ประเมินไว้ 16 แห่งทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้
– อเมริกาเหนือ : ลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก, ซานฟรานซิสโก, โตรอนโต
– ยุโรป : ลอนดอน, ปารีส
– จีน : ปักกิ่ง, เฉิงตู, หางโจว, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, เสิ่นเจิ้น
– เอเชีย : บังกาลอร์, โซล, สิงคโปร์, โตเกียว
ด้าน เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคฯ ประเมินไว้ 12 แห่งทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้
– อเมริกาเหนือ : ออสติน, บอสตัน, เดนเวอร์, ซีแอตเทิล
– ยุโรป : อัมสเตอร์ดัม, บาร์เซโลนา, เบอร์ลิน, โคเปนเฮเกน, ดับลิน, สตอล์กโฮม
– ตะวันออกกลาง : เทลอาวีฟ
– เอเชีย : เมลเบิร์น
ในขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือ “เมืองดาวรุ่ง” เป็นเมืองที่น่าจับตามองของปี 2020 คู่แข่งใหม่ในตลาดโลกเหล่านี้เริ่มได้รับความสนใจจากโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ปูทางมาตลอด และอีกส่วนหนึ่งคือการระบาดของ COVID-19 ทำให้เหล่าหัวกะทิเทคโนโลยีเริ่มมองหาเมืองที่ประชากรหนาแน่นน้อยลงและดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองใหญ่ด้วย ติดตามข้อมูลได้ด้านล่าง
8 เมืองดาวรุ่ง แหล่งดึงดูด “เทคสตาร์ทอัพ” แห่งปี 2020
1.ดีทรอยต์, สหรัฐอเมริกา
เมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ แห่งนี้กำลังร้างผู้คน เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เองกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ทำให้ดีทรอยต์ต้องเปลี่ยนจุดยืนตัวเองใหม่จาก “เมืองแห่งรถยนต์” เป็น “เมืองแห่งการเดินทาง” โดยปรับตัวเองมามุ่งเน้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง
ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่เข้ามาลงทุนทั้ง Fiat-Chrysler, Google, GM, Ford และ Lyft จนถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง เช่น Rivian ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของที่นี่ปรับไปมีเทคโนโลยีเป็นแกนกลางแทนได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ดีทรอยต์เป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำของสหรัฐฯ ทำให้เมืองสามารถให้ไลฟ์สไตล์ที่ราคาถูกกว่าเมืองชายฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกของประเทศ ดีทรอยต์ยังติดอันดับ 6 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด” ด้วย โดยการจัดอันดับดังกล่าวของ Savills วัดจากดัชนีคุณภาพชีวิตคนสายเทค 6 ประการคือ ราคาเบอร์เกอร์วีแกนกับกาแฟแฟลตไวท์, ราคา MacBook Pro, ราคารองเท้ากีฬาทั่วไปกับหูฟังไร้สายแบบพรีเมียม, ความเร็วอินเทอร์เน็ต, ราคาโต๊ะทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ และคุณภาพอากาศ
2.โยโกฮาม่า, ญี่ปุ่น
หนึ่งเดียวจากเอเชียที่ติดผลสำรวจนี้ โยโกฮาม่าเป็นเมืองท่าแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่นที่เปิดรับการค้าระหว่างประเทศในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของญี่ปุ่นมานานกว่า 150 ปี ในหลายปีที่ผ่านมา โยโกฮาม่าสามารถดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศและการย้ายฐานบริษัทได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำเลที่เข้าโตเกียวสะดวกและการเป็นแหล่งแรงงานฝีมือ
ในที่สุด โยโกฮาม่าประกาศตนเองเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาแห่งทวีปเอเชีย โดยมีบริษัทใหญ่มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแล้ว คือ Apple, Lenovo, Samsung, Huawei และ LG ทำให้เมืองยิ่งติดสปีดการเป็นเมืองเทคโนโลยีระดับโลก โดยมีแรงหนุนคือการเป็นเมืองท่าส่งออกของประเทศ
สำหรับผู้อยู่อาศัย ค่าครองชีพของโยโกฮาม่าต่ำกว่าโตเกียว และมีประชากรหนาแน่นน้อยกว่า ทำให้น่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
3.ทาลลินน์, เอสโตเนีย
ยุคแห่งยุโรปตะวันออกต้องมีเอสโตเนียเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่รัฐบาลอื่นทั่วโลกต้องหัวหมุนกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานและเชื่อมโยงกับประชาชนของตน แต่ภาครัฐของเอสโตเนียสามารถนำกิจกรรมของรัฐถึง 99% มาอยู่บนออนไลน์ได้ทั้งหมด (เหลือเพียงการสมรส-หย่าร้าง และซื้อขายอสังหาฯ ที่ต้องไปติดต่อสำนักงาน)
ประเทศนี้ยังมีการออกโปรแกรม e-Residency เมื่อปี 2014 เพื่อให้ใครๆ ก็เป็นประชากรเอสโตเนียแบบข้ามโลกเสมือนจริงได้ ปลดล็อกให้คุณสามารถตั้งบริษัทในเอสโตเนียได้โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ที่เอสโตเนียเลย ต่อมาเอสโตเนียยังออกวีซ่าสำหรับดิจิทัล โนแมดโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มคนทำงานระยะไกลกลุ่มนี้สามารถมาทำงานพร้อมใช้ชีวิตได้ในเอสโตเนียเป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี
สิ่งแวดล้อมด้านเทคโนโลยีของภาครัฐและวิถีชีวิตคน ทำให้ทาลลินน์ เมืองหลวงของประเทศแห่งนี้เป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันมีหน่วยงานยักษ์ใหญ่ที่เข้าไปตั้งศูนย์ในทาลลินน์แล้วคือ หน่วยงานความร่วมมือด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศของ NATO
4.วิลนีอุส, ลิทัวเนีย
อีกหนึ่งประเทศยุโรปตะวันออกที่ตีคู่มากับเอสโตเนีย ชื่อของประเทศลิทัวเนียอาจจะไม่ค่อยคุ้นในแผนที่โลก แต่จริงๆ แล้วนี่คือผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และฟินเทค ลิทัวเนียมีสตาร์ทอัพกว่า 1,000 บริษัท และฟินเทคอีกกว่า 200 บริษัท สตาร์ทอัพดังด้านเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Revolut และ Google Payments มีสำนักงานของบริษัทอยู่ในวิลนีอุส และ ศูนย์บล็อกเชนแห่งยุโรป ที่เปิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ก็ตั้งขึ้นที่เมืองนี้
เช่นเดียวกับเอสโตเนีย ลิทัวเนียก็ออกวีซ่าสำหรับคนทำงานในสตาร์ทอัพเหมือนกัน เพื่อดึงดูดคนจากประเทศ non-EU ทั้งหลายให้มาลงหลักปักฐานที่นี่
5.ไอนด์โฮเว่น, เนเธอร์แลนด์
เมืองที่ท้าชิงตำแหน่งกับอัมสเตอร์ดัม เป็นที่ตั้งของย่าน Brainport พื้นที่ที่ถูกสนับสนุนให้เป็นแหล่งยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างบริษัทเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา
รวมถึงเป็นที่ตั้งของ High Tech Campus แหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนาของสารพัดบริษัทจากทั่วโลก เริ่มต้นจาก Philips เป็นบริษัทแรกที่มาลงทุน จนปัจจุบันมีมากกว่า 220 บริษัทในพื้นที่ รวมนักวิจัยมากกว่า 12,000 คน
ทำให้ High Tech Campus ประกาศตัวเองว่าเป็นพื้นที่ “ตารางกิโลเมตรที่อัจฉริยะที่สุดในยุโรป”
เมืองไอนด์โฮเว่นยังติดอันดับ 2 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด” โดยเป็นสวรรค์ของคนรักการขี่จักรยาน ด้วยทางจักรยานทั่วเมืองและมีทางจักรยานลอยฟ้าด้วย
6.แมนเชสเตอร์, สหราชอาณาจักร
ไม่มีใครที่ไม่รู้จักแมนเชสเตอร์ ด้วยตำนานลูกหนังของสโมสรดังทั้งสองแห่ง แต่นั่นไม่ใช่จุดขายเดียวของแมนเชสเตอร์ เมืองนี้เป็นแหล่งรวมบริษัทเทคทั้งบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Google, Microsoft, IBM และ Cisco รวมถึงบริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพรวมมากกว่า 10,000 แห่ง
แมนเชสเตอร์เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยติดอันดับโลกถึง 3 แห่ง ทำให้มีบุคลากรชั้นนำรองรับภาคธุรกิจ และทำให้มีความร่วมมือระหว่างเอกชนกับสถาบันการศึกษาได้ง่าย
เมืองนี้ยังเป็นเมืองหัวก้าวหน้าของประเทศ โดยตั้งเป้าจะเป็นเมืองปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2038 เร็วกว่าเป้าหมายของทั้งประเทศถึง 12 ปี และยังมีแผนสร้างทางเดินและทางจักรยานรวมระยะทาง 1,800 ไมล์ในเมือง
7.โบโกตา, โคลอมเบีย
ดังที่เห็นว่าทวีปอเมริกาใต้ยังไม่เคยมีศูนย์รวมเทคสตาร์ทอัพเลย ทำให้โบโกตา เมืองหลวงโคลอมเบียมีสิทธิ์สูงมากที่จะได้เป็นแห่งแรก ในเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โบโกตากระโดดขึ้นมาถึง 200 อันดับเมื่อมีการจัดอันดับเมืองที่ดึงดูดเงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลได้มากที่สุด
เนื่องจากรัฐบาลโคลอมเบียลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยมีการให้แรงจูงใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง และมีโปรแกรมเทรนนิ่งพนักงาน พร้อมกับสร้างแหล่งข้อมูลสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคให้เข้ามาลงทุนที่โคลอมเบีย
พื้นฐานด้านพฤติกรรมประชากรยังมีส่วนช่วยให้โบโกตาโตอย่างก้าวกระโดด EY สำรวจเมื่อปี 2019 พบว่า ชาวโคลอมเบียมีอัตราการเปลี่ยนไปใช้บริการฟินเทคสูงที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยประชากรสัดส่วน 76% จะมีการใช้บริการฟินเทคอย่างน้อยหนึ่งอย่าง
ตัวเมืองโบโกตาเองก็ถือเป็นเมืองที่อยู่อาศัยได้ดีพอควร เป็นเมืองทางเดินดี เข้าถึงสวนสาธารณะง่าย และอยู่ในอันดับ 11 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด”
8.เคปทาวน์, แอฟริกาใต้
เช่นเดียวกับละตินอเมริกา ทวีปแอฟริกาก็ยังไม่มีแหล่งเทคสตาร์ทอัพ แต่เคปทาวน์กำลังจะมาคว้าตำแหน่งนี้ เคปทาวน์เป็นศูนย์รวมสถาบันการเงินในแอฟริกาอยู่แล้ว ทำให้เหล่าฟินเทคจะมาใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ รวมถึงสตาร์ทอัพสายอื่นก็เข้ามาลงทุนดึงเม็ดเงินจากเวนเจอร์ แคปิตอลให้เพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2016-2019 เงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลสู่เคปทาวน์เพิ่มขึ้น 147%
โครงสร้างพื้นฐานเมืองค่อนข้างมีเสน่ห์กับชาวเทคด้วย ด้วยที่ตั้งของเคปทาวน์ขนาบด้วยภูเขาและทะเลอย่างสวยงาม มาพร้อมกับค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองเทคใดๆ ในโลก ทำให้เป็นจุดดึงดูดคนดิจิทัลเข้ามาหา