วัฒนธรรม “สตรีทฟู้ด” ในสิงคโปร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก”

street food singapore
Photo : Shutterstock
วัฒนธรรมการกินอาหารข้างทางในสิงคโปร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ยื่นเรื่องเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน

ยูเนสโกประกาศเมื่อค่ำวันพุธที่ 16 ธ.ค. ว่าได้เพิ่มวัฒนธรรมการกินอาหารริมทางของชาวสิงคโปร์ลงในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ซึ่งถือวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแรกของสิงคโปร์ที่ได้รับสถานะมรดกโลก เช่นเดียวกับ “โยคะ” ของอินเดีย และการหมักเบียร์ของชาวเบลเยียม

ก่อนหน้านี้ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (Singapore Botanic Gardens) ซึ่งมีอายุถึง 161 ปีก็ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งแรกของประเทศเมื่อปี 2015 และยังถือเป็นสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนแห่งแรกที่ได้รับสถานะดังกล่าว

เอ็ดวิน ตง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม, ชุมชน และเยาวชนสิงคโปร์ ได้เผยแพร่คลิปคำแถลงหลังจากที่ทราบผลการประกาศมรดกโลกจากยูเนสโกว่า “วัฒนธรรมการกินอาหารริมทางคือความภาคภูมิใจของสิงคโปร์และชาวสิงคโปร์ทุกคน มันสะท้อนให้เห็นถึงมรดกด้านวิถีชีวิตและความเป็นพหุวัฒนธรรม และยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวสิงคโปร์ทุกคนโดยไม่จำกัดอายุ เชื้อชาติ หรือภูมิหลัง”

street food singapore2
Photo : Shutterstock

ศูนย์อาหารริมทางเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวมผู้ค้าอาหารแผงลอย ตามนโยบายจัดระเบียบเมืองในช่วงทศวรรษ 1970 และนอกจากจะมีอาหารหลากหลายให้เลือกรับประทานในราคาที่ไม่แพงแล้ว ยังเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของชาวสิงคโปร์ด้วย

“ศูนย์อาหารเหล่านี้ถือเป็นห้องอาหารชุมชนที่คนจากต่างพื้นเพได้มานั่งรวมกัน และแชร์ประสบการณ์การกินอาหารทั้งในเวลาเช้า สาย บ่าย ค่ำ” ยูเนสโก ระบุ

เชฟชื่อดังอย่าง แอนโธนี บอร์เดน และ กอร์ดอน แรมซีย์ ต่างเคยไปเยือนศูนย์อาหารริมทางในสิงคโปร์เพื่อลิ้มลองสตรีทฟู้ดชื่อดังอย่างข้าวมันไก่ และมันยังถูกใช้เป็นฉากในภาพยนตร์ดังของฮอลลีวูด Crazy Rich Asians ที่เข้าฉายเมื่อปี 2018 ด้วย

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมอาหารริมทางในสิงคโปร์ก็กำลังเผชิญบริบทที่ท้าทาย เนื่องจากผู้ค้าส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี ในขณะที่คนหนุ่มสาวก็นิยมหางานในออฟฟิศทำมากกว่า นอกจากนี้ COVID-19 ยังมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการศูนย์อาหารเหล่านี้น้อยลง แม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังต้องงดกินอาหารนอกบ้านในช่วงที่มีประกาศล็อกดาวน์

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะต้องรายงานต่อยูเนสโกทุกๆ 6 ปี เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับมรดกโลก และแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อปกป้องและส่งเสริมวัฒนธรรมการกินอาหารข้างทางเอาไว้

Source