IKEA แม่เหล็กใหม่ ค้าปลีกไทย

เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วกับ IKEA แห่งแรกในประเทศไทย ที่พร้อมลงเสาเข็มและเริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน 2553 นี้

Big Box ทั้งบิ๊กซี โฮมโปร เมเจอร์ฯ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเลือกเปิดที่ Mega Bangna โครงการของสยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมี IKEA เป็นธงนำ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วศูนย์การค้านี้ ก็ไม่ต่างจากศูนย์การค้าชานเมืองทั่วๆ ไป ที่ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นและดึงดูดนักช้อปในรัศมี 120 กิโลเมตรได้นอกเหนือจากพื้นที่ขนาดใหญ่

พฤศจิกายน 2554 คือฤกษ์เปิด IKEA สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ขณะที่ ทอม ฮูเซล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิคาโน่ จำกัด บอกว่า “ภายใน 10 ปีจะเปิด IKEA อีก 2 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพฯตะวันตก และกรุงเทพฯ ตอนเหนือโดยในไทยจะโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น โดยจะเป็นรูปแบบ Cluster เช่นเดียวกับ Mega Bangna แต่อาจมีขนาดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่”

แน่นอนว่า หากเปิดตัวโครงการใหม่เมื่อไหร่ IKEA จะเป็นพลังแม่เหล็กดึงดูดผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ อีกครั้งอย่างแน่นอน และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมการกำเนิดของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านจากสวีเดนแห่งนี้จึงสร้างความสั่นสะเทือนให้วงการค้าปลีกไทย

การเกาะเกี่ยวไปกับ IKEA อย่างน้อยๆ ก็ได้อานิสงส์จากทราฟฟิกซึ่งคาดว่าจะมีราว 5 ล้านคนต่อปี
โดย IKEA จัดเป็น Trend Setter เฟอร์นิเจอร์โลกเช่นเดียวกับแบรนด์ที่เป็น High Design, Affordable Price ทั้งหลายที่มักใช้กลยุทธ์ Brand Collaboration

แม้คุณสมบัติ “ราคาถูกแต่ไม่ลุคชีพ” จะทำให้ IKEA สามารถเข้าถึงมวลชนได้เป็นอย่างดี แต่ก็ทำให้มีคำพูดเหน็บแนมว่า IKEA คือนิยามของคำว่า “สวยซ้ำ” เช่นเดียวกับ H&M แบรนด์สวีเดนที่เผชิญคำครหาเดียวกัน

ในประเทศอื่น IKEA โดนใจ Blue Collar มาก แต่ในไทยดูเหมือนว่าบรรดา White Collar จะตื่นตัวเป็นพิเศษ ขณะที่ IKEA เองก็ต้องเร่งจุดกระแส D.I.Y. ให้มากขึ้นในหมู่นักช้อปชาวไทยด้วย

“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเชื่อว่า D.I.Y. จะเกิดได้เพราะหลายคนมองว่าคนทั้งโลกรักสบาย แต่ความสำเร็จของ IKEA ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และสนุกกับการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ด้วยตนเอง”

ย้อนประวัติศาสตร์ IKEA ใน 50 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีแต่ Success Story ในช่วงแรกของการเข้าสู่ตลาดต้องเรียกว่าล้มลุกคลุกคลานกับการปลุกปั้นกระแสที่แหวกแนวและไม่เคยมีมาก่อนในตลาดให้ผู้บริโภคยอมรับให้ได้โดยเฉพาะ D.I.Y. ที่กลายเป็นจุดขายที่ชัดเจน และนี่คือความท้าทายอีกครั้งของ IKEA ในประเทศไทย

    จุดแข็งของ IKEA

  • ดีไซน์ดูดี ฟังก์ชันใช้ได้ แต่ราคาสบายกระเป๋า เป็นกรณีศึกษาขั้นเทพของ The Economics of Design
  • D.I.Y. ทำให้ทำราคาต่ำได้กว่าคู่แข่งราว 10-15% ถึงกับมีก๊อบปี้ที่ว่า We’re MAD about LOW Prices เลยทีเดียว
  • Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และในยุโรปมีรถไฟเป็นของตัวเองในการขนส่งสินค้าตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ลดต้นทุนได้มาก ขณะที่ผู้เล่นท้องถิ่นอย่าง Index และ SB Furniture คงต้องเคี่ยวกรำกับ Supply Chain มากขึ้น เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของหัวใจ IKEA ที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาทั่วโลก
  • ความหลากหลายของสินค้ามีตั้งแต่สินค้าราคา 10 บาทถึงหลักหมื่นบาท ใน 20 Category โดยปัจจุบันยังไม่มีวอลเปเปอร์และสีทาบ้าน แต่ในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของผู้บริโภค
  • ที่จอดรถกว้างขวาง อยู่บนลานจอดรถกว้างๆ ชั้นเดียว ไม่ต้องขับวนไปจอดในแต่ละชั้น ตอบโจทย์เรื่องความสะดวก
  • การเปิดสาขาในแต่ละเมือง แต่ละประเทศไม่ต้องมีมาก เพราะ IKEA เป็นแม่เหล็ก เป็นเหมือน Tourist Destination ไกลแค่ไหน นอกเมืองตั้งอยู่โดดเดี่ยวก็มีคนถ่อสังขารไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วทุกที่ทั่วโลก