มอง ‘ท่องเที่ยวไทย’ ปี 2021 ยังเหนื่อย คนเที่ยวน้อย-ใช้จ่ายลด เเข่ง ‘เเย่งลูกค้า’ ดุเดือด

Photo : Shutterstock

ธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องกัดฟันสู้กันอีกยาว ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เจอระบาดรอบใหม่ซ้ำเติม ต้องล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวลดลง เเต่ผู้ประกอบการต้องเเข่งขัน “เเย่งลูกค้า” กันรุนเเรงขึ้น 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทย ในช่วงที่ผ่านมา มีการทยอยฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง แต่ทั้งจำนวนและรายได้ ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า

อีกทั้งการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมายังไม่ทั่วถึงโดยจังหวัดที่คนไทยนิยมท่องเที่ยวอยู่แล้ว ในอดีตก็ยังเป็นกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า

คนไทยเที่ยวน้อยลง จ่ายน้อยลง

โดยล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเดือนตุลาคม ยังต่ำกว่าในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าถึง -34.5% (หดตัวน้อยลงจาก -38.1% ในไตรมาส 3)

ขณะที่รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวคนไทยก็ต่ำกว่าอยู่ถึง -49.2% (หดตัวน้อยลงจาก -57.2% ในไตรมาส 3) ซึ่งการที่รายได้ มีการหดตัวมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวนั้น หมายความว่า นอกจากคนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงแล้ว ยังใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยลดลงอีกด้วย

จากข้อมูลการสำรวจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.9% ต่อปี แม้การใช้จ่ายในภาพรวมจะชะลอลง -0.5% ต่อปี การเข้ามาของโรคระบาดจึงเป็นการสะดุดลงของแนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวของคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

Photo : Shutterstock

แม้จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเดือนตุลาคม แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยมากเพียง 1,201 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียง 0.04% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมในเดือนเดียวกันของปีก่อน

EIC คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 
จะอยู่ที่ราว 8.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง

เราเที่ยวด้วยกัน “ดี” เเต่ยังไม่ทั่วถึง 

ในภาวะที่ซบเซานี้ การมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถือว่ามีส่วนช่วยภาคการท่องเที่ยวในประเทศ โดย ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้ว 6.4 ล้านคน และมีผู้ใช้สิทธิ์จองที่พัก
ที่ชำระเงินแล้วจำนวน 4 ล้านสิทธิ์ จาก 5 ล้านสิทธิ์ คิดเป็นมูลค่าห้องพักที่จอง 10,961 ล้านบาท

“การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศมีลักษณะที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งจังหวัดที่มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยมักเป็นจังหวัดยอดนิยม
ของคนไทยอยู่แล้ว” 

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม (ข้อมูลล่าสุด) จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเฉลี่ย
หดตัวที่ -37.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

EIC มองว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศยังไม่ครอบคลุม โดยจังหวัดที่มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยมักเป็นจังหวัดยอดนิยม เช่น เชียงใหม่ เพชรบุรี ชลบุรี ฯลฯ

โดยในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ทิศทางการฟื้นตัวของจังหวัดท่องเที่ยวที่ “ไกลจากกรุงเทพฯ” เริ่มปรับดีขึ้น หลังนักท่องเที่ยว
เริ่มมีความเชื่อมั่นในการโดยสารด้วยเครื่องบินมากขึ้น โดยมองว่า ต้นไตรมาสที่ 4 เห็นทิศทางการฟื้นตัวของจังหวัดท่องเที่ยวที่ไกลจากกรุงเทพฯ เริ่มปรับดีขึ้น

ส่วนกรณี “สมุทรสาคร” ส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวช่วงปลายปี และกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการควบคุมโรคของภาครัฐเริ่มลดลง ซึ่งหลายส่วนประกาศงดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปลายปี เเละการพบผู้ติดเชื้อที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดอาจส่งผลให้ประชาชนบางส่วนตัดสินใจเลื่อนทริปท่องเที่ยวช่วงปลายปี จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดในสถานที่ต่างๆ และการขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบินและการขนส่งสาธารณะภาคพื้นดิน

ที่มา : SCB EIC

จับตา “ท่องเที่ยวไทย” ปีหน้า 

EIC มองว่าธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ในปี 2564 ยังมีอีกหลายความท้าทาย ตามปัจจัยต่อไปนี้

  • ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 

ประเมินว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างและเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 “ไทยน่าจะมีการเริ่มฉีดในช่วงกลางปีหน้า และจะเข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่
ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565”

EIC มองว่า ถึงแม้จะต้องใช้เวลา
อีกระยะหนึ่งกว่าที่ไทยจะได้รับวัคซีน แต่ภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวก็ควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงแก่บุคลากร
ภาคการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนและสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการวางระบบตรวจสอบข้อมูล
ด้านสุขอนามัย และข้อมูลการฉีดวัคซีนที่อาจจำเป็นมากขึ้นในการท่องเที่ยวในช่วงหลังจากนี้

  • กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่ซบเซา

เป็นปัจจัยที่เกิดจากผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการประคับประคองการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปอีกระยะหนึ่ง 
การขยายระยะเวลาของ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวใหม่ ๆ จึงมีส่วนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงต้นปีหน้า ภายใต้สมมติฐานว่า ไทยจะสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่นี้ได้

  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว 

ต้องระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยที่เพิ่มมากขึ้น การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด การมองหาโปรโมชันที่จูงใจ คุ้มค่ากับราคาในภาวะที่กำลังซื้อมีจำกัด

  • การแข่งขันระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกันที่รุนแรงมากขึ้น

เกิดการเเข่งขันดุเดือด ทั้งในด้านการลดราคาและการนำเสนอโปรโมชัน
จูงใจต่าง ๆ ที่น่าจะยังมีอยู่ต่อไปในภาวะที่อุปสงค์การเข้าพักต่ำลงจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่อุปทานห้องพักมีเท่าเดิม จนกว่าจะเริ่มมีปัจจัยสนับสนุนด้านความต้องการเข้าพักจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา

อ่านเพิ่มเติม : Travel Bubble ความหวังใหม่กระตุ้นท่องเที่ยว “ฮ่องกง-สิงคโปร์” สะดุด ต้องเลื่อนยาวไป “ปีหน้า”