เปิดมุม ‘Startup’ เมืองไทยที่ไม่ ‘Happy Ending’ เหมือนซีรีส์ ยิ่งยุคโควิดโอกาสรอดยิ่ง ‘น้อย’

หากพูดถึง ‘สตาร์ทอัพ’ หลายคนอาจจะไปนึกถึงซีรีส์เกาหลีที่ฮิตไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับวงการสตาร์ทอัพไทยในปีที่ผ่านมาที่ต้องเจอกับ COVID-19 เลยกลายเป็นปีที่ไม่สดใสเหมือนกับซีรีส์สักเท่าไหร่ ซึ่งทาง ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชิญ 3 กูรูในวงการ ได้แก่ กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมิตี้, ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด และ ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Start-ups ร่วมเสวนาในหัวข้อ Building Thailand’s first Unicorn: the technology powering the nation’s startup innovation

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

COVID-19 ทำให้ Seed เข้าถึงเงินลงทุนยากขึ้น

เริ่มต้นจาก ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Start-ups เล่าว่า แม้อีโคซิสเต็มส์ของไทยด้านสตาร์ทอัพจะเดินช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนจริง แต่ยังเดินอย่างแข็งแรงเพราะมีพื้นฐานที่ดี ทำให้มีสตาร์ทอัพเพียง 15% ที่ล้มหายไป ขณะที่ 60% สามารถระดมทุนได้แต่อยู่ในสภาวะ ‘ซอมบี้’ คืออยู่ได้เรื่อย ๆ ยังไม่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ดังนั้น อาจต้องหาแนวทางในการช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าจำนวนดีลที่ลงทุนในสตาร์ทอัพมีน้อยลง โดยเฉพาะในระดับ Seed หรือเริ่มต้น เนื่องจากการเดินทางที่ยาก ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเดินทางมทาเจอกับสตาร์ทอัพได้ จึงต้องชะลอไว้ก่อน แต่ก็ยังมีการลงทุนในรายใหญ่ ๆ ระดับซีรีส์ B-C แสดงให้เห็นว่าสตาร์ทอัพเหล่านั้นมีศักยภาพ

“การระดมทุนมันยากขึ้น VC ก็มีความกลัว เพราะปกติต้องคาดการณ์ไกล ๆ 3-5 ปีว่าจะเป็นอย่างไร แต่มี COVID-19 ทำให้ต้องกลั่นกรองมากขึ้น อย่าง 500 Start-ups จากปกติลงทุน 1 ดีล/เดือน แต่ COVID-19 มาทำให้ 6 เดือนก็ยังไม่มีซักดีล ดังนั้น นี่เป็นอีกความท้าทายของสตาร์ทอัพไทย โดยอาจต้องพึ่ง Angel Investor แทน แต่ต้องอยู่ในเทรนด์ ในตลาดที่ถูกต้อง

ยุค COVID-19 ต้องรอดด้วยตัวเอง

เนื่องจาก COVID-19 ที่ทำให้หลายดีลที่ถูกชะลอการลงทุน เพราะนักลงทุนรอดูสถานการณ์ ดังนั้น สตาร์ทอัพต้องเปลี่ยนแนวคิดจากที่ไม่เน้นทำกำไร เน้นสร้างการโตและเรสฟันด์เอาต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องทำรายได้อย่างแท้จริงเพื่ออยู่รอด ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ยากลำบากมากของสตาร์ทอัพ แน่นอนว่ามีทั้งธุรกิจที่โชคดีกับโชคร้าย โดยมีสตาร์ทอัพบางรายที่ต้องอยู่โหมดจำศีลหรือเลิกกิจการไป โดยเฉพาะที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวหรือเกี่ยวกับการออกนอกบ้าน แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่โชคดีทำให้โตเร็วขึ้น

“เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ วงการสตาร์ทอัพตอนนี้ต้องฝึกความอดทน ไม่ใช่เรื่องน่าอายหากไปทำอย่างอื่นชั่วคราวหรือปิดถาวรไปเลย เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างธุรกิจ” ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม เพราะตอนนี้มีเครื่องมือเสริมที่ช่วยให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น อย่าง AWS ก็มีโปรแกรม AWS Activate นำเสนอเครื่องมือ ทรัพยากร และอื่น ๆ ที่ช่วยให้เริ่มใช้งาน AWS สำหรับสตาร์ทอัพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น คนเลยมาเป็นเจ้าของธุรกิจได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องโฟกัสที่ ‘โปรดักต์’ ให้เหนือกว่าคู่แข่งได้มากที่สุด

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด

องค์กรใหญ่แข็งแกร่งเกินไป

กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมิตี้ ยอมรับว่า อีกหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการเกิดสตาร์ทอัพไทยก็คือ องค์กรใหญ่ ‘แข็งแกร่ง’ เกินไป โดยที่ผ่านมามีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อปรับตัวอย่างเร็วมาก อาทิ ธนาคารที่ปรับตัวเร็วมาก จึงเป็นเรื่องยากขึ้นที่จะมีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา

ขณะที่ ปารดา เสริมว่า เทรนด์ขององค์กรก็เริ่มเลือกที่จะไม่ลงทุนในสตาร์ทอัพหรือสร้างโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพแล้ว เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากทำแล้ว ‘ไม่ตอบโจทย์’ องค์กร ดังนั้นจึงหันมาทำยูนิตย่อยของตัวเองดีกว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าองค์กรยังต้องการสตาร์ทอัพมาตอบโจทย์ดีมานด์ของเขา ดังนั้นยังมีโอกาสอีกมากที่จะเป็นพาร์ตเนอร์หรือปลั๊กอินกับองค์กรใหญ่ ๆ ได้

Dtac Accelerrate อดีตโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของดีแทค

ติดกับดัก Mind Set จึงเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ยาก

แน่นอนว่าสูตรการเป็น ‘ยูนิคอร์น’ หรือบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ ยอด ระบุว่า หากพิจารณาจากยูนิคอร์นที่เกิดในภูมิภาคจะพบว่ามี 3 ปัจจัย 1. มาร์เก็ตไซส์ที่ใหญ่พอ อย่างประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน ดังนั้น แค่ไซส์ของประเทศก็ทำเป็นยูนิคอร์นได้ด้วยตัวเอง 2. โมเดลเป็นแบบ B2C เนื่องจากมีจำนวนการใช้งานมากกว่า B2B แน่นอน และ 3. ต้องสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภคมากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้งาน

“อีกหนึ่งปัญหาของสตาร์ทอัพไทยก็คือ ‘Mind Set’ ที่ไม่คิดไปไกลกว่าประเทศไทยตั้งแต่แรก ไม่เหมือนสิงคโปร์กับมาเลเซียที่คิดไประดับภูมิภาคตั้งแต่แรกเพราะประเทศเขาเล็ก ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ทอัพไทยจึงไม่สูงตั้งแต่ต้น”

ด้าน กรวัฒน์ เห็นด้วยว่าการเป็นสตาร์ทอัพที่เจาะตลาด B2B มีโอกาสเป็นยูนิคอร์นยาก เพราะมูลค่าการใช้จ่ายขององค์กรของอาเซียนน้อยกว่า ‘อังกฤษ’ ประเทศเดียวด้วยซ้ำ ดังนั้นต้องโฟกัสที่ ‘ตลาดโลก’ ไปเลย และจากที่ศึกษาการเติบโตของสตาร์ทอัพในกลุ่ม B2B ที่ประสบความสำเร็จพบว่าต้องเป็น The Best ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเลย ตัวอย่างเช่น ‘Zoom’ ที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แต่ประสบความสำเร็จกว่าผู้เล่นอื่น ๆ เพราะ ทำได้ดีกว่าทุกคน แม้จะนิดเดียวแต่ก็สร้างการเติบโตได้มหาศาล

ถึงเวลา Re-Think เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

กรวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า แม้ปีที่ผ่านมาจะเป็นปีที่ยากของสตาร์ทอัพ แต่นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้น พยายามหาโอกาสในวิกฤตนี้ให้ได้ ดังนั้น นี่เป็นเวลาที่จะ Re Think ธุรกิจ และคำแนะนำของ ‘Mentor’ เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับจุดเริ่มต้นการเป็นสตาร์ทอัพนั้น เพราะจะช่วยแชร์ประสบการณ์ถึงปัญหาและอุปสรรคที่เคยเจอจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ดังนั้น การเชื่อมกันระหว่างสตาร์ทอัพและ Mentor จึงสำคัญมาก

ด้าน ปารดาเสริมว่า ไม่อยากให้สตาร์ทอัพโฟกัสกับการเป็น ‘ยูนิคอร์น’ เพราะปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เป็นหรือไม่เป็นยูนิคอร์นก็คือ ‘เงินลงทุน’ ดังนั้น อยากให้ทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า สุดท้ายแล้วการเป็นยูนิคอร์นไม่ได้สำคัญขนาดนั้น