ลือสะพัด! ผลวิจัยในบราซิลพบวัคซีน “ซิโนวัค” ของจีน มีประสิทธิภาพไม่ถึง 60%

(Photo by Andressa Anholete/Getty Images)
วัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยซิโนวัค ไบโอเทค บริษัทสัญชาติจีน มีประสิทธิภาพโดยทั่วไปไม่ถึง 60% ในการทดลองขั้นสุดท้ายในบราซิล ข่าวคราวที่น่าจะสร้างความกังวลในวงกว้าง ในนั้นรวมถึงประเทศไทย ที่เพิ่งมีข่าวว่าเตรียมจัดซื้อวัคซีนตัวดังกล่าวจำนวน 2 ล้านโดส และจะเริ่มส่งมอบชุดแรกๆ ในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

ศูนย์ชีวการแพทย์บูตันตันของเมืองเซาเปาลู ที่จับมือเป็นพันธมิตรกับ ซิโนวัค ในการทดลองและผลิตวัคซีน COVID-19 ในบราซิล ปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว โดยบอกว่า มันเป็น “การคาดเดาล้วนๆ” และพวกเขาเตรียมเผยแพร่รายงานผลการทดลองฉบับสมบูรณ์กว่าในวันอังคารที่ 12 ม.ค.

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบวิพากษ์วิจารณ์รายงานข่าวของสื่อมวลชนในครั้งนี้ ต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการเปิดเผยผลการศึกษาที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ดิมาส โควาส ผู้อำนวยการศูนย์ชีวการแพทย์บูตันตัน ซึ่งดูแลการทดลองขั้นสุดท้ายวัคซีนซิโนวัคในบราซิล ระบุว่า ผลจากการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง พบอัตรา “ประสิทธิภาพโดยทั่วไป” ใหม่ เพิ่มเติมจากประสิทธิภาพทางคลินิกที่แถลงออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค. พวกนักวิจัยบราซิลระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 78% กับเคส COVID-19 อาการเล็กๆ น้อยๆ และสามารถป้องกันได้อย่างสิ้นเชิงต่อเคสอาการรุนแรง แต่พวกผู้เชี่ยวชาญอิสระ เรียกร้องขอให้มีความโปร่งใส่มากกว่านี้ ต่อสิ่งที่ค้นพบจากการทดลองขั้นที่ 3 วัคซีนซิโนวัค ที่มีชื่อว่า “โคโรนาวัค”

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ม.ค. องค์การอาหารและยาอินโดนีเซีย อนุมัติวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่พัฒนาโดย ซิโนวัค ไบโอเทค ของจีน เพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน บนพื้นฐานของข้อมูลภายในที่พบว่ามันมีประสิทธิภาพ 65%

เว็บไซต์ข่าว UOL ของบราซิล มีรายงานว่า อัตราประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนวัค ที่ทางศูนย์ชีวการแพทย์บูตันตันเตรียมแถลงในวันอังคารที่ 12 ม.ค. น่าทึ่งอยู่ที่ราวๆ 50% ถึง 60% เกินอัตราประสิทธิภาพ 50% ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และตามที่คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบกำหนดไว้ แต่ถือว่าต่ำกว่าอัตราที่เปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

Photo : Shutterstock

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในบราซิล อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินวัคซีนของจีน และวัคซีนอีกตัวที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกับบริษัท แอสตราเซเนกา ในขณะที่ประเทศแห่งนี้ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนในโรคระบาดใหญ่ไปแล้วมากกว่า 200,000 คน นับเป็นชาติที่มีผู้เสียชีวิตสะสมจาก COVID-19 มากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ

การค่อยๆ เปิดเผยทีละเล็กละน้อยต่อผลการศึกษาวิจัยวัคซีนโคโรนาวัค ก่อความกังวลว่าบรรดาวัคซีนที่พัฒนาโดยเหล่าผู้ผลิตสัญชาติจีน อาจไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดจากภายนอก ดังเช่นวัคซีนอื่นๆ ของสหรัฐฯ และยุโรป

ข่าวลือเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาวัค ถูกนำเสนออกมาไม่นานหลังจากเมื่อ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ไทยจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพัฒนาโดยซิโนวัค ไบโอเทค บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทย คาดการณ์ว่า วัคซีนชุดแรก 200,000 โดส จะขนส่งถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ชุดสอง 800,000 โดส ช่วงสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส ช่วงสิ้นเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ประเมินว่า ไทยจะมีวัคซีนอีก 26 ล้านโดส ซึ่งใช้สูตรยาและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford University-AstraZeneca) รวมถึงผลิตในประเทศโดย สยาม ไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม

Source