วัคซีนตัวแรกที่พัฒนาโดยบริษัทอินเดีย “Covaxin” (โคแวกซิน) ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO แล้ว โดยรับรองประสิทธิภาพที่ 78% และยังไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัย ถือเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายตัวที่สามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนต่อจาก Sinovac และ Sinopharm
องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองให้วัคซีน Covaxin หรือรหัสชนิดวัคซีน BBV152 เป็นวัคซีนที่สามารถใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน หลังจากผ่านการทดลองเฟส 3 เรียบร้อย โดยระบุว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 78% หลังฉีดครบสองโดสไปเป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน รวมถึงยังไม่มีรายงานข้อกังวลด้านความปลอดภัย
วัคซีน Covaxin เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่เกิดจากความร่วมมือพัฒนาของสามสถาบัน ได้แก่ บริษัท บารัต ไบโอเทค, สภาวิจัยด้านการแพทย์แห่งอินเดีย และ สถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติของอินเดีย
ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 8 ที่ได้รับการรับรองจาก WHO ตามหลังวัคซีน Pfizer/BioNTech, Moderna, AstraZeneca, Johnson&Joshnson, Sinopharm และ Sinovac
โดยองค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า วัคซีนเชื้อตายนี้มีความเหมาะสมอย่างมากกับประเทศรายได้ต่ำจนถึงรายได้ปานกลาง เนื่องจากการจัดเก็บง่ายกว่า แตกต่างจากวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่นซึ่งมักจะต้องเก็บในอุณหภูมิเย็นจัด ทำให้การขนส่งยากลำบากในประเทศเหล่านั้นและต้นทุนสูง
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีรายงานข้อกังวลด้านความปลอดภัย แต่ต้องพึงระวังด้วยว่าการทดลองที่ผ่านมาของ Covaxin มีเฉพาะในอินเดียเท่านั้น ทำให้ความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ผู้ทดลองใช้วัคซีนจะค่อนข้างต่ำ
รวมถึงผลการทดลองวัคซีนตัวนี้มาจากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 จนถึงมกราคม 2021 หรือเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่นักวิจัยได้ศึกษาในภายหลัง พบว่าคนไข้บางคนในกลุ่มทดลองดังกล่าวติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ยังตอบสนองกับ Covaxin แต่ประสิทธิภาพจะต่ำลง
ก่อนหน้าที่ WHO จะรับรอง Covaxin ได้รับการรับรองให้ใช้งานแล้วใน 17 ประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล หมู่เกาะมอริเชียส อิหร่าน ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ปารากวัย กายานา ซิมบับเว เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยเราก็เคยมีการเปิดเจรจากับบารัต ไบโอเทคเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าตามมา