ชาวออสเตรเลียกว่าหมื่นคน จี้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชย หลังเจอ ‘ผลข้างเคียง’ จากวัคซีนโควิด

Photo : Shutterstock
รัฐบาลออสเตรเลีย อาจต้องจ่ายเงินชดเชยกว่า 1.2 พันล้านบาท ให้กับประชาชนนับหมื่นคนที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัควีนโควิด-19

ตอนนี้ ชาวออสเตรเลียมากกว่า 10,000 คน ได้ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยจากการสูญเสียรายได้หลังต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

สื่อท้องถิ่นอย่าง Sydney Morning Herald รายงานว่า เงินชดเชยในกรณีดังกล่าว จะเริ่มต้นที่คนละ 5,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 1.2 เเสนบาท) หมายความว่า รัฐบาลออสเตรเลียอาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนทั้งหมด อย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 1.2 พันล้านบาท) หากคำขอของพวกเขาครั้งนี้ได้รับการอนุมัติ

ด้านเว็บไซต์ Therapeutic Goods Administration (TGA) ของออสเตรเลีย ได้รับรายงานอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เกือบ 79,000 รายการ จากยอดฉีดวัคซีนโควิดทั้งหมด 3.68 ล้านโดส โดยอาการข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ เจ็บแขน ปวดหัว มีไข้ และหนาวสั่น

ในจำนวนนี้มี 288 รายการ ที่ถูกประเมินว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนของ Pfizer รวมถึง 160 รายการ ที่มีอาการเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน AstraZeneca

TGA ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 9 รายที่เชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน เเละส่วนใหญ่มักมีอายุ 65 ปีขึ้นไป

ออสเตรเลียกำลังเร่งฉีดวัคซีนโควิดในช่วงครึ่งหลังของปีหลังสายพันธุ์เดลตาทำให้เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างซิดนีย์และเมลเบิร์นต้องล็อกดาวน์นานหลายเดือน โดยเริ่มมีการคลายข้อจำกัดต่างๆ ลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอัตราการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้น

ล่าสุด ชาวออสเตรเลียประมาณ 17.9 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 69.6% ของประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันประท้วงรัฐบาล เพื่อต่อต้านคำสั่ง ‘บังคับฉีดวัคซีน’ สอดคล้องกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

โดยกฎที่ห้ามให้ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด เข้าบาร์เเละร้านอาหารต่างๆ เพื่อควบคุมโรคเเละกระตุ้นการกระจายวัคซีนนั้น ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้มีการขาย ‘ใบรับรองฉีดวัคซีนโควิดปลอม’ เพิ่มขึ้นในตลาดมืดทางออนไลน์ด้วย

 

ที่มา : Bloomberg , Sydney Morning Herald