“ญี่ปุ่น” เตรียมลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรการป้องกัน COVID-19 “แฉชื่อ-ถอนวีซ่า” หนักสุด “เนรเทศ”

(Photo by Viola Kam/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)
ญี่ปุ่นระงับการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติทั้งหมดแล้ว พร้อมเสนอแก้กฎหมายลงโทษผู้ฝ่าฝืน โดยเปิดเผยชื่อ ยกเลิกสถานะพำนัก หรือเนรเทศออกนอกประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจระงับการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจจาก 11 ประเทศและดินแดนที่ได้สิทธิ์พิเศษก่อนหน้า ซึ่งในกลุ่มนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้ผู้ที่ยังคงเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ในขณะนี้มีเพียงชาวญี่ปุ่น, ผู้ที่มีสิทธิ์พำนักในญี่ปุ่น (มีไซริวการ์ด) และผู้ที่มีความจำเป็นด้านมนุษยธรรม เช่น มาร่วมพิธีศพของญาติ หรือการคลอดบุตรของญาติที่อยู่ในญี่ปุ่น

มาตรการนี้เริ่มดำเนินการแล้วในวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม และจะบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉิน คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ (หากไม่มีการขยายระยะเวลา)

นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าประเทศญี่ปุ่นต้องลงนามในเอกสารยืนยันว่าจะอยู่ที่บ้านหรือสถานที่พักเป็นเวลา 14 วัน พร้อมแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของพวกตน หากฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาเปิดเผยชื่อ ยกเลิกสถานะผู้อยู่อาศัย หรือขับออกนอกประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะเสนอแก้ไขกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ หลังพบผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการกักตัว ออกนอกพื้นที่จนเกิดการแพร่ระบาดไปทั่ว รวมทั้งธุรกิจบางแห่งที่ไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอให้ลดเวลาทำการเพราะไม่ได้รับเงินชดเชย โดยกฎหมายขณะนี้ทำได้เพียง “ขอความร่วมมือ” ไม่มีมาตรการ “ลงโทษ”

(Photo : Shutterstock)

ภายใต้แผนการนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบอำนาจทางกฎหมายให้แก่ผู้ว่าการจังหวัดมากขึ้นเพื่อสกัดดการแพร่ระบาดของโรค ผู้ว่าการจังหวัดจะสามารถออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจในจังหวัดของตนปรับเปลี่ยนเวลาทำการได้ โดยไม่ต้องรอการประกาศภาวะฉุกเฉินจากรัฐบาล หากผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธไม่ทำตาม ผู้ว่าการจังหวัดก็จะมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ รวมทั้งลงโทษด้วยมาตรการทางปกครอง หรือกำหนดโทษปรับได้

ร่างกฎหมายนี้ยังจะทบทวนมาตรการควบคุมโรคติดต่อ ให้สามารถลงโทษประชาชนที่ปฏิเสธมาตรการควบคุมโรค การกักตัวเอง การร่วมมือติดตามเส้นทางการติดเชื้อ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นโทษปรับเงิน หรือมาตรการทางสังคมอื่น

นอกจากนี้ยังให้อำนาจ ผู้ว่าการจังหวัดสั่งให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หรือไม่แสดงอาการต้องพักรักษาตัวที่บ้านหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ หากปฏิเสธจะถูกลงโทษหรือบังคับให้เข้ารักษาตัว

รัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายค้านในการแก้ไขกฎหมายในวันพุธที่ 13 และหวังว่าคณะรัฐมนตรีจะผ่านความเห็นชอบอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า

Source