เจาะ Insight ทำไม ‘อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง’ ยังสำคัญไม่แพ้ ‘สายมู’

นอกจากการตลาด ‘สายมู’ ที่มาแรงในยุคที่มีแต่ความไม่แน่นอนเพราะ ‘COVID-19’ แบบนี้ เนื่องจากต้องหาอะไรที่พึ่งพาหรือช่วยได้ก็ต้องยึดไว้ก่อน แต่ ‘การตลาดของคนอยู่เป็น’ ไม่ได้มีแต่สายมู แต่ยังมี ‘สายตาม (Influencer)’ และ ‘สายแจม (Community)’ อีกด้วย

รู้จัก “มูเตลู มาร์เก็ตติ้ง” เมื่อโควิดทำหมดหวัง พลังศรัทธาคือคำตอบ

‘อินฟลูเอนเซอร์’ อีกหนึ่งกระบอกเสียงของแบรนด์

อินฟลูเอนเซอร์เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่สำคัญของแบรนด์ไปแล้วในปัจจุบัน โดยข้อมูลจากบริษัท พ็อพส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการตลาดออนไลน์ได้ระบุว่าปี 2563 มีการโฆษณาออนไลน์และใช้อินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นกว่า 20% ขณะที่ ‘Tellscore’ ผู้ให้บริการสร้างแคมเปญออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เคยระบุว่า ‘60%’ ของผู้ซื้อรู้ว่าเนื้อหาของอินฟลูเอนเซอร์เป็นเนื้อหาสปอนเซอร์แต่ก็อ่านและมองว่าน่าเชื่อถือ ซึ่งจากผลสำรวจของสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU (College of Management, Mahidol University) ระบุว่าประชากรชาวโซเชียลว่า 47 ล้านคนในไทยมีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์อย่างน้อย 1 คน

81.9% ติดตามเพราะเนื้อหา

69.2% เพราะรูปแบบการนำเสนอ

45.3% ติดตามเพราะความน่าเชื่อถือ

เข้าสู่ยุค ‘อินฟลูเอนเซอร์’ เต็มตัว! กูรูชี้ ผู้บริโภค 60% รู้ว่าถูกจ้างแต่ยังเชื่อมากกว่า ‘โฆษณา’

โดยแฟลตฟอร์มที่คนไทยใช้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุด คือ

1.YouTube (สายคอนเทนต์)

2.Facebook (สาย Community)

3.Instagram (สาย Photo Sharing)

ทั้งนี้ Gen X และ Baby Boomer นิยมใช้ Facebook และ YouTube ส่วน Gen Y ใช้ YouTube และ Facebook ด้าน Gen Z นิยมใช้ YouTube และ Instagram

 

จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ต้องมีโจทย์

สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ว่า ‘ต้องมีโจทย์’ หลายครั้งที่นักการตลาดใช้งานอินฟลูเอนเซอร์โดยที่ไม่มีโจทย์ นอกจากนี้อยากให้มองอินฟลูเอนเซอร์เป็น 2 มิติ 1.ความเป็นมีเดีย หรือฐานผู้ติดตามมากน้อยแค่ไหน 2.ความครีเอต หรือการสร้างสรรค์และการนำเสนอคอนเทนต์ ดังนั้น จำเป็นต้องตั้ง ‘โจทย์’ ว่าจะนำทั้งเรื่องจำนวนผู้ติดตามมาใช้ตัดสินใจ หรือจะตัดสินใจจากความครีเอเตอร์ของอินฟลูเอนเซอร์

“บางครั้งเราต้องคิดแยกกัน บางครั้งเราต้องคิดไปด้วยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับโจทย์ว่าเราต้องการใช้อินฟลูเอนเซอร์ไปเพื่ออะไร”

สุธีรพันธุ์ สักรวัตร

Online Community แหล่งข้อมูลชั้นดีของแบรนด์

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่หน้าสนใจจากมาตรการ Social Distancing คือ คนไทยเข้าสู่การสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบ Online Community มากขึ้น ผ่าน Group ต่าง ๆ

70.5% เข้ากลุ่มเพราะเนื้อหาน่าสนใจ

37.4% เข้าเพราะเพื่อนชักชวน

23.2% เข้าเพราะเว็บไซต์แนะนำ

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ส่วนใหญ่ 72.9% จะกดติดตามและกดไลก์ 44.6% กดแชร์ 37.2% แสดงความคิดเห็น และ 24.4% ซื้อ-ขายสินค้า

“คอมมูนิตี้เป็นแหล่งรวมกลุ่มคนที่สนใจสิ่งเดียวกัน มีปัญหาเหมือน ๆ กัน ดังนั้น คอมมูนิตี้เป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับคนที่เริ่มธุรกิจ เพราะได้รวมเอาคนที่สนใจเรื่องเดียวกันไว้แล้ว โดยแบรนด์สามารถใช้เพื่อศึกษาพฤติกรรม ปัญหา และความต้องการได้โดยไม่ต้องหว่าน”

รู้จัก C-E-R-T-A-I-N ความแน่นอนมาแก้ความไม่แน่นอน

1.Content First : เพราะยุคดิจิทัลทำให้มีข้อมูลมหาศาล แต่เวลาของผู้บริโภคนั้นมีจํากัด คงไม่มีทางเสพข้อมูลได้หมด ดังนั้นจึงต้องเลือกรับข้อมูล ภาคธุรกิจจึงต้องสร้างสรรค์เนื้อหาที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจ ซึ่งเนื้อหาที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘Brand Awareness’ ที่ดีให้ผู้บริโภค ก่อนจะนำไปสู่การสร้างยอดขาย

2.Engagement with Faith : ไม่ว่าจะ Gen ไหนต่างก็มีความเชื่อ ดังนั้น การทำให้ผู้บริโภครู้สึกมั่นคงทางความรู้สึกผ่านการผสมผสานเรื่องความเชื่อก็จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในหลายธุรกิจก็มีการนำความเชื่อมาทำการตลาด เช่น เลขมงคล การใส่เสื้อสีเสริมดวงประจำวัน หรือเครื่องประดับที่มีราศีหรือนักษัตรมาใช้

3.Reliable Data : เพราะยุคนี้มีทั้งข้อมูลจริงและปลอม ดังนั้น ต้องนำเสนอแต่ข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้นำไปตัดสินใจได้

4.Trust in Community : คอมมูนิตี้มักจะเป็นแหล่งรวมของผู้เชี่ยวชาญ และคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ดังนั้นข้อมูลในกลุ่มจะเป็นข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น คอมมูนิตี้จึงเป็นที่ที่แบรนด์หรือนักการตลาดควรเข้าไปแฝงตัวเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน

5.Agility : การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาองค์กรก้าวผ่านช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนแบบนี้

6.Influencer Leading : ในสภาวะความไม่แน่นอนแบบนี้ อินฟลูเอนเซอร์นับเป็นการมีกระบอกเสียงที่คอยรีวิวหรือแนะนําให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจง่ายขึ้น ถือเป็นเครื่องมือลดความลังเลของผู้บริโภค

7.New Equilibrium : ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องมี ‘แผน’ มารองรับเสมอ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารของแบรนด์ผ่านตัวแบรนด์เอง การใช้ Key Opinion Leader (KOL) หรือรีวิวการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ใช้ผู้บริโภคเอง (User-Generated Content)