SCGP โกยรายได้ปี 63 เเตะ 9.2 หมื่นล้าน กำไรโต 23% ปีนี้ทุ่ม 2 หมื่นล้าน รุกกิจการอาเซียน

อานิสงส์กระเเสเดลิเวอรี่บูม ดันธุรกิจเเพ็กเกจจิ้งโตท่ามกลางวิกฤต COVID-19 เจ้าใหญ่อย่าง SCGP โกยรายได้ ปี’63 ทะลุ 92,786 ล้าน ฟันกำไรสุทธิ 6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เร่งเครื่องหลังระดมทุนหุ้น IPO ปีนี้ทุ่มลงทุน 2 หมื่นล้าน ขยายพอร์ตสินค้าดีลควบรวมกิจการในอาเซียน ลุยบรรจุภัณฑ์อาหารรับเทรนด์โลก

วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจตลอดปี 2563 ว่า มีความท้าทายอย่างมาก จากความผันผวนของเศรษฐกิจและการระบาดของ COVID-19 เเต่ถือเป็น ‘โอกาสสำคัญ’ ของธุรกิจเเพ็กเกจจิ้ง ที่บริษัทจะได้เน้นไปที่ ‘ผู้บริโภค’ เเละการ ‘ดีไซน์’ สินค้ามากขึ้น

โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์อาหาร (Foodservice Packaging) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ 

SCGP เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักของ ‘ปูนซิเมนต์ไทย’ ให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียนปัจจุบันมี 40 โรงงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคอาเซียน 36%

ผลการดำเนินงานของทั้งปี 2563 มีรายได้จากการขายที่ 92,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน กำไรสุทธิ 6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน และมี EBITDA (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืมตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562) เท่ากับ 16,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปีก่อน

วิชาญ บอกว่า กลยุทธ์หลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี มาจากการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การบริหารต้นทุน วัตถุดิบ และซัพพลายเชนที่มีการปรับพอร์ตการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การขยายฐานธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) และการควบรวมกิจการ (M&P) เพื่อขยายฐานธุรกิจในอาเซียน

วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 23,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 1,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 4,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) สินค้าอุปโภคบริโภค การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา” 

โดยช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา SCGP ได้เข้าลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ SOVI ในประเทศเวียดนาม เพื่อการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ 

พร้อมการลงทุนล่าสุดใน Go-Pak UK Limited หรือ Go-Pak ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ SCGP ขยาย ‘ตลาดใหม่’ ในสหราชอาณาจักร ยุโรปและอเมริกาเหนือ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยการขยายธุรกิจใน SOVI และ Go-Pak จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและเพิ่มรายได้ให้ SCGP กว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี 

“ธุรกิจในปี 2564 ในส่วนของ “รายได้” คาดว่าจะเกินระดับ 1 แสนล้านบาท เเละมีอัตราการเติบโตเเบบดับเบิลดิจิต” 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเสนอการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2563 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น ซึ่งรอการอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2564 ตามรายชื่อ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 7 เมษายน 2564

ปีนี้ทุ่มลงทุน 2 หมื่นล้าน

หลังระดมทุนหุ้น IPO ได้ราว 4.1 หมื่นล้าน SCGP วางเเผนขยายธุรกิจ ‘เชิงรุก’ มากขึ้น โดยปี 2564 ได้ตั้งงบลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท (เพิ่มจากปี 2020 ที่มีงบลงทุนอยู่ที่ 10,426 ล้านบาท) เน้นขยายธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำในภูมิภาคอาเซียน

รวมไปถึง โครงการขยายกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และโครงการขยายบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ในประเทศไทยจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGPคาดว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเพื่อสุขภาพ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จะยังคงขยายตัวในปีนี้ และในระยะยาวคาดว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะได้รับปัจจัยบวกจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสินค้ามายังภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของผู้บริโภค อาจมีแนวโน้ม ‘ชะลอตัว’ จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าเเละดีมานด์สำหรับสินค้าคงทนยังไม่แน่นอน ส่วนของราคาเยื่อกระดาษน่าจะปรับตัวขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากมีความต้องการใช้เยื่อในการผลิตกระดาษทิชชูสำหรับสินค้าเพื่อสุขอนามัยมากขึ้น

ด้านค่าเงินบาทที่เเข็งค่าต่อเนื่องนั้น มีผลกระทบต่อ SCGP ในหลัก ‘ร้อยล้าน’ ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับรายได้บริษัท 

“ในงบลงทุน 2 หมื่นล้าน หลักๆ เราจะรุกธุรกิจในอาเซียน ส่วนนอกภูมิภาคอย่างที่เคยควบรวมกับ Go-Pak ในยุโรปนั้น จะดูที่เมกะเทรนด์ของโลกเป็นหลัก ว่าตลาดมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงไหน” 

โดย SCGP มีแผนเสนอขาย ‘หุ้นกู้’ แก่นักลงทุนในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดกับสถาบันการเงิน เบื้องต้นกำหนดอายุหุ้นกู้ที่ 3 ปี 8 เดือน รวม 5,500 ล้านบาท คาดว่าจะแจ้งรายละเอียดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงเดือน ก.พ.นี้