CPN ทุ่มงบ 200 ล้านจัดเทศกาล “ตรุษจีน” รับภาครัฐปลดล็อกเฟสแรก ดันทราฟฟิก 15-20%

CPN ปรับแผนอัดงบการตลาดเพิ่มเป็น 200 ล้านบาทไตรมาสแรก จัดเทศกาล “ตรุษจีน” เน้นช้อปปิ้ง-ถ่ายรูปเช็กอิน-เสริมดวง วางเป้าดันทราฟฟิกเข้าห้างฯ เพิ่ม 15-20% เผยทราฟฟิกปัจจุบันหลังภาครัฐปลดล็อกเฟสแรกเพิ่มขึ้นมาเป็น 60-75% แล้ว ประเมินตลอดปี 2564 ต้องดูเดือนต่อเดือน ปัจจัยที่ดีที่สุดที่คาดหวังคือ “วัคซีน” ได้ผล ซึ่งจะทำให้เปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการจับจ่าย

“ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เปิดเผยแผนการตลาดไตรมาสแรกปี 2564 เตรียมงบ 200 ล้านบาทเพื่อจัดเทศกาล “ตรุษจีน” พ่วงเทศกาลวาเลนไทน์ และเริ่มต้อนรับเทศกาลซัมเมอร์

แคมเปญช่วงตรุษจีนนี้จะปูพรมในศูนย์การค้าเซ็นทรัล 33 แห่งทั่วประเทศ เน้นการตกแต่งภายในศูนย์ฯ ให้เป็น “แลนด์มาร์ก” จุดถ่ายรูปเช็กอิน กระตุ้นผู้บริโภคเดินห้างฯ พร้อมโปรโมชันมากมาย ลดสูงสุด 70% และจับมือ “หมอช้าง-ทศพร ศรีตุลา” จัดทำสติกเกอร์นำโชค Sticker of Luck Limited Edition แจกฟรีสำหรับลูกค้าที่ช้อปครบ 1,500 บาทขึ้นไป และลูกค้า Top Spenders 5 ท่านแรกที่ช้อปสูงสุดตลอดแคมเปญวันที่ 29 ม.ค. – 21 ก.พ. 64 จะได้สิทธิ์ปรึกษาดวงชะตากับหมอช้างแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

บรรยากาศเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ในศูนย์การค้าเครือ CPN

โดยดร.ณัฐกิตติ์ย้ำว่า แคมเปญตรุษจีนปีนี้ยังจัดขึ้นภายใต้กฎระเบียบของภาครัฐ ซึ่งยังไม่อนุญาตให้จัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ ทำให้เน้นเป็นจุดถ่ายรูป ไม่จัดใหญ่ แต่ไม่หายไป เพื่อให้ลูกค้ายังมาศูนย์ฯ ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ CPN ตัดสินใจปรับเพิ่มงบการตลาดจาก 80 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาทหลังจากภาครัฐปลดล็อกเฟสแรก อนุญาตธุรกิจ 13 ประเภท เช่น ฟิตเนส สปา สถานเสริมความงาม กลับมาให้บริการได้ ซึ่งทำให้ลูกค้าอุ่นใจและมีกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ได้มากขึ้น

ดังนั้น การกระตุ้นตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีน เชื่อว่าลูกค้าจะให้การตอบรับ เพราะเป็นเทศกาลที่คนไทยเชื้อสายจีนจะจับจ่ายซื้อของสดไหว้เจ้า ซื้อเสื้อผ้าใหม่ตามธรรมเนียม และพาครอบครัวรับประทานอาหารเพื่อฉลองปีใหม่จีน คาดว่าทราฟฟิกจะเพิ่มขึ้นอีก 15-20% ในช่วงเทศกาลนี้

 

ปลดล็อกเฟสแรก ทราฟฟิกดีขึ้น 10-15%

สำหรับศูนย์การค้าของ CPN ทั่วประเทศ ดร.ณัฐกิตติ์กล่าวว่า แต่ละศูนย์ฯ มีทราฟฟิกเพิ่มขึ้นทันที 10-15% หลังจากคลายล็อกเฟสแรก ทำให้ปัจจุบันสาขาส่วนใหญ่มีทราฟฟิกกลับมา 60-75% ของช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แล้ว และมี 5 สาขาที่มีทราฟฟิกมากกว่า 75% ได้แก่ สาขาศาลายา หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี และเชียงราย

ส่วนสาขาที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย พัทยา เชียงใหม่ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลวิลเลจ ทราฟฟิกยังอยู่ต่ำกว่า 50% แต่ยืนยันไม่ได้มีแผนปิดชั่วคราวสาขาใดๆ นอกจากที่ปิดอยู่แล้วเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 คือ สาขามหาชัยและระยอง (*เซ็นทรัล ป่าตอง ซึ่งมีข่าวปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ เป็นห้างสรรพสินค้าในส่วนของเซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC)

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ก่อนเกิดการระบาด COVID-19 รอบใหม่ ศูนย์การค้า CPN ส่วนใหญ่เคยมีทราฟฟิกเฉลี่ย 80% ของทราฟฟิกเมื่อปี 2562 แล้ว โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่คึกคักมากจากการประดับไฟเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ ยกตัวอย่าง เซ็นทรัลเวิลด์ เคยมีทราฟฟิกกลับขึ้นไปแตะ 1 แสนคนต่อวันในช่วงคริสต์มาส เกือบจะเท่ากับช่วงปกติในปี 2562 แต่ปัจจุบันกลับลงมาเหลือ 4-5 หมื่นคนต่อวันอีกครั้ง เนื่องจากการระบาดทำให้จัดอีเวนต์เพื่อดึงดูดลูกค้าไม่ได้

เซ็นทรัล ภูเก็ต ทราฟฟิกปัจจุบันอยู่ที่ 55-60% ยังมีคนท้องถิ่นเข้าศูนย์ฯ

อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐกิตติ์มองว่าการระบาดรอบใหม่ยังมีผลกระทบน้อยกว่ารอบแรก เพราะอย่างน้อยยังไม่มีคำสั่งปิดศูนย์ฯ ทั้งหมด และคนไทยเริ่มเคยชินมากขึ้น แต่หากจะให้กลับมาที่ตัวเลขเฉลี่ย 80% ต้องรอการปลดล็อกขั้นต่อไป คือ โรงเรียนเปิดเรียนตามปกติ (ทำให้ผู้ปกครองแวะศูนย์การค้าเมื่อออกจากบ้าน) ขยายเวลาปิดร้านอาหาร และสามารถจัดอีเวนต์สาธารณะได้

 

ปี 2564 ปรับแผนเดือนต่อเดือน

ด้านมุมมองต่อตลาดค้าปลีกตลอดปี 2564 ดร.ณัฐกิตติ์กล่าวว่า “ต้องดูกันเดือนต่อเดือน” เพราะมีความไม่แน่นอนสูงมากจากสถานการณ์การระบาด ไม่สามารถคาดเดาได้เลย แต่มีความหวังว่าจะดีกว่าปี 2563 เพราะมีวัคซีน COVID-19 ที่จะเริ่มฉีดในประเทศไทยลอตใหญ่ช่วงกลางปีนี้

“ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)

ปีนี้จึงเป็นปีที่ฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” ถ้าหากมีประสิทธิภาพดี ได้ผลจริง จะทำให้ภาครัฐผ่อนคลายการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะการทำ Travel Bubble กับบางประเทศ การดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย และจะทำให้ผู้บริโภคไทยมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยสูงขึ้น เพราะเห็นสัญญาณแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว

ทั้งนี้ ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่หยุดช้อปคือ Top Spenders ของ CPN 20 อันดับแรก ซึ่งดร.ณัฐกิตติ์ระบุว่า ใช้จ่ายมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว เพราะไม่ได้ไปใช้จ่ายในต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าระดับบนส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกัน สังเกตได้จากศูนย์ฯ ระดับลักชัวรีจะมีลูกค้าต่อคิวรอหน้าร้านสินค้าแบรนด์เนมเป็นประจำ

ช่วงเวลาระหว่างนี้ที่วัคซีน COVID-19 ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ดูเหมือน CPN จะต้องจับตลาดระดับบนไว้ให้มั่นก่อน!