ขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร อยากแจ้งเกิดสินค้า…มาจัดให้

จากเศษเหล็กด้อยค่าราคาโละสิบบาท กลายมาเป็นโคมไฟดีไซน์เก๋ตามบูติกโฮเต็ล กุ้งปิ้งธรรมดาๆ แต่ขายได้ในห้างหรู ถุงกาแฟรีไซเคิลขายได้แพงกว่ากาแฟ เป็นแค่ส่วนหนึ่งแบรนด์ไทยที่ผ่านการเจียระไนมาแล้วด้วยฝีมือของ “ขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร” อดีตแบรนด์เมเนเจอร์แบรนด์ดังระดับโลก Ermes, Louis Vuitton, Pucci Nike ที่ผันตัวเองมาเป็นนักชุบชีวิตให้แบรนด์ไทย

เราเดินตาม “คุณอ้อ-ขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร” ซึ่งเปรียบเหมือน “ศิราณี” ที่ปรึกษาและเป็นผู้แนะโอกาส “เกิด-ดับ” ของผลิตภัณฑ์ เข้าไปยัง “สำนักงาน” บนอาคารสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม เธอเปิดช่องเก็บผลิตภัณฑ์แบบ “Before & After” ที่อยู่เหนือศีรษะให้เราดู และพาชมพื้นที่พัก “สินค้าต้นฉบับ” ที่รอการต่อยอด …เวลาเดียวกัน หน้าต่างแอพพลิเคชั่นบนโน้ตบุ๊กของเธอถูกเรียกขึ้นมาพร้อมๆ กันราวห้าถึงหกเพจซึ่งบ่งบอกถึงตัวตนบางอย่าง ทั้งเว็บแฟชั่นเมืองนอก หน้าต่างอีเมล เว็บสินค้าที่เล็งว่าจะอิมพอร์ตเข้ามา โปรแกรม Illustrator ที่ใช้ออกแบบโลโก้ ไฟล์ในสกุล PowerPoint สำหรับเตรียมบรรยาย รวมถึงโปรแกรมเพลงที่ใช้ขับกล่อมขณะทำงาน…เราเชื่อแล้วว่า “ทุกศักยภาพเป็นจริงได้”

ขวัญทหัยเข้ามา “รับงานราชการ” ในTCDC เมื่อ 3 ปีก่อน “คงเพราะเห็นเราเป็นประเภท Multi-task สามารถ Handle อะไรหลายอย่างได้” เธอมีโอกาสได้ดูแลแบรนด์ให้ Ermes, Louis Vuitton, Pucci และ Nike “ทั้งหมดมันบ่มตัวเราว่า ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องชัดเจนในโพสิชั่นของตัวเอง ต้องตั้งเป้า” แม้งานสังคมจะลดลง แชมเปญราคาแพงไม่ได้มีเสิร์ฟอย่างขณะดูแลแบรนด์หรู แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่เธอเลือกแล้วว่าทำให้ชีวิตมีความสุข “ต้องขอบคุณครอบครัวและผู้ใหญ่ที่ TCDC” เธอกล่าว

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปอยู่เมืองนอกมาร่วม10 ปี ทำให้เธอมีคาแร็กเตอร์ที่กล้าคิด-กล้าพูด-แล้วทำ “คนไทยกล้าคิดนะ ไม่รู้กล้าพูดรึเปล่า แต่รอแป๊บนึง เดี๋ยวกล้าทำล่ะ คือ หยั่งไปหยั่งมาอยู่อย่างนี้ เดย์วันที่นี่ พี่บอกเลยว่าขอแต่งตัวอย่างงี้นะ และก็ขอพื้นที่อิสระทางความคิด” ภาพแรกในฐานะผู้จัดการ The Shop @TCDC ขวัญหทัยเล่าว่า “หนึ่งชั้นมีสินค้าแค่หนึ่งชิ้น ราคา 75,000 งี้ แต่เราเห็นโอกาสคืออย่างน้อยร้านสวย ไฟสวยนะ แล้วก็อยู่ในโลเกชั่นลูกค้า B+ ที่เหลืออยู่ที่สินค้าของแล้ว”

ณ วันนั้นเธอจึงปักธงว่า ต้องสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการไทยใหม่ๆ จึงเริ่มจากชวนเจ้าของสินค้ามาคุยมาฝากขาย จนร้านมีสินค้าเต็ม ราคา 35 บาทไปจนถึงหมื่นต้นๆ ทว่า ร้านอยู่ในห้างชั้นบนสุด… “อะไรๆ ข้างล่างเค้าก็มีหมดแล้ว ใครเค้าจะมา เราเลยต้องสร้างของใหม่ที่ไม่เหมือนใคร” จนนำมาสู่ “โครงการต่อยอดสินค้าทำมือสู่สินค้าทำกิน” เพื่อพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพให้มีพื้นที่ทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“เคสประทับเยอะมาก” คุณอ้อเล่าถึงเศษเหล็กด้อยค่าราคาโลละสิบบาท ที่นำมาทำเป็น “เชิงเทียน” ในงานปล่อยแสง “ใครจะกล้าเอาของเราไปวางมันโคลงเคลงขนาดนี้ อ่ะมาเข้าโครงการ ปิ่นต้องเกิด! ขยันอย่างเราเนี่ย ยังงัยพี่ก้อไม่ทิ้ง” ปัจจุบัน งานของปิ่นถูกชุบชีวิตอีกรอบในร่างของโคมไฟดีไซน์เก๋ตามบูติกโฮเต็ล ราคาถูกยกกำลังขึ้นไปขึ้นอีกมาก “เรามีหน้าที่ให้คำปรึกษา เรียกมาพัฒนา หาตลาดให้ ไม่ใช่จบแล้วจบเลย และจะนำ Feedback จากที่วางขายที่ร้านไปบอกผู้ประกอบการด้วย เช่น ลูกค้าประเภทไหนที่ซื้อ ขายดีแค่ไหน”

จานสื่อคำพูดที่ส่งออก “วันแรกน้องเสกบอก ผมไม่ทำจานแล้ว ผมอยากมีเก้าอี้ของตัวเอง พี่เลยบอกงั้นทำจานด้วยละกัน พี่เชื่อว่าจานนี่แหละจะทำให้เสกมีชื่อเสียง แต่จานใหญ่มันไม่ Commercialize ขายใครคะ หนักขนาดนี้ คิดดูว่าคนเราจะกินข้าวกินปลาอะไรชัดเจนขนาดน้าน…น ต้องปรับไซส์จานให้เล็กลงแต่คอนเซ็ปต์เดิมยังอยู่นะ พี่เปลี่ยนเวิร์ดดิ้งให้ เพราะมันเยิ่นเย้อ ให้คาแร็กเตอร์สินค้าไปเลยหน้ากล่องเขียนว่า I am a Talking Plate ”

ความสำเร็จจากความวางใจในการเป็นที่ปรึกษาของเธอ ทำให้ในช่วงปีนี้ขวัญหทัยเสมือนมีลูกๆ ที่ต้องฟูมฟักถึง 70 คน เป็นลูกที่เกิดกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 50 ราย และลูกที่เกิดจากเทศกาลปล่อยแสงอีก 20 ราย
แม้จะไม่ใช่สินค้าดีไซน์ หากแต่ ”กุ้ง” (ที่ไม่มีโฆษณา “ฉึๆ” มาทำน่ารัก) เธอก็ให้การสนับสนุน “มีอยู่เจ้าหนึ่งทำกุ้งส่งออก แล้วเขาอยากทำกุ้งปิ้งด้วย หลายคนก็ถามนะว่า ไปยุ่งอะไรกับเขา แต่ ไม่ได้คัพเวอร์เฉพาะสินค้าดีไซน์เท่านั้น พี่บอกน่าสนใจออก กินหมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้งจนเบื่อละ พี่อ่ะ อยากกินกุ้งปิ้ง (เน้นเสียงในแบบที่ผู้เขียนควรทำตัวพิมพ์หนา)” ปรากฏว่ายังไม่ทันที่โครงการจบ เอ็มโพเรียม พาราไดซ์พาร์ค ได้หาพื้นที่ขายให้เรียบร้อยแล้ว

“อย่างฟิลเตอร์สีที่ใช้บังหน้าเลนส์ คนที่โรงงานอะคริลิกมาเดินดู แล้วบอกว่านี่คิดง่ายนี่ แค่เอาอะคริลิกมาตัดขาย พี่บอก ไม่ต้องไปสนใจ ขนาดเขาอยู่กับมันทุกวันยังคิดไม่ได้เลย พี่ให้เอาชื่อแบรนด์ Kola แปะไว้หน้ากล่องเลย ให้ผู้บริโภคจำว่าของหน้าตาอย่างนี้ มันต้องชื่อนี้เท่านั้น เราถึงขนาดเอาเอสี่มาตัดให้ดูว่าทำแพ็กเกจจิ้งอย่างนี้ๆ นะ คิดให้กระทั่ง Shelf วางสินค้า ลูกค้าเขารู้น่ะว่าเค้าจะซื้ออะไร เขาต้องการฟิลลิ่งแบบซื้อหมากฝรั่งอ่ะ ซื้อง่าย จ่ายเร็ว เสร็จ โยนเข้าถุงเลย ถึงตอนนี้ น้องบอกว่าตั้งแต่ทำโพสิชันนิ่งใหม่ ผมขายได้ทุกห้างเลยพี่ บีเทรนด์ ซีนโซน Propaganda มีขายทุกที่ ยอดขายเพิ่มขึ้นเยอะมาก พี่เลยถาม ทีนี้เชื่อยัง?”

“พี่ถือว่าการทำธุรกิจ ของทำมาต้องขายได้ ถ้าดีไซน์มาแต่ของขายไม่ได้ พี่ถือว่าพี่ไม่ตอบโจทย์ตัวเอง”
เจ้าหนึ่งเป็นเทียน (ในห่อ) การ์ด กล่องละ 110 บาท “รายนี้พี่ดึงเขาเข้ามา เป็นผู้ประกอบการที่มี Know-how มากกว่าพี่เลยล่ะ เรียนจบอังกฤษ มีบริษัททำแบรนดิ้ง อาร์ตเวิร์ค แพ็กเกจจิ้งของตัวเองครบวงจร พี่ว่าเขาน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้นะ ด้วยอารมณ์ขัน และด้วยศักยภาพ เลยโยนโจทย์พวกหนุมาน สวัสดี มวยไทย ปัจจุบันเธอกลับมาพร้อมกับสินค้าไทยอารมณ์ดี ตั้งแต่ ชุดผ้ากันเปื้อน ถุงมือจับของร้อน คอลเลกชั่นมวยไทย”

“อันนี้ถุงกาแฟ รีไซเคิล เพิ่มมูลค่าเป็น 110 บาทเลย แพงกว่ากาแฟอีก นี่รองเท้ายางสีสดมากขายตามตลาดนัดคู่ละ 99 พี่คิดชื่อแบรนด์แปะเข้าไปให้ ชื่อ GLEED ให้เห็นแล้วกรี๊ดเลย ออกแบบโลโก้ให้ด้วย จริงๆ ไม่เก่งวาดรูปเลย นี่เอากระจูดมาทำโครงใหม่ ออกแบบให้หมดเลย ส่วนอันนี้สมุดบันทึกหลานของคุณจิตต์ จงมั่นคง เขาบอกว่าเขาไร้สาระ ชอบถ่ายรูป ร้องเพลง ชอบเขียน พี่เลยแนะนำให้ทำสมุดบันทึก เอาทุกอย่างที่เราชอบทำใส่ลงไป สลับกับหน้าว่าง นี่เห็นมัดหนังสติ๊กขาย 420 บาทนะจ๊ะ ขายหมด” คุณอ้อหยิบผลิตภัณฑ์ออกมาให้เราเห็นภาพ

“มีหลายคนถาม พี่อ้อ ตั้งราคาอย่างนี้จะขายได้หรอ แต่การที่เราอยู่กับแบรนด์เนมมาตลอด เลยรู้ว่าราคาไหนขายได้ ถ้ามัวแต่ขายร้อยห้าสิบ แล้วเมื่อไหร่จะไกลกว่านี้” …พลางเธอให้ดูสับปะรดกวน กล้วยกวนธรรมดาที่เธอจัดแจงแปะแบรนด์ CHEWYmeที่เพิ่งคิดได้เข้าไป “ผ้าทอใยกัญชงของกลุ่มแม่บ้าน คุณสมบัติกันแสง ระบายอากาศได้ดี พี่บอกให้ทำเป็นหมวกคลุมยาวลงมาถึงตัวเลย เขาหัวเราะ ปรากฏว่าที่แอร์พอร์ตขายดีมากเพราะพวกอาหรับซื้อ มันตอบโจทย์เขา นี่อยากขยายไปยังสินค้าโอท็อป เอาเคสพวกนี้ไปให้เขาได้ศึกษา แค่คิดก้อสนุกแล้ว”

“คนไทยเป็นลักษณะที่อะไรก็ได้ ง่ายๆ เรื่อยๆ เก่งแกะสลัก จักรสาน เบญจรงค์ เก๋ๆทั้งนั้น แต่ 15 ปีผ่านไป ก็ยังคงไม่มีการต่อยอด ขนมญี่ปุ่นแพ็กเกจจิ้งสวยแต่รสธรรมดา ของไทยเราสิมีทั้งทองหยิบ ทองหยอด กลีบลำดวน หม้อแกง ขนมชั้น …เยอะ แป้งธรรมดา ยัง Texture ไม่เหมือนกัน ถึงเวลา ดั๊นใส่กล่องพลาสติกเย็บแม็กขาย 25 บาท แพงกว่านี้ไม่มีใครซื้อแล้วนะ จบเลย ถึงบอกว่าคนไทยถือเพชรแต่เจียรไม่เป็น พอเจียรเป็น แสงไฟดั๊นไม่มี ประเทศอื่นเขาถือแค่หินแต่เจียรเป็นเพชรไปแล้ว…”

“หน้าต่างบนวินโดวส์” ของเธอยังทำงานตามคำสั่งของเธอต่อไป เฉกเช่นเดียวกับ “หน้าต่างทางธุรกิจ” ที่เธอพยายามเปิดออกไปให้เจ้าของสินค้าไทยได้มองเห็นวิสัยทัศน์แห่งการเติบโตของสินค้าตนเอง

Edcation
Master’s Degree Business Administration, Woodbury University
Bachelor’s Degree Business Science, International Business Major, California State University of Los Angeles, U.S.A.
Associates Degree Science, Mt. San Antonio College, U.S.A.
Experience
Thailand Creative & Design Center (TCDC)
Retail Manager and Creative Product Consultant
Nike (Thailand) Co., Ltd.
Product Specialists Manager and Retail Manager
LVMH
Shop Manager for Louis Vuitton and Emilio Pucci and Visual Merchandising and Training Manager
HERMES :
Marketing Executive of Saint Honored (Bangkok) Co.,Ltd.