COVID-19 เล่นกล! ทำสถิติ “การหย่า” ในไทยลดลง 6% แต่แต่งงานก็ลดลง 17%

หย่า
Photo : Shutterstock
จากเหตุการณ์โรคระบาด COVID-19 ทั่วโลกในปี 2563 บริษัทจัดหาคู่ Bangkok Matching ได้ติดตามสภาวการณ์การหาคู่ การหย่าร้าง การสมรส ทั้งในไทยและในต่างประเทศ และพบว่าในประเทศไทยช่วง COVID-19 จากตัวเลขสถิติจากกรมการปกครอง ภาพรวมของสถิติการหย่าของทั้งประเทศลดลงราว 6% และสถิติการสมรสของทั้งประเทศก็ลดลงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน

แต่เมื่อมาดูเฉพาะจังหวัดกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีประชากรมากสุดถึงประมาณ 5.6 ล้านคน เมืองที่มีคนแต่งงาน และหย่ามากที่สุดในประเทศไทยแล้ว พบว่า สถิติการหย่าในกรุงเทพมหานคร ในปี 2563 ลดลงราว 10% และสถิติการสมรสก็ลดลงถึง 22% เมื่อเทียบกับปี 2562 เลยทีเดียว

ซึ่งจากการวิเคราะห์ของ Bangkok Matching คิดว่า ตัวเลขสถิติการหย่าที่ลดลงนั้น จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า คู่ชีวิตไม่ได้มีปัญหา แต่มันอาจเป็นไปได้ว่า ด้วยสภาวะ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการต้องหาที่พักอาศัยใหม่ ทำให้คู่รักอาจเลือกที่จะอดทนในชีวิตสมรสต่อไปก่อน ยังไม่พร้อมจะแยกบ้าน และยังไม่พร้อมที่จะเริ่มทำเรื่องหย่า ณ ตอนนี้

รวมถึงบางส่วนอาจจะมาจากวัฒนธรรมการอดทน อดกลั้นในชีวิตคู่ และสำหรับยอดคู่แต่งงานที่ลดลง ก็อาจเป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคู่รักจำนวนมากได้เลื่อนงานแต่งงานออกไป หรือยกเลิกไปก่อนนั่นเอง อีกทั้งคนโสดบางส่วน อาจจะถูกชะลอการศึกษา ทำความรู้จักกันไปบ้าง จาก COVID-19 ทำให้จำนวนที่จะพัฒนาไปถึงขั้นแต่งงานในปี 2563 ลดลง ก็เป็นไปได้เช่นกัน

แต่งงาน
Photo : Pixabay

สถานการณ์หย่าร้าง สมรสทั่วโลก

ประเทศอเมริกา Bloomberg รายงานว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ช่วงโควิด 19 ระบาดใหม่ๆ ในประเทศอเมริกา ดูเหมือนยอดการหย่าในประเทศอเมริกามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น แต่พอปลายปีกลับพบว่ายอดรวมการหย่ากลับลดลง รวมถึงยอดคู่แต่งงานก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ซึ่งสถาบันวิจัยด้านประชากร และครอบครัว Bowling Green State University’s Center สำรวจ และพบว่า ยอดการหย่าที่ลดลงในปี 2563 ไม่ได้แปลว่าคู่ชีวิตในอเมริกาไม่ได้มีปัญหา มันอาจเป็นไปได้ว่า ด้วยสภาวะ COVID-19 ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการหาที่พักอาศัยใหม่ ทำให้คู่รักเลือกที่จะอดทนในชีวิตสมรสต่อไปก่อน และยอดคู่แต่งงานที่ลดลง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคู่รักจำนวนมากได้เลื่อนงานแต่งงานออกไป หรือยกเลิกไปก่อนนั่นเอง

ประเทศจีน อังกฤษ และสวีเดน BBC รายงานว่าจากสภาวะกดดันจาก COVID-19 การล็อกดาวน์ทำให้ต้องคู่ชีวิตต้องใช้เวลาด้วยกันแทบจะตลอดเวลา สภาพการเงินที่ถูกผลกระทบ ส่งผลให้สถานการณ์การหย่าพุ่งสูงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศอังกฤษ จีน และสวีเดน

Photo : Shutterstock

สำนักงานทนายด้านการหย่าร้างในอังกฤษแจ้งว่า ได้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาสอบถามเรื่องขั้นตอนการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึง 122% ในเดือนกรกฎาคม และตุลาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา องค์กรการกุศลในประเทศอเมริกาที่ให้คำแนะนำด้านการจบความสัมพันธ์ การหย่าร้างทางออนไลน์ ก็ได้รับการติดต่อสอบถามพุ่งสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งเว็บไซด์ออนไลน์ ขายแบบฟอร์มสัญญาข้อตกลงการหย่าร้าง ก็แจ้งว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 34%

ประเทศออสเตรเลีย พบว่าอัตราการสมรสลดลงถึง 30% ในครึ่งปีแรกของปี 2563 และคาดการณ์ว่าอัตราการหย่าก็น่าจะพุ่งสูงขึ้น ดูจากการค้นหาคำว่า “หย่าร้าง” (divorce) บน Google ในประเทศออสเตรเลีย ได้พุ่งสูงเป็นอย่างมาก

ประเทศเกาหลีใต้ พบว่ายอดการหย่าของคนเกาหลีใต้ช่วง มกราคม – กรกฎาคม 2563 เพิ่มขึ้น 3.1% และยอดแต่งงานลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน

ประเทศญี่ปุ่น และประเทศที่ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวอย่าง ฮ่องกง และเกาหลีใต้ มีรายงานการร้องเรียนการใช้กำลังในบ้านของสามีและภรรยา ในช่วงล็อกดาวน์พุ่งสูงมาก ในประเทศญี่ปุ่นเอง ได้รับการร้องเรียนมากเป็นกว่าเท่าตัว แค่ในเดือนเมษายน 2563 เท่านั้น แต่กลับพบว่า สถิติการหย่าในญี่ปุ่นระหว่างเดือน มกราคม – มิถุนายน 2563 กลับลดลงราว 9.8%

Photo : Pixabay

ในกรณีประเทศญี่ปุ่น และประเทศแถบเอเชียที่ชายเป็นใหญ่ในบ้านนี้ Bangkok Matching วิเคราะห์ว่า อัตราการหย่าที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้การเลิกกัน หย่าขาดจากกัน เป็นไปได้โดยลำบาก และอีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของหญิงในประเทศนั้นเอง ที่อาจจะถือหลักอดทน อดกลั้น ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ปลูกฝังกันมาของตน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไปคือ COVID-19 คงไม่ได้ส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์แง่เดียว ในทางกลับกันคู่ที่รอดจากความกดดันต่างๆ ในช่วงนี้มาได้นี้ ก็น่าจะมีแนวโน้มว่าความสัมพันธ์จะแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม รักกันมากกว่าเดิม ผูกพันกันมากกว่าเดิม จากการใช้เวลาด้วยกัน เป็นกำลังใจให้กันและกันผ่านวิกฤต COVID-19 นี้

อ้างอิง