หน่วยงาน ASA ของอังกฤษสั่งห้ามมิให้การโฆษณา “เครื่องสำอาง” ทางโซเชียลมีเดียใช้ “ฟิลเตอร์” ในภาพหรือวิดีโอ มีผลกระทบโดยตรงกับอาชีพ “บิวตี้บล็อกเกอร์” ที่มักจะปรับแต่งรูปเพื่อความสวยงาม โดยการเพิ่มกฎหมายครั้งนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์ #filterdrop ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีก่อน
หน่วยงานกำกับมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ หรือ ASA เข้าตรวจสอบตัวอย่างการใช้ฟิลเตอร์ในวิดีโอโฆษณาสองชิ้นที่จัดทำโดยอินฟลูเอนเซอร์สองราย โดยเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ทำสีผิวแทนสองยี่ห้อ คือ Skinny Tan Ltd และ Tanologist Tan ต่อมา ASA มีคำสั่งแบนการใช้ฟิลเตอร์ในโฆษณาทั้งสองชิ้น
ไม่ใช่แค่โฆษณาสองชิ้นนี้ที่ถูกสั่งห้าม ASA ยังขยายผลให้กฎข้อนี้ถูกใช้กับแบรนด์สินค้า อินฟลูเอนเซอร์ และเซเลบในสหราชอาณาจักรทุกราย
ใจความของกฎข้อนี้คือการสั่งห้ามแบรนด์สินค้า อินฟลูเอนเซอร์ และเซเลบใช้ฟิลเตอร์ในรูป หากเป็นรูปที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงามและการใช้ฟิลเตอร์จะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้สินค้าเกินความเป็นจริง และถึงแม้ว่าฟังก์ชันของ Instagram Story จะมีการระบุว่าใช้ฟิลเตอร์อยู่แล้ว แต่ ASA เห็นว่าคอนเทนต์เหล่านี้จะยังชี้นำผู้บริโภคอย่างผิดๆ ได้
สำหรับโทษของการฝ่าฝืนกฎ คือโฆษณาชิ้นนั้นๆ จะถูกลบจากอินเทอร์เน็ตและห้ามมิให้มีการโพสต์ใหม่ โดย ASA คาดว่าจะทำให้นักการตลาดของแบรนด์นั้นและอินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกลบภาพ/วิดีโอเสียชื่อเสียง
“จุดมุ่งเน้นในการทำงานของเราต่อจากนี้ในประเด็นนี้ คือการสร้างความตระหนักรู้ถึงกฎดังกล่าว และสนับสนุนอินฟลูเอนเซอร์ด้วยคำแนะนำและเครื่องมือของเราเพื่อให้พวกเขาสร้างสรรค์โฆษณาที่ถูกต้อง” โฆษก ASA กล่าว “เรายังทำงานใกล้ชิดกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อให้พวกเขาบังคับใช้กฎที่เราตั้งขึ้น ถ้าหากนักโฆษณาไม่ต้องการหรือไม่สามารถจะทำตามกฎที่เราตั้งไว้ได้”
จากแคมเปญรณรงค์ สู่การบังคับใช้กฎหมาย
จุดตั้งต้นของเรื่องนี้ เริ่มจากผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “ซาซ่า พัลลารี” ช่างแต่งหน้าอายุ 29 ปี เธอเริ่มรณรงค์แคมเปญ #filterdrop มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 โดยหวังว่าจะได้เห็น “การเผยผิวจริง” มากขึ้นบน Instagram เนื้อหาของการรณรงค์ของเธอคือต้องการให้บรรดา “บิวตี้บล็อกเกอร์” ต้องระบุด้วยว่ามีการใช้ฟิลเตอร์ในภาพ/วิดีโอ หากเป็นการโฆษณาสินค้าเครื่องสำอาง
หลังจากนั้น การใช้ฟิลเตอร์แต่งรูปบนโซเชียลมีเดียกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสังคม ไม่เพียงแต่กลุ่มเซเลบหรืออินฟลูเอนเซอร์ แต่ยังถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปกล่าวถึงด้วย
เมื่อแคมเปญของเธอพัฒนาจนกลายเป็นกฎหมาย พัลลารีกล่าวว่าเธอ “ยินดีเป็นอย่างยิ่ง”
“ฉันรู้สึกว่า ในที่สุดผลกระทบอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้ถูกพิจารณาอย่างจริงจังเสียที และนี่จะเป็นก้าวอันยิ่งใหญ่ในทิศทางที่ถูกต้อง สำหรับวิธีการใช้ฟิลเตอร์กับโฆษณาเครื่องสำอางออนไลน์” พัลลารีกล่าว
การออกกฎของ ASA เป็นความสำเร็จของเธอ แต่พัลลารียังมีเป้าหมายใหญ่กว่านั้นคือการต่อสู้เพื่อให้ Instagram ลบฟิลเตอร์ประเภทที่ “เปลี่ยนรูปหน้า” ออกไปจากระบบถาวร
ภาพเกินจริงบน IG คือมาตรฐานความสวยที่กดดัน
พัลลารีกล่าวด้วยว่า ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เธอสนใจมาอย่างยาวนาน และเธอได้รับข้อความ “ทุกวัน” จากผู้หญิงที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้ตนเองสวยตามมาตรฐานความงามที่พวกเธอเห็นบนโลกออนไลน์
“มอลลี นัทท์” วัย 20 ปี ซึ่งคอยติดตามแคมเปญของพัลลารีมาตลอด กล่าวว่าเธอยินดีที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้
“ฟิลเตอร์ที่ใช้ชื่ออย่าง ‘สาวน่ารัก’ จะเปลี่ยนคุณเป็นผู้หญิงตาฟ้า ริมฝีปากหนา จมูกเล็ก ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่สื่่อว่าคุณควรจะมีหน้าตาแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ทุกคนที่มีหน้าตาแบบนี้ได้” นัทท์กล่าว “ไม่ใช่ทุกคนที่เชี่ยวชาญการแต่งหน้า และยิ่งมีฟิลเตอร์เข้าช่วยด้วย…ฉันไม่สามารถจะทำตามความสวยของพวกเธอใน Instagram ได้เลย”
“ส่วนใหญ่แล้วฉันออกจากบ้านไม่ได้เลยถ้ายังไม่แต่งหน้า แต่ตอนนี้ฉันไม่ค่อยแคร์แล้ว…ซาช่าทำให้ฉันรู้สึกสบายใจกับสิ่งที่ฉันเป็น และฉันไม่ใช่คนแปลกประหลาดเพราะหน้าตาของตัวเอง” นัทท์กล่าวเสริม
ไม่เฉพาะคนทั่วไปที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เซเลบคนดังเช่น “เจสซี เนลสัน” อดีตสมาชิกวง Little Mix ซึ่งมีคนติดตามใน IG มากถึง 7.6 ล้านคน ก็ออกมาพูดถึงประเด็นนี้เหมือนกันว่า แม้ว่าเธอจะชอบฟิลเตอร์เบาๆ ของ IG ที่ทำให้ผิวเธอดูแทนขึ้นหรือใสขึ้นบ้าง แต่เธอไม่เข้าใจเลยว่าทำไมฟิลเตอร์ส่วนใหญ่ถึงต้องเปลี่ยนรูปหน้าเธอให้เป็นแบบเดียวกันคือ “จมูกเล็กกับริมฝีปากหนา”
“ฉันไม่เข้าใจว่าทำไม Instagram ถึงรู้สึกว่ามันจำเป็นที่จะต้องทุบจมูกคุณและทำให้มันดูเรียวยาว จมูกไซส์มาตรฐานมันผิดตรงไหนเหรอ?” เนลสันกล่าว “ฉันล่ะงงกับคนที่สร้างฟิลเตอร์พวกนี้ขึ้นมาว่า นี่น่ะหรือคือนิยามความงาม”
ขอความชัดเจนว่าอะไรคือ “ฟิลเตอร์” ที่ผิดกฎ
ขณะที่เสียงข้อกังวลจากอีกมุมหนึ่ง “ราฮี ชัดดา” นายแบบและอินฟลูเอนเซอร์ดังที่มีผู้ติดตามกว่า 9 แสนคน กล่าวว่าเขา “เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง” กับการออกกฎครั้งนี้ แต่เขากังวลเรื่องว่า ขอบเขตการบังคับใช้จะเป็นอย่างไร อินฟลูเอนเซอร์ส่วนใหญ่จะต้องกังวลว่านิยามของการใช้ “ฟิลเตอร์” คืออะไร
“เมื่อเราพูดถึงฟิลเตอร์ เรากำลังพูดถึงการจัดแสง เอฟเฟกต์พิเศษ การแต่งหน้า ก่อนที่จะถ่ายรูปโฆษณาสินค้าด้วยหรือเปล่า? เพราะถ้านับรวมสิ่งเหล่านั้นด้วย รูปส่วนใหญ่บนโซเชียลมีเดียก็มีฟิลเตอร์กันทั้งนั้น” ชัดดากล่าว
เขามองว่าหน่วยงานจะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่านี้ว่าการใช้ฟิลเตอร์คืออะไร และเส้นแบ่งขอบเขตอยู่ที่ไหน