หมดยุค Influencer ‘เล่นตัว’ อัพราคา ต้องมี DNA สื่อสารแบรนด์ได้มีสไตล์

ก่อนที่ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลของไทย จะจัดงาน “THAILAND ZOCIAL AWARDS 2021” ก็ได้ออกมาอัปเดตภาพรวมโซเชียลมีเดียยอดฮิตของคนไทย พร้อมกับจัดเสวนา How to measure success of social media performance พร้อมพา ‘กูรูการตลาดดิจิทัล’ มาฉายภาพการ ‘รับมือ’ การเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา พร้อมกับแนะนำวิธีการรับมือกับ ‘ความไม่แน่นอน’ ที่ยังมีในปี 2021 นี้

2020 ปีที่การตลาดไร้กระบวนท่า

สิ่งที่เกิดหลัก ๆ ในปีที่ผ่านมาคือ ‘งบลดลง’ ดังนั้น งานโปรดักชั่นที่ใหญ่ของแคมเปญมาร์เก็ตติ้งจะน้อยลง แบรนด์เริ่มหันมาใช้เครื่องมือการตลาด เพื่อผลักดันสินค้าที่แท้จริงมากขึ้น เพื่อสะท้อนสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะเป็น และไทอินสินค้าควบคู่ไปด้วย

เมื่อมีการล็อกดาวน์คนใช้งานโซเชียลมีเดียสูงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ทำคือ ‘ชวนคนคุย’ ‘ชวนแบรนด์อื่นคุย’ ทำตัวเป็นหนึ่งในคอมมูนิตี้มากขึ้น จากเดิมสร้างคอนเทนต์และเอนเกจเมนต์ นอกจากนี้ยังทำ ‘Social Commerce’ มากขึ้น โดยสร้างแบรนด์น้อยลงแต่มาโฟกัสที่การขายมากขึ้น

“การตลาดที่ไร้กระบวนท่ามากขึ้น เริ่มเห็นคอนเทนต์ใหม่ ๆ จากรูปแบบใหม่ ๆ เช่น TikTok เห็นการรีวิวสินค้าแบบจริงใจ นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเปิดกว้าง และพร้อมจะเปลี่ยนแบรนด์ เมื่อได้เห็นคอนเทนต์ที่จูงใจ! เริ่มเห็นคอนเทนต์เข้ามาใช้ TikTok แชร์ไปยังโซเชียลฯ เพื่อหาผู้ติดตามใหม่ ๆ” มัณฑิตา จินดา กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง ดิจิทัล ทิปส์ อคาเดมี กล่าว

ภาพจาก : pixabay

อินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องปรับตัวไม่ใช่แค่แบรนด์

‘อินฟลูเอนเซอร์’ ถือเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกของแบรนด์ในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ เพราะแบรนด์ไปทุ่มกับดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันคนก็ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ง่ายขึ้นมาก อย่าง ‘TikTok’ ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เกิดอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ ทำให้อินฟลูเอนเซอร์บางรายที่ทำตัว ‘น่าหมั่นไส้’ สามารถเลือกรับงานได้ แต่ตอนนี้ต้องเจอกับคู่แข่งที่มากขึ้น ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์ต้องปรับความคิดใหม่ถ้ายังอยากอยู่ในธุรกิจนี้

“เมื่อก่อนอินฟลูเอนเซอร์เลือกได้ จะรับไม่รับงานก็ได้ แต่ตอนนี้แข่งกันเยอะมาก แม้กระทั่งการแข่งขันที่ข้ามแพลตฟอร์ม ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์ต้องมาวางแผน ใช้แค่แพลตฟอร์มเดียวไม่พอ และไม่ใช่แค่ไทอิน แต่ต้องมีการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ สามารถทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์นั้น ๆ ต้องนำเสนอสิ่งที่แบรนด์ต้องการด้วยดีเอนเอของคุณ และเสนอผลลัพธ์ให้แบรนด์ได้พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนี่มายด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว

ใช้ความหลากหลายรับมือความไม่แน่นอน

ในช่วง 1-2 ปีนี้ มีความไม่แน่นอนสูงมาก สิ่งที่จะได้เห็นในปี 2021 คือ แบรนด์จะใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เคยลองก็ตาม นอกจากนี้การสื่อสารจะยิ่ง ‘โปร่งใส’ แสดงอย่างตรงไปตรงมา มีจุดประสงค์มากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของ ‘สิ่งแวดล้อม’ ส่วนการใช้อินฟลูเอนเซอร์จะยังคงเห็นอยู่

นอกจากนี้ การใช้ Facebook Group ที่มากขึ้น ผู้บริโภคไม่พูดคุยกันในที่เปิด แต่พูดคุย-ซื้อขายกันในกลุ่ม ดังนั้น แบรนด์จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะคุยกับเขาโดยไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว และการทำตลาดแบบ Direct to consumer หรือทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภคจะมาแน่นอน แบรนด์เริ่มไม่ทำการตลาดผ่านตัวกลางแล้ว เพื่อทำให้ลูกค้าใกล้ชิดแบรนด์มากขึ้น ทำให้แบรนด์มีอิทธิพล (Leverage) มากขึ้น

“เพราะ COVID-19 ทำให้สนามการแข่งขันทุกตลาดเดือดมาก แบรนด์ต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคแล้วปรับตัว ไม่ได้มองแค่ What แต่ต้องมองหา Why พยายามหาช่องว่างจากอินไซต์ ดังนั้น อยากให้หาช่องทางที่ตอบโจทย์ ทำในสิ่งที่ถนัด และโฟกัสให้มากขึ้น” สโรจ เลาหศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าว