ATM D.I.Y.

หน้าจอนี้บ่งบอกความเป็นตัวฉัน ถ้าอยากบอกว่าเป็นคนหวานก็เลือกรูปดอกไม้ อยากแรงดูเป็นวัยรุ่นก็ต้องกราฟฟิตี้ และอีกหลายแบบให้เลือก แต่ไม่ใช่ผ่านจอคอมพิวเตอร์ มือถือ สมาร์ทโฟนแค่นั้น ที่ ”ตู้เอทีเอ็ม” ก็โชว์ตัวได้ จากบริการ K-My ATM ที่เคแบงก์เลือกตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า เพื่อส่งต่อไปยังกระบวนการทำซีอาร์เอ็มให้รู้จักตัวตนลูกค้ามากขึ้น ก่อนไปสู่เป้าหมายสุดท้ายลดเวลาที่อยู่หน้าตู้ ลดคิวให้สั้นลง และขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ง่ายขึ้นในอนาคต

จากข้อมูล Consumer Insight จนเป็นที่มาของบริการล่าสุดนี้ ”ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า เพราะลูกค้ายุคนี้มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความชอบแตกต่างกัน และมีการแสดงความชอบผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การเปลี่ยน Theme มือถือ การปรับแต่งหน้า Social Media โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ วัยทำงานเริ่มต้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารหวังดึงให้มาใช้บริการธนาคารมากขึ้น

ที่จอตู้เอทีเอ็มก็ตอบโจทย์ลูกค้าได้เช่นกัน ด้วยบริการ Personalize ATM เมื่อเสียบบัตร กดรหัสก็เลือกรูปแบบพื้นหลังของหน้าจอ (Theme Background) ได้ตามสไตล์ของตนเอง และจะโชว์ทันทีเมื่อใช้บริการครั้งต่อไป และปลายปีนี้จะมีบริการ Customized การใช้งานให้มีระบบจดจำการใช้บ่อย (Save Favorite Function) ที่ลูกค้าแต่ละคนเลือกเอง โดยรายการหน้าจอจะ Shortcut โชว์บริการที่ลูกค้าใช้งานประจำ เช่น โอนเงิน การเติมเงินมือถือ การจ่ายบิล ยอดเงินที่ถอนบ่อย ทำให้บริการได้เร็วขึ้น 50% จากเฉลี่ยลูกค้าคนหนึ่งใช้บริการหน้าตู้ประมาณ 1 นาที เป็นการต่อยอดกลยุทธ์ที่สร้างจาก Emotional ให้ลูกค้าพึงพอใจ มาถึงการใช้งาน (Functional) ได้ในที่สุด

นอกจากนี้ตู้เอทีเอ็มจะเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการจดจำธุรกรรมที่ลูกค้าใช้บ่อย ทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ตรงกับความต้องการของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมาเคแบงก์มีบริการแล้ว 2,000 ตู้และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้บริการได้ครบ 7,500 ตู้ทั่วประเทศ

ขณะที่แบงก์อื่นอย่างกรุงไทย และไทยพาณิชย์กำลังเล่นเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการตู้เอทีเอ็มเป็นจุดขาย ตามกระแสจารกรรมผ่านตู้ แต่เคแบงก์ขอขยับให้ตู้เอทีเอ็มส่วนตัวทำให้ลูกค้าพอใจ ไม่หนีไปกดตู้อื่นจนต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ต่างแบงก์ ที่สำคัญยังได้รู้จักลูกค้า จนเป็นช่องทางต่อยอดขยายบริการใหม่ๆ ได้อีก คอนเซ็ปต์ชัดเจนสรุปได้ว่า K-My ATM คือ K-My Customer จริง ๆ

ช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าเคแบงก์
เอทีเอ็ม 80%
อินเทอร์เน็ต 10%
โทรศัพท์มือถือ 10%
    ท็อป 5 การใช้บริการตู้เอทีเอ็ม

  1. ถอนเงินสด
  2. ถามยอด
  3. โอนเงินบุคคลที่ 3 ธนาคารเดียวกัน
  4. โอนเงินบุคคลที่ 3 ต่างธนาคาร
  5. ชำระสินค้าและบริการ
K-My ATM
Launched 15 สิงหาคม 2553 ที่สำนักงานเคแบงก์ พหลโยธิน
Positioning เอทีเอ็มที่ให้บริการได้ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน
Product Detail มีบริการแบบ Emotional จากธีมภาพในจอ 6 แบบให้เลือก ภาพกีฬา ดอกไม้ ภาพศิลปะ ธรรมชาติ /กราฟิก และภาพกรีน และFucntional ในปลายปีนี้ที่จะมี Shortcut บริการลูกค้าที่ใช้บ่อย จดจำบริการที่ลูกค้าใช้บ่อยจนต่อไปใช้เป็นสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ลูกค้าแต่ละคน
Target ลูกค้าปัจจุบันของเคแบงก์และขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่วัยเริ่มทำงาน
Market Analysis ตู้เอทีเอ็มเป็นจุดที่ลูกค้ามาใช้บริการถึงกว่า 80% ของธุรกรรมทางการเงิน การทำให้ลูกค้าพอใจจากบริการที่เร็วขึ้นและตรงกับความต้องการ ขณะที่แบงก์เน้นเรื่องความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสของแบงก์ในการรักษาฐานและหาลูกค้าใหม่ และยังดึงลูกค้าของแบงก์มาใช้ตู้ของตัวเองมากขึ้นเพื่อ หากใช้ตู้ต่างแบงก์เกิน 4 ครั้งในครั้งที่ 5 ต้องเสียค่าธรรมเนียม 5 บาท นอกจากนี้ตู้เอทีเอ็มยังสามารถใช้เป็นสื่อโฆษณาเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายที่สุด