รู้จัก ‘Funding Societies’ เเพลตฟอร์มระดมทุนเจ้าใหญ่ รุกหา SMEs ไทย ให้ ‘เงินทุน’ เเบบไม่มีหลักประกัน

การไม่เข้าถึงเเหล่งเงินทุน เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของ SMEs เเละสตาร์ทอัพสัญชาติไทยเรื่อยมา เเละยิ่งเพิ่มมากขึ้นในยามเศรษฐกิจตกต่ำ เหล่านี้เป็นช่องว่างธุรกิจที่ดึงดูดให้แพลตฟอร์มระดมทุนจากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาคว้าโอกาสนี้ในไทยกันมากขึ้น

ล่าสุดFunding Societies’ แพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัลสำหรับ SMEs รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นอีกเจ้าที่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเรา หลังได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ให้บริการระบบ Crowdfunding หรือแพลตฟอร์มระดมทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (...) 

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับFunding Societiesเเพลตฟอร์มระดมทุนที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนเเละผู้ประกอบการรายย่อยให้มาพบกัน

ทำไม Funding Societies ถึงมาไทย ?

Funding Societies คือแพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัล ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย เปิดกิจการมาตั้งเเต่ปี 2015 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการระดมทุนอย่างถูกต้องทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เเละล่าสุดในไทย

ที่ผ่านมามีการระดมทุนรวมมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.5 หมื่นล้านบาท) ได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาแล้วจำนวน 65,000 ราย มีนักลงทุนทั้งหมดบนแพลตฟอร์มราว 200,000 ราย 

มีบริษัทนักลงทุนใหญ่ๆ เข้าร่วมระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มของ Funding Societies อย่าง Sequoia India, Softbank Ventures Asia Corp, Qualgro, LINE Ventures ฯลฯ โดยได้รับการระดมทุน Series C 1,300 ล้านบาท (ราว 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา

เรามองเห็นศักยภาพของ SMEs และสตาร์ทอัพที่มีอยู่หลายล้านรายในประเทศไทย พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการเงินที่เท่าเทียม วารุน บันดารี กรรมการผู้จัดการใหญ่ Funding Societies ประเทศไทย กล่าว

จากข้อมูลของบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 3 ล้านราย แต่มากกว่าครึ่งกำลังประสบปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น

วารุน บันดารี กรรมการผู้จัดการใหญ่ Funding Societies ประเทศไทย

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เกิดช่องว่างทางการเงินแก่ธุรกิจ SMEs มากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 ล้านล้านบาท) เเละภาวะขาดแคลนเงินทุนยิ่งทวีความเลวร้ายมากขึ้นในวิกฤตโรคระบาด เพราะสถาบันการเงินต่างพยายามลดอัตราการปล่อยสินเชื่อให้น้อยลงเพื่อลดความเสี่ยง

วารุนบอกว่า ธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยมากกว่า 40% ทำให้เกิดอัตราการจ้างงานถึง 78.5% แต่กลับต้องเผชิญปัญหานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินรูปแบบเดิมเนื่องจากขาดแคลนหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันรวมถึงข้อกำหนดการยื่นเอกสารที่ยุ่งยากและขั้นตอนการอนุมัติที่ใช้เวลานาน

…นี่จึงเป็นโอกาสของ Funding Societies ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในไทย

ตามหา SMEs โปรไฟล์ดี 

Funding Societies จะให้บริการ ‘Debt Crowdfunding’ หลักๆ ได้เเก่ ช่วยเหลือ SMEs ขนาดเล็ก โปรไฟล์ดี ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องการเงินลงทุนตั้งแต่ 5-30 ล้านบาท ขณะที่ในเว็บไซต์ระบุว่าเงินทุนสูงสุด 50 ล้านบาท

โดยเป็นเเพลตฟอร์มเชื่อมระหว่าง SMEs และนักลงทุน ให้สามารถลงทุนได้ ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งแพลตฟอร์มจะประเมินความเสี่ยงด้านสินเชื่อเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

การพิจารณาการให้ทุน จะมีการตรวจสอบเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ รายการเดินบัญชีจากธนาคาร เบื้องต้นในบางกรณีจะสามารถอนุมัติเงินทุนได้ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนปกติจะสามารถอนุมัติเงินทุนให้คุณได้เร็วสุดภายใน 3 วันหลังได้รับเอกสารครบถ้วน

เงินทุนเพื่อธุรกิจนี้เหมาะสำหรับนิติบุคคลในไทย ยกเว้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 12 เดือน เเละไม่มีประวัติค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน ซึ่งจะทำการพิจารณาคำขอระดมทุนเป็นรายกรณีไป 

สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น สืบพงศ์ ชัยวนนท์ รองประธานฝ่ายเครดิต Funding Societies ประเทศไทยให้ข้อมูลกับ Positioningmag ว่า จะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2% ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเเต่ละกรณี เเละมีระยะการผ่อนชำระตั้งเเต่ระยะสั้น 3 เดือนไปจนถึงสูงสุด 24 เดือน

เมื่อถามว่า หากไม่มีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเเล้ว หากมีการผิดชำระขึ้นมาจะจัดการอย่างไร ผู้บริหาร Funding Societies ตอบว่า จะดำเนินการตามตามสัญญากู้เงินที่ระบุไว้ตามข้อตกลง ซึ่งบริษัทพยายามจำกัดอัตราการผิดชำระหนี้ให้ต่ำกว่า 2% ซึ่งต่ำกว่าในตลาดที่อยู่ราว 5%

ด้านนักลงทุนสามารถเริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ 10,000 บาท เป็นการร่วมสนับสนุน SMEs ไทยที่นักลงทุนชื่นชอบให้สามารถขยายกิจการหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้ รวมถึงเป็นช่องทางในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบเเทนเป็นที่พอใจ ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

โดยจะมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยทำให้สามารถนำแสนอรูปแบบการระดมทุนแบบใหม่ๆ ที่รวดเร็วสะดวก และไม่แพงจนเกินไป

ผู้บริหาร Funding Societies กล่าวว่า การการันตีผลตอบแทนนั้น ขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เเต่อ้างว่ามีอัตราสูงกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ชนิดอื่น ๆ 

Funding Societies บอกถึงเผนธุรกิจในในช่วง 1-2 ปีแรกของการรุกตลาดไทย ว่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลข  ในช่วงเริ่มต้นเรายังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า จะมีการระดมทุนให้ SMEs ไทยได้เท่าไหร่ และมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนผ่านแพลตฟอร์มของเราเท่าไหร่

เเต่ทิศทางธุรกิจจะเน้นไปที่การทำความเข้าใจความต้องการในตลาดเเละธุรกิจ SMEs ในไทยมากกว่า ว่าพวกเขาขาดอะไร ต้องการอะไร ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการ

ผู้เล่นในตลาด ‘ระดมทุน’ ไทย 

การระดมทุน แบบ Crowdfunding มีมานานมากเเล้วในต่างประเทศ เเต่ในไทยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หลักๆ ซึ่งเป็นที่นิยม จะมีอยู่ 2 ประเภท ได้เเก่ 1) Debt Crowdfunding 2) Equity Crowdfunding 

โดย Debt Crowdfunding ประเภทธุรกิจผู้ขอเงินทุน กลุ่ม SMEs หรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุนเพื่อหมุนเวียนธุรกิจ จ่ายดอกเบี้ยต่ำ และความเสี่ยงของผู้ลงทุนต่ำกว่า โดยบริษัทที่เป็นผู้ขอเงินทุน จะอยู่ในสถานะลูกหนี้

Equity Crowdfunding คือ การระดมทุนจากบุคคลทั่วไป โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็น หุ้น (Equity) หรือ สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งเจ้าของกิจการจะเป็นผู้ควบคุม และกำหนดนโยบายได้ว่าจะจ่ายผลตอบแทนเป็น กำไร เงินปันผล หรือ หุ้นให้กับผู้ลงทุน ประเภทธุรกิจผู้ขอเงินทุนจะเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก ที่ต้องการเงินลงทุนในช่วงเริ่มต้น หรือ ช่วงขยายกิจการ

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มระดมทุนที่เปิดให้บริการในประเทศไทยอย่าง

  • Taejai.com เทใจดอทคอม มุ่งให้ทุนเเก่ชกลุ่มที่อยากจะทำเรื่องดีดีเพื่อสังคม
  • DURIAN CORP Where Angle Meet Unicorns แพลตฟอร์มสร้างนวัตกรรมครบวงจรเสนอแหล่งเงินทุนเพื่อสตาร์ทอัพผลักดันให้บริษัทไทยเป็นยูนิคอร์น
  • Sinwattana สินวัฒนา เปิดตัวมาตั้งเเต่ปี 2013 จากเเนวคิดที่ว่า อยากให้เกิดแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงในเอเชีย และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (...) เปิดให้บริการระดมทุนแบบครบวงจร
  • XUXU หรือสู้สู้แพลตฟอร์ม Crowfunding ของไทยให้เงินทุนกับธุรกิจใหม่ๆ ที่มีไอเดียเจ๋งๆ
  • Dreamaker Equity Crowdfunding เป็นการระดมทุนแบบ Investment-based Crowdfunding ผ่านทางเว็บไซต์ เน้นให้เงินทุนเเก่บริษัทที่มีเเนวโน้มจะเติบโต

นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์ม Crowdfunding ของต่างประเทศที่มาตีตลาดไทย อย่าง Kickstarter, Indiegogo เเละ StartEngine

ต้องจับตาดูว่าธุรกิจ Crowdfunding ที่เจาะตลาด SMEs ขนาดเล็กในไทยจะเป็นไปอย่างไร หลังมีเจ้าใหญ่กระโดดเเย่งชิงโอกาสทองนี้