กางแผน ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ กับภารกิจเป็น ‘Top of Mind’ ในตลาด ‘รถอีวี’

หากใครจำได้ถึงข่าวใหญ่ในปี 2020 ที่ ‘General Motor’ (GM) หรือแบรนด์ ‘เชฟโรเลต’ ที่คนไทยคุ้นเคยได้ม้วนเสื่อเลิกกิจการในไทย และผู้ที่เข้ามาซื้อโรงงานต่อจาก GM ก็คือ ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ (Great Wall Motor : GWM) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากจีน

ซึ่งทางผู้บริหารของบริษัทที่นำโดย “เอลเลียต จาง” ประธาน และ “สตีเฟ่น หวัง” รองประธาน ฝ่ายขายและการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย พร้อมด้วย “ณรงค์ สีตลายน” กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย จะมาเปิดเผยถึงกลยุทธ์ที่จะใช้ลุยตลาดไทย รวมถึงเป้าหมายในฐานะน้องใหม่

(จากซ้ายไปขวา) มร. เอลเลียต จาง, มร. สตีเฟ่น หวัง, นายณรงค์ สีตลายน

รู้จัก ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’

เกรท วอลล์ มอเตอร์ได้เริ่มก่อตั้งในปี 1984 โดย แจ็ค เว่ย ซึ่งตอนนั้นเขาอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น โดยในปี 1996 บริษัทได้เปิดตัว Great Wall Pickup รุ่น Deer ถือเป็นรถยนต์คันแรกที่เริ่มผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์เกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งรถยนต์รุ่นดังกล่าวสามารถครองแชมป์ตลาดรถกระบะในจีนยาวนานกว่า 23 ปี

จากนั้นก็ได้เปิดตัวแบรนด์รถยนต์เอสยูวีอย่าง ‘HAVAL’ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีอีกครั้งจนกลายเป็นแบรนด์แรกในจีนที่มียอดขายเกิน 5 ล้านคัน และขึ้นเป็นแบรนด์รถเอสยูวีที่มียอดขายอันดับหนึ่ง 9 ปีซ้อน อีกทั้งยังกลายเป็น TOP 3 ผู้ผลิตรถเอสยูวีระดับโลกอีกด้วย ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์มีรถยนต์ 4 แบรนด์ย่อยที่สามารถสร้างยอดขายรวมกันกว่า 1 ล้านคันต่อปีเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ได้แก่

  • HAVAL (ฮาวาล) แบรนด์รถเอสยูวี ก่อตั้งขึ้นในปี 2013
  • WEY (เวย์) แบรนด์รถเอสยูวีลักชัวรี ก่อตั้งในปี 2016
  • ORA (โอรา) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเสนอรถยนต์หลากหลายรุ่นที่แตกต่างกัน
  • GWM POER (จีดับเบิลยูเอ็ม พาวเออร์) แบรนด์รถกระบะที่มียอดขายอันดับ 1 เวลา 23 ปีซ้อน

ทำไมมาลงทุนในไทย?

ทางเกรท วอลล์ มอเตอร์ได้ระบุว่าบริษัทได้เตรียมงบลงทุนในไทยถึง 22,600 ล้านบาท โดยมีแผนจ้างงานกว่า 5,000 คนภายใน 3 ปี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บริษัทเลือกเข้ามาลงทุนในไทยนั้นเป็นเพราะความพร้อมทั้งจุดยุทธศาสตร์ บุคลากร และทรัพยากร นอกจากนี้ยังมีนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนพลังงานทดแทน และการขับเคลื่อนประเทศด้วยไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีทั้ง 4G และ 5G ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์

นอกจากนี้ ตลาดประเทศไทยยังถือเป็นตลาดที่มีความยากและท้าทาย ดังนั้น บริษัทจึงมองว่าการทำตลาดในไทยจะช่วยให้เกิดความสนุกในการสร้างสรรค์กลยุทธ์ต่าง ๆ

Great Wall Motor factory. (Photo credit should read Costfoto/Barcroft Media via Getty Images)

ปั้นไทย HUB ส่งออกพวงมาลัยขวา

เบื้องต้น บริษัทตั้งเป้าที่จะวางให้ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกรถพวงมาลัยขวา โดยคาดว่าในเฟสแรกโรงงานที่ระยองจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 80,000 คัน โดย 60% ผลิตเพื่อป้อนตลาดประเทศไทย อีก 40% เป็นตลาดส่งออก ปัจจุบัน โรงงานที่ระยองได้เริ่มทดลองไลน์ผลิตแล้ว และจะเริ่มผลิตจริงได้ในไตรมาสสองของปีนี้

“แน่นอนว่าเราจะมีการลงทุนเพิ่มเติมอีกในอนาคต และเราวางแผนให้ต้องใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทยให้ถึง 45% ซึ่งนี่จะเป็นผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย”

ใน 3 ปี ต้องมีรถทำตลาด 9 รุ่น

กลยุทธ์หลักของเกรท วอลล์ มอเตอร์จะมี 3 ส่วน 1.เป็นผู้น้ำรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งแบบไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และ BEV โดยตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ 9 รุ่นใน 3 ปี 2.สร้างแบรนด์ผ่านการฟังเสียงผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล 3.สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า โดยนำข้อมูลที่เก็บมาดีไซน์ เพื่อให้เกิดบริการที่ดีที่สุด โปร่งใสที่สุด เพื่อเกิดการบอกต่อ

โดยในปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดตัวรถ 2 รุ่น ได้แก่ ‘Haval H6’ รถยนต์เอสยูวีขุมพลังไฮบริดเปิดตัวในช่วงไตรมาสสอง โดยจะเป็นรุ่นแรกที่ประกอบในไทย ส่วนอีกหนึ่งรุ่น ‘ORA Good Cat’ รถพลังงานไฟฟ้า 100% ที่จะนำเข้ามาในไตรมาส 4 จากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ราคาอย่างเป็นทางการยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา แต่สามารถยลโฉมจริงได้ครั้งแรกที่งาน Bangkok International Motor Showในวันที่ 24 มี.ค.- 4 เม.ย. ได้เลย

ORA Good Cat

เดินหน้าสร้าง 30 โชว์รูมในสิ้นปี

ในส่วนของแผนการเปิดโชว์รูมนั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ระบุว่าจะไม่ ‘เยอะ’ เหมือนกับคู่แข่ง โดยในปีนี้จะเปิดก่อน 30 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีความแปลกใหม่ไม่เหมือนใครด้วยการใส่นวัตกรรมมายกระดับ และเตรียมสร้าง ‘flagship Service Center’ ของภูมิภาคนี้ในประเทศไทยอีกด้วย

“เราจะเน้นการเชื่อมต่อของ Online to Offline โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องส่งรถมาซ่อมเอง แต่เราจะไปรับ โดยลูกค้าสามารถชมการซ่อมผ่านแอปพลิเคชันได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้น เราจะเน้นไปที่ประสบการณ์ไม่ใช่จำนวน”

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมสร้าง ‘ต้นแบบสถานีชาร์จ’ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค โดยจะเป็นการลงทุนทั้งจากส่วนของบริษัทและร่วมทุนกับภาคเอกชนรายอื่น

ยอดขายไม่เน้น แต่ขอนั่งในใจลูกค้า

ในช่วง 1-3 ปีแรกที่ทำตลาด บริษัทมองว่ายังเป็นระยะสั้น ดังนั้นจึงยังไม่โฟกัสที่เรื่องของยอดขายเป็นเป้าหลัก แต่จะเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้เป็นหลักเพื่อให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวไทย โดยตั้งเป้าที่จะเป็น ‘Top of Mind’ ของลูกค้าเมื่อนึกถึงรถเอสยูวีและรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ตลาดประเทศไทยเองก็มีการแข่งขันสูง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

“เราเป็นน้องใหม่ในไทย แต่ก็เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในจีน ดังนั้นเราไม่รีบร้อน เราจะเน้นที่จะทำความรู้จัก เพื่อให้เกิดการยอมรับของแบรนด์ อดีตแบรนด์จีนอาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร แต่ 4-5 ปีหลังแบรนด์จีนได้รับความนิยมและการยอมรับเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น เรามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวไทย

ไม่แข่งราคา แต่มั่นใจว่าถูกใจแน่นอน

ในเรื่องของราคาที่ผู้บริโภคไทยจะติดภาพว่าแบรนด์จีนต้อง ‘ถูก’ ซึ่งบริษัทยืนยันว่าไม่ได้คิดจะแข่งเรื่อง ‘ราคา’ แต่มั่นใจว่าเป็นราคาคุ้มค่า เพราะคิดจากความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ว่าต้องการสเปกแบบไหน ใช้งานอะไร เพื่อดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ดังนั้น บริษัทไม่ได้มีแผนว่าจะต้องตั้งราคาแข่งกับใคร แต่เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าไทยแน่นอน

ดูเหมือนว่าตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยจะเริ่มดุเดือดไม่แพ้ตลาดโลกซะแล้ว งานนี้บริษัทรุ่นพี่จากจีนอย่าง ‘MG’ ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคงมีหนาว ๆ ร้อน ๆ บ้างแล้ว