OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะหดตัวลง 4.2% แต่ในปี 2021 ที่มี ‘วัคซีน’ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ทำให้ภาพของเศรษฐกิจโลกกลับมาสดใสอีกครั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของอินเดียที่ตกสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีเพราะพิษ COVID-19 แต่ในปี 2021 เศรษฐกิจของอินเดียน่าจะกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง และเติบโตสูงสุดในโลกเลยทีเดียว
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 เศรษฐกิจของ อินเดีย มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเป็นการยุติภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้โดยรวมเศรษฐกิจอินเดียหดตัวประมาณ 7% และในปี 2021 นี้ตามการคาดการณ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มองว่า GDP ของอินเดียจะขยายตัว 12.6% ในช่วงปีงบประมาณของประเทศที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน
ซึ่งระดับการเติบโตดังกล่าวจะทำให้อินเดียสามารถเรียกคืนสถานะเป็นเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุด โดยขโมยตำแหน่งกลับจาก จีน ซึ่ง OECD คาดว่าจีนจะเติบโตได้ 7.8% หลังจากในปี 2020 จีนสามารถรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ และเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักหนึ่งเดียวที่เติบโตได้ โดยเติบโต 2.3%
ส่วน สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะขยายตัว 6.5% ในปีนี้ จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.3% โดย OECD ชี้ให้เห็นถึงผลของ “การสนับสนุนทางการคลังที่แข็งแกร่ง” จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่วนเศรษฐกิจของ ยุโรป นั้นคาดว่าจะเริ่ม “ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น” โดย 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโรคาดว่าจะเติบโต 3.9% ส่วนเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับผลกระทบใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปจะเติบโต 5.1%
OECD ยังเปิดเผยถึงแนวโน้ม เศรษฐกิจทั่วโลก ว่า แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากการติดตั้งวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 และการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และมาตรการล็อกดาวน์ล่าสุด ไม่ได้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจมากเท่ากับครั้งก่อนหน้า ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 5.6% ในปี 2021 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.2%
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดย OECD ตั้งข้อสังเกตว่า แคมเปญวัคซีนกำลังดำเนินไปด้วยความเร็วที่ต่างกันทั่วโลก และยังมีโอกาสที่จะเกิดการ กลายพันธุ์ใหม่ที่ต่อต้านวัคซีน
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการถกเถียงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ตลาดสั่นคลอน โดยนักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นว่าการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในปลายปีนี้ ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดการซื้อพันธบัตรเร็วกว่าที่คาดไว้
“อุปสงค์ที่ฟื้นตัวเร็วเกินคาดโดยเฉพาะจากจีนประกอบกับอุปทานที่ขาดแคลนได้ส่งผลให้ราคาอาหารและโลหะสูงขึ้นอย่างมากและราคาน้ำมันก็ดีดตัวขึ้นสู่ระดับเฉลี่ยในปี 2019”
แต่หน่วยงานดังกล่าวย้ำว่า ด้วยเศรษฐกิจและตลาดงานที่ยังคงอ่อนแอ ธนาคารกลางควรคงนโยบายการเงินแบบหลวม ๆ ที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเกินเป้าหมายบางส่วนก็ตาม