ยุโรปป่วน! รัฐกลับมาใช้ “แอสตราเซเนกา” แต่ประชาชนเสียความเชื่อมั่น ชะลอการรับวัคซีน

Photo : Shutterstock
หลังหน่วยงาน อย. ของยุโรปประกาศไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีน “แอสตราเซเนกา” กับอาการลิ่มเลือดอุดตัน หลายประเทศในยุโรปทยอยกลับมาใช้วัคซีนแบรนด์นี้อีกครั้ง แต่ปัญหาใหม่ก็คือ…ประชาชนบางส่วนขาดความเชื่อมั่นและปฏิเสธเข้ารับการฉีดวัคซีน จนภาครัฐกลุ้มใจเพราะอาจพลาดเป้าหมายการฉีดวัคซีนครบ 70% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ภายในเดือนกันยายนนี้

สถานการณ์ COVID-19 ในยุโรปปัจจุบันมีปัญหารุมเร้าไม่น้อย จากการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนด เกิดการระบาดระลอกที่สาม และไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ แถมยังมีประเด็นผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จนต้องหยุดการฉีดวัคซีนไปหลายวัน กระทั่งกลับมาฉีดใหม่อีกครั้ง ประชาชนก็ยังแสดงความกังวลใจและปฏิเสธการเข้ารับวัคซีนยี่ห้อนี้

องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ประกาศเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2021 ว่า หน่วยงานไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกากับอาการลิ่มเลือดอุดตัน ดังนั้น วัคซีนชนิดนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย โดยมองว่าประโยชน์จากวัคซีนยังคงมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

astrazeneca vaccine
Photo : Shutterstock

หลัง EMA ประกาศผลการตรวจสอบ หลายประเทศยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน ไซปรัส และเนเธอร์แลนด์ ประกาศกลับมาใช้แอสตราเซเนกาฉีดให้กับประชาชนทันที เพียงแต่อาจจะมีเงื่อนไขบ้าง เช่น ฝรั่งเศส แนะนำให้ฉีดในคนวัย 55 ปีขึ้นไป เพราะผลการพบอาการลิ่มเลือดอุดตันเกือบทุกเคสเกิดขึ้นในคนวัยต่ำกว่า 55 ปี กลับกันในเยอรมนี แนะนำให้ฉีดในคนวัยไม่เกิน 65 ปี

ขณะที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ระบุว่าจะยังชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานรัฐจะยืนยันความปลอดภัย แต่ประชาชนบางส่วนยังคงหวาดกลัวและเลือกที่จะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนจนกว่าจะมียี่ห้ออื่นเข้ามา ซึ่งอาจเป็นปัญหาทำให้การฉีดวัคซีนล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าของ EU ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และกลับมาใช้ชีวิตปกติกันได้เร็วที่สุด

 

ประชาชนบางส่วนส่อแววถอยหนีแอสตราเซเนกา

โพลที่สำรวจใน ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา (ก่อนการประกาศของ EMA) พบว่ามีประชาชนเพียง 20% ที่ยังเชื่อมั่นในวัคซีนแอสตราเซเนกา

(Photo by Pascal Le Segretain/Getty Images )

ขณะที่ใน เยอรมนี วันแรกหลังรัฐกลับมาใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา สำนักข่าว CNN สำรวจศูนย์เข้ารับการฉีดวัคซีนแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน พบว่ามีคนเข้ารับบริการค่อนข้างน้อย จากตารางการฉีด 500 คนต่อวัน ผ่านไปแล้วครึ่งวันเพิ่งมีคนเข้ารับการฉีดไปเพียง 137 คน ทีม CNN ยังสัมภาษณ์ความเห็นของคนที่เข้ารับการฉีดว่าตัวเธอเองลังเลใจ แต่แพทย์ประจำตัวแนะนำว่าควรฉีดวัคซีน จึงมาฉีดวัคซีนในวันนี้

ส่วนใน โปรตุเกส ก็เกิดกระแสความกังวลและจะหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา จนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ สมาคมหน่วยสุขภาพครอบครัวแห่งชาติ ออกโรงเตือนว่าหากใครปฏิเสรับวัคซีนแอสตราเซเนกา จะต้องไปต่อคิวรับวัคซีนที่ท้ายแถว และไม่ว่าคนไข้หรือแพทย์ก็ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน

 

ปัญหาหนัก…ประชาชนเลือก “รอ” วัคซีนยี่ห้ออื่น

ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาวะสังคมโลก มหาวิทยาลัยเซาธ์แธมตัน สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า เมื่อเกิดการระงับใช้วัคซีนเป็นวงกว้างใหลายประเทศ โดยในบางประเทศมีประชากรที่ลังเลต่อการฉีดวัคซีนอยู่แล้วนั้น การจะกลับมาสร้างความมั่นใจให้ประชาชนอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงว่าประชาชนจะเริ่มพึงพอใจวัคซีนยี่ห้อหนึ่งมากกว่าอีกยี่ห้อหนึ่ง และยอมที่จะชะลอการรับวัคซีนออกไปเพื่อรอวัคซีนยี่ห้อที่ต้องการ โดยเฮดย้ำว่า ที่จริงแล้ววัคซีนที่ได้รับการรับรองแล้วแต่ละยี่ห้อมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน เท่าที่เก็บข้อมูลได้ในตอนนี้

Photo : Shutterstock

“เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ผมกลัวว่ามันจะเกิดขึ้น และถ้าประชาชนรอที่จะฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่น หรือหนักที่สุดคือไม่รับวัคซีนเลย โรคระบาดก็จะยิ่งยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น” เฮดกล่าว “แน่นอนว่าคุณจะได้เห็นเคสผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มขึ้น และผลสุดท้ายคือมีคนเสียชีวิตมากขึ้น”

ปัจจุบัน ยุโรปมีการสั่งซื้อวัคซีนแล้ว 4 ยี่ห้อ คือ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca), ไบโอเอนเทค-ไฟเซอร์ (BioNTech-Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna) และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

3 ยี่ห้อแรกนั้นเริ่มฉีดแล้วในยุโรป เหลือเพียงจอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน ที่คาดว่าจะเริ่มรับสินค้าและใช้ช่วงกลางเดือนเมษายนนี้

ความเชื่อมั่นต่อวัคซีนแอสตราเซเนกาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่ยุโรปที่ใช้ CNN รายงานว่าขณะนี้มี 143 ประเทศในโลกที่สั่งซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว และมีถึง 81 ประเทศหรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่สั่งยี่ห้อแอสตราเซเนกา กระจายไปในทุกทวีปของโลก นอกจากยุโรปแล้ว มีประเทศขนาดใหญ่ที่ใช้ เช่น แคนาดา เม็กซิโก อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น รวมถึงประเทศไทยก็สั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาเช่นกัน

Source