เปิดอินไซต์ พฤติกรรม ‘Contactless’ ของคนไทย ใช้จ่ายโดยไม่พึ่ง ‘เงินสด’ ได้นานถึง 8 วัน

วิกฤตโรคระบาด กระตุ้นให้ผู้คนปรับไลฟ์สไตล์เข้ากับดิจิทัลมากขึ้น หลายคนได้ทดลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดเเละมีทัศนคติในการชำระเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ผลสำรวจล่าสุดจากวีซ่า’ (VISA) ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society ได้ในปี 2026 หรือเพียง 4-5 ปี นับจากนี้ ถือว่าเร็วขึ้น’ จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลานานถึง 10 ปี หรือปี 2030

จากความเห็นของผู้บริโภคจำนวน 1,000 คน อายุระหว่าง 18-65 ปี รายได้ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน พบว่ากว่า 4 ใน 5 หรือประมาณ 82% ของกลุ่มตัวอย่างได้ทดลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด โดยเฉลี่ยคนไทยเห็นว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างไร้เงินสดได้นานถึง 8.1 วัน เพราะสามารถสั่งอาหารเเบบเดลิเวอรี่ รถเมล์เเละร้านสะดวกซื้อก็แตะบัตรจ่ายได้ 

เมื่อเจาะลึกลงไป เห็นได้ชัดว่าการมาของ COVID-19 มีผลต่อการใช้จ่ายอย่างมาก โดยสัดส่วนผู้ที่ใช้ชีวิตโดยไร้เงินสด 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้นเป็น 19% จากปีก่อนที่ 17% และเมื่อเพิ่มระยะเวลาเป็น 1 เดือนจะมีสัดส่วนที่ 4% จากปีก่อนหน้าที่ 3%

โดยมีคนไทยพกเงินสดน้อยลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 51% จากเดิมอยู่ที่ 30% เนื่องจากหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเห็นว่ามีความสะดวก ไม่ต้องต่อคิว เช็กความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ง่าย เเละที่สำคัญกว่า 61% มองว่าช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ด้วย


ไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของวีซ่า สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ระบุ

วีซ่าเป็นผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ ครอบคลุม 200 ประเทศทั่วโลก ที่มีฐานลูกค้า 3,500 ล้านบัญชี ทั้งบัตรเครดิต เดบิต และพรีเพด มีธนาคารพาณิชย์พันธมิตร 15,300 แห่ง ร้านค้า 70 ล้านร้านค้า จำนวนธุรกรรมกว่า 1 แสนล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีจำนวนผู้ถือบัตรทั้งเครดิตเเละเดบิตกว่า 70-80 ล้านใบ และมีประชากรที่เข้าถึงบัญชีธนาคารสัดส่วนค่อนข้างสูงถึง 83% ทำให้สัดส่วนการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สูงตามไปด้วยที่ 72% และใช้เงินสดเพียง 28%

ปัจจัยที่สนับสนุนต่อ Cashless Society หลักๆ มาจากความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีเเละการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 78% มีสมาร์ทโฟน 134% และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก 79%

พร้อมๆ กับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระตุ้นการใช้ผ่านบริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อพร้อมเพย์ให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ผู้บริหารวีซ่า บอกว่า จุดเด่นการใช้จ่ายของคนไทย คือ ชื่นชอบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากที่สุดถึง 94% ตามด้วยวิธีการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟน 92% และการแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (Contactless) 89%

ส่วนในด้านของการใช้งานจริงนั้น 45% ของผู้ทำแบบสอบถามเลือกชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด ตามมาด้วยการสแกนชำระผ่านคิวอาร์โค้ด 42% และแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตร 41%

คนไทยคุ้นเคยกับการจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด หรือโอนเงินเพื่อจ่าย มากกว่าในต่างประเทศที่นิยมแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตร เพราะคิดว่าการพกบัตรก็ไม่ได้ลำบากมากนัก ขณะเดียวกันช่วงอายุของลูกค้าก็มีผลต่อการเลือกใช้ โดยกลุ่มผู้ใหญ่ยังนิยมพกบัตร ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีก็จะถนัดจ่ายทางสมาร์ทโฟนมากกว่า

ส่วนในอนาคตนั้นมองว่า การชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน จะเข้ามาเเทนที่การใช้จ่ายผ่านบัตรในทึ่สุด เเต่ยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ โดยบัตรที่ทำจากพลาสติกจะยังคงมีต่อไปอีกสักระยะ เเต่จะค่อยๆ ลดลง ตามเจเนอเรชันที่เปลี่ยนไปของสังคม

Photo : Shutterstock

เตรียมบุก ‘เเตะเพื่อจ่าย’ ทางเรือ ส่วน MRT ยังต่อรอไปก่อน 

เหล่านี้ ทำให้กลยุทธ์ของวีซ่าในปี 2021 จะมุ่งไปที่การเพิ่มสัดส่วนธุรกรรมการจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลสเป็น 20% ของธุรกรรมทั้งหมด จากเดิมที่อยู่ราว 15% เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปี จากก่อนหน้าที่มีแค่ 0.1% เท่านั้น

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนธุรกรรมนั้น มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนบัตรเดบิตเครดิตที่หมดอายุของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากบัตรรุ่นใหม่จะมีฟังก์ชันการใช้งานเเบบคอนแทคเลสได้ทันที รวมไปถึงความก้าวหน้าของเครื่องรับบัตร (EDC) ที่สามารถรับชำระได้ 4 in 1 ได้ โดยล่าสุดยอดการใช้ธุรกรรมการใช้ผ่านคอนแทคเลสในไทยมีมากกว่า 2 ล้านรายการต่อเดือน

นอกจากนี้ วีซ่าจะมีแคมเปญส่งเสริมการใช้จ่ายเเบบคอนแทคเลส โดยการร่วมมือกับพันธมิตรเช่น ผู้ให้บริการทางเรือและรถไฟฟ้าใต้ดิน เเละจับมือกับธุรกิจ e-Wallet รวมไปถึงการทำโปรเจกต์กับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะนำข้อมูล Big Data อย่างพฤติกรรมผู้บริโภค การใช้จ่ายต่างๆ มาพัฒนาร่วมกัน โดยจะเริ่มใน 2-3 เดือนนี้

บริการเเตะเพื่อจ่ายในบริการขนส่งทางเรือ คาดว่าจะได้เห็นในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ส่วนการเเตะเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ยังต้องรอการเจรจาจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐเเละเอกชน ซึ่งมีความพยายามจะทำมานานเเล้ว เเต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาได้ว่าจะใช้ได้จริงเมื่อใด

โดยที่ผ่านมา หลังจากมีบริการเเตะเพื่อจ่ายบนรถเมล์ในไทยกว่า 3,000 คันนั้น พบว่ามีกระเเสตอบรับที่ดี เเต่เมื่อต้องเจอกับการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางต้องมีช่วงหยุดชะงักชั่วคราว ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน เเต่ก็หวังว่าประชาชนจะกลับมาใช้เพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเเละมีการกระจายวัคซีนทั่วถึง

เเม้จะมีปัจจัยหนุนมากมายที่จะทำให้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้นตามยุคสมัย เเต่ในอีกมุมเมื่อถามว่าอะไรเป็นอุปสรรคบ้าง สุริพงษ์มองว่าคือปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตก็ยิ่งมีผลต่อการใช้จ่ายของผู้คนด้วย