จีนแบน H&M! ถอดสินค้าออกจาก 3 แอปฯ ออนไลน์ ประเด็นการใช้ “ฝ้ายซินเจียง”

การเมืองโลกโยงเศรษฐกิจการค้า! “ฝ้ายซินเจียง” เป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อค่ายตะวันตกโจมตีจีนจากประเด็นนี้ ทำให้ฝั่งจีนใช้พลังอำนาจซื้อของประชาชนโจมตี โหมกระแสแบนแบรนด์ตะวันตกที่เคยกล่าวโจมตีฝ้ายซินเจียง โดยมี H&M เป็นเป้าหมายแรก ถูกแบนออกจากแอปฯ ขายของออนไลน์ 3 แห่ง และตำแหน่งร้านค้าถึงกับถูกลบออกจากแอปฯ แผนที่!

ฝ้ายซินเจียงกลับมาเป็นประเด็นร้อนบนเวทีโลกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป (EU), สหราชอาณาจักร และแคนาดา ร่วมกัน “คว่ำบาตร” เจ้าหน้าที่รัฐของจีนจำนวนหนึ่ง โดยสั่งห้ามเข้าประเทศและยึดทรัพย์

สาเหตุการแบน เกิดจากประเด็นที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงทั้งนี้ ประเทศตะวันตกมีการรายงานเสมอเรื่องแคมป์กักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง และใช้แรงงานทาสคนอุยกูร์ในไร่ฝ้าย

ต่อมารัฐบาลจีนออกมาตอบโต้ประเด็นนี้ทันทีโดยปฏิเสธเช่นเคยว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ขณะที่ CGTN สื่อของรัฐบาลจีนมีการเผยแพร่วิดีโอคลิปใน Weibo โซเชียลมีเดียยอดฮิตของจีน แสดงภาพการใช้ระบบออโตเมชันเก็บฝ้ายในซินเจียง และเกษตรกรชาวอุยกูร์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า คนอุยกูร์ต้องต่อสู้ชิงตำแหน่งงานในไร่ฝ้ายเพราะว่าได้รายได้สูง

กระแสรณรงค์จึงถูกจุดขึ้นทั่วโลกออนไลน์ของจีน โดยแฮชแท็กที่แปลว่า “ฉันสนับสนุนฝ้ายซินเจียง” ถูกพูดถึงบน Weibo มากกว่า 1.8 พันล้านครั้ง

H&M สาขาปักกิ่ง (Photo : Shutterstock)

เรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับ H&M เพราะปีที่แล้ว H&M เคยออกแถลงการณ์ว่า แบรนด์มีความ “กังวล” เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ และยืนยันว่าแบรนด์ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ผลิตจากซินเจียง เมื่อชาวเน็ตพบข้อมูลดังกล่าว กระแสบอยคอต H&M จึงแพร่สะพัดทันที

กระแสที่รุนแรงนี้ทำให้ H&M เป็นแบรนด์แรกที่ถูกถอดรายการสินค้าทั้งหมดออกจากแอปฯ ขายของออนไลน์ดัง 3 แห่ง ได้แก่ JD.com, Taobao (เถาเป่า) และ Pinduoduo (พินตัวตัว) ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 64 ผู้ใช้จะค้นหาสินค้าไม่เจออีกต่อไป แม้แต่แอปฯ แผนที่ของจีน เช่น Baidu (ไป่ตู้) ก็ถึงกับลบข้อมูลร้าน H&M ออกจากแผนที่ไปเลย หรือแอปฯ เรียกรถอย่าง Didi ก็ลบร้าน H&M ออกจากสารบบ ผู้ใช้จะไม่สามารถปักหมุดเรียกรถไปกลับจาก H&M สาขาใดๆ ได้

ไม่ใช่แค่ H&M อีกหลายแบรนด์ต่างประเทศกำลังเป็นเป้าหมายถัดไป เพราะเคยออกแถลงการณ์ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง เช่น Nike, Uniqlo, Adidas และแบรนด์ที่เริ่มมีชื่อตกเป็นเป้าบ้างแล้ว เช่น New Balance, Burberry

กระแสนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในจีน เพราะแม้แต่ดาราเซเลบจีนหลายคน เช่น หวังอี้ป๋อ, หวงเซวียน, วิคตอเรีย ซ่ง ยังร่วมรณรงค์กับประชาชน โดยประกาศตัดสัมพันธ์ ยกเลิกสัญญากับแบรนด์ที่เป็นเป้าบอยคอต โดยให้เหตุผลว่า “ประโยชน์ของชาติอยู่เหนือทุกอย่าง”

ในทางกลับกัน กระแสบอยคอตแบรนด์ต่างชาติกลายเป็นอานิสงส์เชิงบวกให้กับแบรนด์จีน หลายแบรนด์พลิกกลับมาแรงตามความรู้สึก “ชาตินิยม” ที่เกิดขึ้น เช่น Li Ning (หลี่หนิง) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาชื่อดัง จนหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้น 8.31% วันนี้

Source: BBC, SCMP, Yahoo Finance