เศรษฐกิจไทย รอฟ้าหลังฝน ‘ครึ่งปีหลัง’ CIMBT คาด Q2/64 จีดีพีโต 7.8% ‘รถยนต์มือสอง’ รุ่ง

Photo : Shutterstock
‘ซีไอเอ็มบี ไทย’ มองภาพเศรษฐกิจไทยต้นปี ‘ไม่สดใส’ คาดไตรมาสเเรกยังหดตัว -4.1% ไตรมาส 2 กลับมาบวก 7.8% จากอานิสงส์การส่งออก เเต่ต้องระวังหลายปัจจัยทั้งวัคซีน การท่องเที่ยว ปัญหาสต๊อกสินค้า การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว ชูธุรกิจ ‘รถยนต์มือสอง-มอเตอร์ไซค์-ค้าปลีก-โรงพยาบาล’ ทยอยฟื้นตัวหลังวิกฤต 

อมรเทพ จาวะล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่าการฟื้นตัวของศรษฐกิจไทย ในช่วงไตรมาส 1 ยังไม่คต่อยสดใสนัก ด้วยผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโรโรนาระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้ผู้คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย กระเเสทำงานที่บ้านหรือ WorK from Home กลับมาอีกครั้งทำให้การเดินทางลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาส 1 เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

CIMBT คาดว่า ตัวเลข GDP ของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสเเรก จะหดตัวที่ -4.1% ก่อนที่ในไตรมาส 2 จะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 7.8% โดยมีปัจจัยหนุนต่างๆ ดังนี้

  • การส่งออกจะเร่งตัวมากขึ้น 

จากการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ กำลังอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยงบประมาณถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะทำให้ GDP สหรัฐฯ กลับมาโตเกิน 6% เมื่อเศราบกิจดีขึ้น ก็จะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าจากไทย อาเซียน จีน และตลาดอื่นๆ

  • คนใช้จ่ายมากขึ้น

จะเริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายที่ดีขึ้น ไตรมาส 2 โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวเร็วกว่าเพื่อนคือกลุ่มอาหารเครื่องดื่มเเละสินค้าเล็กๆ น้อยๆ

  • การส่งเสริมจากรัฐ

คาดว่ารัฐจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งการจับจ่าย เร่งการลงทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2  

Photo : Shutterstock

วัคซีนช้ากระทบท่องเที่ยว ระวังปัญหาสต๊อกสินค้า

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่มองข้ามปัจจัยเชิงลบที่รั้งเศรษฐกิจไตรมาส 2 ให้ยังไม่สดใสถึงขั้นสุดอาทิเช่น ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น จากการกระจายวัคซีนในประเทศที่เพิ่งเริ่มฉีด ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามามากนัก สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ มาตรการผ่อนผันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่น่าจะเข้าช่วยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 

“ภาพรวมวัคซีนจะเริ่มฉีดมากขึ้นไตรมาส 2 สร้างความเชื่อมั่นได้ดีขึ้น คาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่ 2.6% ในปี 2564 ยังไม่เด่นมากนัก เพราะยังขาดการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อเราฉีดวัคซีนได้เต็มที่ ต่างชาติกลับมามากขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยสดใสมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3” 

Photo : Shutterstock

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่ แม้การส่งออกสินค้าดีขึ้น การใช้จ่ายของคนในประเทศดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ‘สต๊อกสินค้า’ ที่ค่อนข้างสูงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ยังคงเป็นปัจจัยให้เอกชนชะลอการลงทุน ชะลอซื้อเครื่องจักรใหม่ ชะลอนำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการขาดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เราหวังเรื่องการย้ายฐานเข้ามาลงทุนมากขึ้น หากการฉีดวัคซีนเริ่มแพร่หลายและเปิดรับต่างชาติเข้ามาแล้ว จะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการลงทุนมากขึ้น    

ด้านการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะสินค้าที่คนต้องคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อ คนยังระมัดระวังอยู่ ดังนั้น การบริโภคที่กำลังฟื้นตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นกระจายตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่วนสินค้าคงทน สินค้าขนาดใหญ่ สินค้าเกี่ยวกับการลงทุน เช่น บ้าน รถใหม่ จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่มากในไตรมาส 2  

ธุรกิจ ‘รถมือสอง’ ฟื้นตัวเร็ว 

อุตสาหกรรมเด่น ที่น่าจะฟื้นตัวไตรมาส 2 ได้แก่ ‘รถมือสอง’ ที่ฟื้นเร็วกว่ารถป้ายแดง เนื่องจากคนต้องประหยัด จึงมองหารถมือสองคุณภาพดีเเทน

ส่วน ‘มอเตอร์ไซค์’ จะเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าภาคเกษตร รายได้ภาคเกษตร ปีนี้แม้ยังเผชิญปัญหาภัยแล้งอยู่ แต่ปัญหาภัยแรงไม่รุนเรงเท่าปีที่แล้ว กำลังซื้อภาคเกษตรที่ดีขึ้น คนจะหันไปซื้อมอเตอร์ไซค์มากขึ้นนั่นเอง

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับค้าปลีกค้าส่ง น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามกำลังซื้อที่ดีขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ บรรจุภัณฑ์-พลาสติก รวมไปถึงธุรกิจโรงพยาบาล ที่มีฐานลูกค้าเป็นคนไข้ในประเทศ ส่วนคนไข้ต่างประเทศคาดว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ในไตรมาส 3

Photo : Shutterstock

ค่าเงินบาท ‘ดีกว่าที่คาด’ 

ส่วนทิศทาง ‘ค่าเงินบาท’ นั้นประเมินว่าจะอ่อนค่าลง หลังจากสหรัฐฯ กังวลเรื่องเงินเฟ้อหลังทุ่มอัดฉีดงบประมาณ จึงจะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ที่สูงขึ้น มีผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะตามมา คนเลยกังวลเงินจึงไหลกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า เเละเงินบาทอ่อนค่า

“ในไตรมาสที่ 2 การอ่อนค่าน่าจะชะลอลง และน่าจะเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก” 

ด้านนโยบายการเงิน ประเมินว่าธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดทั้งปี โดยเลือกใช้นโยบายการเงินอื่น นอกเหนือจากดอกเบี้ย การอัดฉีดเเละเงินช่วยเหลือ SMEs การเร่งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ของครัวเรือน

“เราอาจเห็นมาตรการจ้างงานหรือสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น”