คนไทยหลายคนบอกตัวเองให้ทำใจที่อะไรๆ รอบๆ ตัวก็ “Made in China” แต่เดือนที่ผ่านมาต้องตกใจยิ่งกว่า เพราะเว็บไซต์อันดับหนึ่งของไทยอย่างสนุก.คอม (www.sanook.com) ก็ยังตกเป็นของจีนไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่บทความฉบับนี้จะเพิ่มความสบายใจให้ผู้ใช้เน็ตชาวไทยว่าเว็บท่าอันดับหนึ่งของไทยได้ตกอยู่ในมือเซียนเทคโนโลยีตัวจริง!
เดือนหน้าจะเป็นวันครบรอบ 12 ปีของการก่อตั้งบริษัท เท็นเซ็นต์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด จำกัด มหาชน (Tencent Holdings Ltd.) บริษัทจากเสิ่นเจิ้น แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ก่อร้างสร้างตัวจากการก๊อบปี้โปรแกรมสนทนาชื่อดังของฝรั่งอย่าง ICQ แต่วันนี้เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (คิดตามจำนวนรายได้) รองจากกูเกิลและอเมซอน และถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในจีนด้วย รายได้ประมาณหมื่นล้านบาท/ปี และมีทุกบริการบนอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ต้องการ อาทิ โปรแกรมสนทนา เว็บท่า (QQ.com) เว็บขายของ (paipai.com) เกมออนไลน์ (games.qq.com)บริการชำระเงินออนไลน์ (Tenpay.com) เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ (QZone.qq.com) เว็บค้นหาข้อมูล (soso.com) เว็บบริจาคเงินออนไลน์เพื่อการกุศล (gongyi.qq.com) ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็น One-stop online lifestyle services ซึ่งนาทีนี้ก็เกินกว่าคำว่า “สำเร็จ”
ตำนานของเท็นเซ็นต์ เริ่มด้วยการปฏิสนธิของ QQ (คิวคิว)
ปี 1996-1998 คนฝรั่งรู้จักการแชตผ่านโปรแกรม ICQ ปี 1999 ก็หันมาใช้ MSN MESSENGER และในระหว่างนี้ จีนเองในปี 1998 ก็ถือกำเนิดโปรแกรมแชตสัญชาติมังกรด้วยชื่อ OICQ (Open ICQ) ซึ่งก็เป็นการเลียนแบบ ICQ มาเต็มๆ และโดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น QQ และใช้มาสคอตเป็นรูปนกเพนกวิน
เหตุผลที่ทำให้ปัจจุบันเสียงตี๊ดๆ ของข้อความใหม่จาก QQ เป็นเสียงที่คุณจะต้องได้ยินทุกครั้งที่เดินผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกที่ในจีน ก็เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ใครๆ ก็ใช้ QQ (กว่า 95% ของผู้เล่นเน็ตในจีนใช้แต่ QQ) และใครๆ ที่ว่านั้นก็คือ กลุ่มวัยรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับความเหงาของนโยบายลูกคนเดียวซึ่งมีหลายร้อยล้านคน 2.ฟีเจอร์ที่ล้ำหน้ากว่าบรรดาโปรแกรมสนทนาอื่นๆ อาทิ การแต่งตัวอวตาร์ การส่งข้อความจากโปรแกรม QQ เข้ามือถือ สแกนไวรัส ฯลฯ
และปัจจุบันมีคนสมัครใช้โปรแกรม QQ แล้วเฉียด 1,000,000,000 บัญชี ทั้งๆ ที่ยอดผู้ใช้เน็ตจีนแค่ 420 ล้าน นอกจากนี้มือถือรุ่นใหม่ๆ ทุกเครื่องในจีนสามารถแชตผ่าน QQ ได้ทั้งหมด รวมถึงไอแพดด้วย
ส่วนในไทยเองก็มียอดผู้ใช้ QQ ทั่วประเทศมากกว่า 6 ล้านคน ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้บริการผ่าน “สนุก! คิวคิว (qq.sanook.com)” ที่เปิดให้บริการมากว่า 3 ปีแล้ว
ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า QQ ไม่ใช่สื่อใหม่ แต่เป็นจุดกำเนิด และศูนย์รวมของสื่อใหม่ต่างหาก ดูเบื้องหลังการออกแบบต้นแบบโปรแกรมแชตของ QQ เวอร์ใหม่ล่าสุดที่รองรับกับจอสัมผัสภายใต้แนวคิด “Natural interface design” ได้ที่นี่ http://cdc.tencent.com/?p=2464
ช่องทางรายได้เริ่มต้นจากเงินเสมือนจริงๆ และวันนี้ทุกพิกเซลเป็นเงินเป็นทอง
วันนี้ปี 2010 วันที่ MSN ยังเปลี่ยนได้แค่รูปแทนตัวและภาพพื้นหลังที่ดูพื้นๆ แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเท็นเซ็นต์ใช้จุดนี้ทำรายได้หลักให้เท็นเซ็นต์โดยไม่ต้องพึ่งแบนเนอร์โฆษณา เพราะ กระเป๋า เสื้อผ้า หน้า ผม และแบ็กกราวนด์ ทุกชิ้นที่รูปแทนตัวผู้ใช้ (Avatar) ในโปรแกรม QQ ใช้ต้องแลกด้วยเงินสด ที่เป็นเงินเสมือนจริงชื่อว่า QBi (1 เหรียญ = 1 หยวน หรือ 10,000 แต้มในเกมออนไลน์) ถือว่าเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตแรกๆ ของโลกที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย Virtual Money และแน่นอนว่าผู้ทำกำไรจาก QBi มากๆ ก็ต้องเสียภาษีให้รัฐ 20% ด้วย
และนโยบายในการพัฒนาบริการบนอินเทอร์เน็ตของเท็นเซ็นต์ก็ได้แผ่วงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ทั้งบล็อก เว็บเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ และสิ่งที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัทในชั่วโมงนี้ก็คือ เกมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีนโยบายที่จะออกเกมออนไลน์ขนาดเล็กทุกเดือน และเกมแบบเล่นพร้อมกันหลายคนทุกๆ 9 เดือน
จากกราฟด้านบนจะเห็นว่าวันนี้บริษัทเท็นเซ็นต์มียอดรายได้แค่ 9% ที่มาจากโฆษณา! (แต่ 500 บริษัทที่มาลงล้วนแต่เป็นแบรนด์ระดับโลก ดูรายละเอียดได้ที่ (www.tencentmind.com/case) ส่วน 2 พันล้านมาจากค่าสมัครบริการเสริมบนเว็บ และ 840 ล้านมาจากสมัครบริการเสริมบนมือถือ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่แท้จริงจากผู้ใช้บริการ ย่อมมั่นคงที่สุดสำหรับธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต
QQ คือทุกสิ่งเป็นทุกอย่าง
หากคุณพบคำว่า You are so Q! จากหน้าจอ QQ แปลว่าอีกฝ่ายกำลังชมว่าคุณน่ารัก (Q=Cute) ตัวอย่างแค่นี้ไม่ได้เป็นการการันตีว่า QQ ได้รุกจากวัฒนธรรมไซเบอร์เข้าสู่โลกออฟไลน์ได้อย่างเป็นสำเร็จเท่ากับการที่เราได้เห็นรถยนต์เชอรี่ เก๋งอีโคคาร์ ราคาเริ่มต้นที่ 3.75 แสน (ที่คนจีนตั้งชื่อให้ว่าเป็นรถสำหรับภรรยาน้อย) ,บะหมี่, ขนมกรุบกรอบ, มือถือ มีโลโก้ QQ หรือไม่ก็มาสคอตรูปนกเพนกวิน รวมถึงร้านขายสินค้าอย่างเป็นทางการของ QQ ชื่อว่า Q-Gen ที่มีขายเป็นแฟรนไชส์อีกด้วย
ถึงตอนนี้เชื่อว่าคุณจะทึ่งกับความยิ่งใหญ่ของเท็นเซ็นต์ ทั้งจากยอดสมาชิกที่มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศไทยถึงกว่าสิบเท่า และเม็ดเงินอันมหาศาลที่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศไทย จนไม่แปลกใจว่าการจ่ายเงินเพียง 300 ล้านเพื่อซื้อหุ้น 49.92% ของสนุก.คอม จะเป็น “ความน่าจะเป็น” ที่จะต้อง
“เป็นไป” อยู่แล้ว ต่อจากนี้ก็รอลุ้นว่าเท็นเซ็นต์จะขนบริการออนไลน์ใดๆ มาสร้างความคึกคักให้กับไซเบอร์สเปซในสยามประเทศได้บ้าง?
- ประวัติอันโชกโชนของ Tencent
- ปี 1998 2 ผู้ก่อตั้ง หม่า ฮว่าเจิน และ จาง จื้อตง โดย หม่า เคยติดอันดับที่ 16 ของคนรวยที่สุดในแผ่นดินใหญ่และรวยที่สุดในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของจีน โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองทำงานอยู่ในบริษัทโอเปอเรเตอร์มือถือตั้งแต่สมัยยังใช้เพจกันอยู่ ปัจจุบันผู้บริหารโหลใหญ่ของที่นี่ล้วนเป็นสายเลือดมังกรทั้งสิ้น และอายุเฉลี่ยของพนักงานคือ 26 ปี ตลอดช่วงปีแรกๆ ที่สร้าง QQ ผู้บริหารพยายามขาย QQ ให้กับบริษัทใหญ่ๆ แต่ไม่มีใครยอมซื้อ (ใส่รูปแฟ้ม tencent-ceo)
- ปี 2000 ได้เงินทุน 77 ล้านบาทจากบริษัทเงินทุนในอเมริกาและฮ่องกง แลกกับหุ้น 40%
- ปี 2000 ผู้ใช้ QQ พุ่งถึง 100 ล้านคน แต่บริษัทก็ยังหาเงินด้วยตนเองไม่ได้ เลยร่วมมือกับไชน่า โมบายล์ เชื่อมบริการหลายอย่างจาก QQ ไปมือถือ เช่น ส่งข้อความ เล่นเกม หาคู่ผ่านมือถือ
- ปี 2001 เริ่มมีกำไร 51 ล้านบาท
- ปี 2002 ยอดผู้ใช้ 160 ล้านคน กำไรพุ่งไป 14 เท่าจากปีที่แล้ว
- ปี 2004 เริ่มบุกฮ่องกง และเข้าตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย
- ปี 2006 ลงทุน 500 ล้านบาทสร้างสำนักวิจัยของตัวเอง เป็นสถาบันวิจัยด้านอินเทอร์เน็ตที่แรกของจีน มีสาขาที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสิ่นเจิ้น
- ปี 2008 ขยายบริการอื่นๆ เช่น ออนไลน์เกม (มีเกมออนไลน์ใหม่ๆ ออกทุกๆ เดือน) อีเมล เว็บค้นหาข้อมูล soso.com (ที่วันนี้เป็นอันดับ 3 รองจากไป๋ตู้ (baidu.com) และ กูเกิล)
- ปี 2009 ย้ายออฟฟิศใหม่ไปที่ Tencent Building ตึกสูง 39 ชั้นตั้งอยู่ใจกลางย่านไอทีของเสิ่นเจิ้น
- ปี 2010 จ่ายเงินหมื่นกว่าล้านบาทให้กับบริษัท Digital Sky Technologies Ltd. ในรัสเซียเพื่อแฝงการลงทุนในหุ้นของเฟซบุ๊ก