คดียุบพรรค-คลิปฉาวศาล รธน. วิกฤตการณ์กระบวนการยุติธรรม

ทำไปทำมา คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ คดีประวัติศาสตร์ที่จะไม่ใช่เพียงสิ่งที่ทุกคนจับจ้องรอดูว่าจะเป็น “จุดเปลี่ยนการเมืองไทย” ภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น

จากกรณี “คลิปฉาว” ที่เกี่ยวโยงกับศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นผลกระทบเกี่ยวเนื่องมาจากคดียุบพรรค ได้สั่นคลอนความน่าเชื่อถือจนกลายเป็น “วิกฤตศาลรัฐธรรมนูญ”

และอาจเป็น “จุดพลิกผัน” ส่งผลต่อความเป็นไปของบ้านเมืองในภาพรวม!

จากคดีที่พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ถูกข้อกล่าวหา ใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง29ล้านบาทไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่ กกต. เป็นผู้ร้อง

และพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกกล่าวหาได้ตั้งคณะทำงานกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีในประเด็นต่างๆอย่าละเอียด มีข้อแก้ต่างรองรับไว้ในทุกประเด็น

แม้แต่ในทางร้ายที่สุด กรณีหากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง ก็ต้องหาทางต่อสู้ในเรื่องคดี เพื่อให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันรอดพ้น ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม จนเวลาเดินมาถึงห้วงรอแถลงปิดคดี ลุ้นคำวินิจฉัยพิพากษา การประเมินผลล่วงหน้ายังออกมาในทางไม่ชัวร์

โดยเฉพาะเมื่อประเมินการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีแนวทางในการพิจารณาคดี ใช้ทั้ง “นิติศาสตร์” ควบคู่กับ “รัฐศาสตร์”

            ยุบ-ไม่ยุบ ยัง ห้าสิบ-ห้าสิบ!!

แต่ที่ทำให้มีเปอร์เซ็นต์ทางลบกับประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้น ก็มาจากกรณีการเปิด “คลิปฉาวศาล รธน.”

แต่เมื่อประเมินแล้วจะมีผลกระทบกับคดีก็มีเพียง คลิป ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในทีม

กฎหมายไปร่วมวงหารือกับ พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และทำให้เข้าใจว่ามีเรื่อง “วิ่งเต้น-ล็อบบี้” ในคดียุบพรรค

สร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ที่หากตัดสินในทางเป็นคุณกับ ปชป. ก็จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักในการโหมโจมตีในประเด็น “สองมาตรฐาน”

นอกเหนือจากนั้น ก็ไม่ได้อะไรเป็นประเด็นน่าจะกระทบต่อศาล และ ปชป. ทั้งคลิปที่ติดกล้องแอบถ่ายการสนทนาของตุลาการในห้องประชุม

กระทั่งคลิป “ลักไก่” ที่ตั้งใจนำภาพถ่ายพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร่วมหารือกับผู้พิพากษากลุ่มใหญ่ เพื่อให้คนดูเข้าใจว่ามีเรื่องของ “ใบสั่ง” ทั้งที่ภาพดังกล่าวเป็นคนละงานคนละเรื่อง

แต่ที่ชัดเจนคือ คลิปฉาวน่าจะมีการกระทำกันอย่างเป็นขบวนการ โดยเฉพาะตัวละครสำคัญ “พสิษฐ์” ที่วันนี้ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่าร่วมอยู่ด้วย

ทั้งการติดกล้องแอบถ่าย การวางแผน จัดฉาก ตลอดไปจนถึงพยายามซักไซ้-ถามนำ

เพื่อให้คู่สนทนา “ติดกับดัก” เข้าแผนที่วางไว้

โดยภายหลังมีการเปิดเผยถึงสายสัมพันธ์ของเลขาฯรายนี้ กับ ส.ส.เพื่อไทย และบุคคลในเครือข่ายอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่แปรพักตร์ไปอยู่ฝั่งทักษิณ ชินวัตร

“พสิษฐ์” จึงถูกตั้งข้อสงสัย “รับงาน” มา “เผาศาล”

ทำให้หลังจากเปิดคลิปร้อนมาได้สักระยะ กระแสจึงเริ่มตีกลับเมื่อมีพูดถึงการเชื่อมโยงตรงนี้ และแผนการทำลายกระบวนการยุติธรรมของ “ทักษิณ” และพวก

            รวมทั้งเสียงเรียกร้องความรับผิดชอบจาก ชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นคนแต่งตั้งพสิษฐ์มาทำงาน จนกลายเป็น “ไส้ศึก” ในเกมปั่นป่วนทำลายล้างองค์กร

ไม่เท่านั้นยังมีข้อมูลสายสัมพันธ์ของ “ชัช” ที่เชื่อมโยงกับ “ทักษิณ” และเครือข่ายการเมือง

ฉะนั้นเพื่อไทยเล่นเกมนี้ก็เหมือน “ทำปืนลั่นใส่ตัวเอง” เช่นกัน

เพราะถึงแม้กรณีคลิปฉาวจะทำได้เข้าเป้า สร้างแรงกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการที่เป็นองค์คณะในคดียุบพรรค แต่ในทางกลับกัน ทำให้การพิจารณาคดียุบพรรค ปชป. ไม่ว่าจะตัดสินไปทางใดก็ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแน่นอน

ตรงนี้อาจช่วยให้ตุลาการที่เป็นองค์คณะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น!

อย่างไรก็ดี ระยะต่อมา ภายหลังจากกระแสคลิปชุดแรกซาลง และเริ่มเห็นทิศแนวทางการเดินหน้าต่อไปของศาลรัฐธรรมนูญ “คลิปร้อน” ชุดสองจึงถูกเปิดออกมา

เป็นคลิป3ตอน ที่แอบถ่ายทำและบันทึกเสียงการสนทนาของตุลาการบางราย กับผู้กำกับ เขียนบท และนักแสดงในคนๆเดียวอย่าง “พสิษฐ์” ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับการโจมตีของคนพรรคเพื่อไทย ที่จุดพลุนำร่องมาก่อน

ว่าด้วยปมร้อน ตุลาการบางรายอาศัยหน้าที่ตำแหน่ง ช่วยเหลือเด็กตัวเอง “โกงข้อสอบ”
เพื่อสอบเข้าเป็นพนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้จะถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการ “จัดฉาก-วางแผน” แต่อีกทางหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า มีการยอมรับจากตุลาการบางท่านในเนื้อหาข้อคลิปเองว่ามีพฤติกรรมโดยมิชอบดังกล่าวจริง

            คลิปชุดนี้จึงเป็นคลื่นสึนามิที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อศาลรัฐธรรมนูญมหาศาล

เพราะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่า ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการตัดสินคดีความ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในบ้านเมือง จะต้องไม่มีข้อคลางแคลงสงสัยใดๆในพฤติกรรม

ประจักษ์ชัดในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต!

คลิป “โกงข้อสอบ” ของตุลาการบางราย จึงกลายเป็นผลกระทบต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังถูกจับจ้องจากสังคม ทั้งในเรื่องความเชื่อถือขององค์กร และการแสดงความรับผิดชอบจากตุลาการที่เกี่ยวข้อง

กระทั่งเริ่มมีการพูดถึงการปรับรื้อเปลี่ยนแปลงกันทั้งองค์กร ถึงขั้นที่มีผู้ออกมาเสนอให้ “ยุบศาล รธน.” ทิ้ง และเปลี่ยนไปเป็นแผนก อยู่ในศาลฎีกา หรือศาลปกครองแทน

แต่ที่ต้องติดตามต่อไปว่า กรณีคลิปร้อนที่เป็น “ไฟเผาศาล” ดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อคดียุบพรรค ที่กำหนดวันแถลงปิดคดีไว้ 29พ.ย. นี้ และรอคำพิพากษาช่วงปลายปี

เพราะเมื่อองค์กรยุติธรรมกำลังเผชิญภาวะ “วิกฤตความน่าเชื่อถือ” ระดับรุนแรงเช่นนี้ หากตุลาการที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบ 3-4ราย

แม้ไม่ถึงขั้นลาออกจากการดำรงตำแหน่ง เพียงประกาศถอนตัวจากคดียุบพรรค ก็จะทำให้เหลือตุลาการไม่ครบ5ราย ที่จะเพียงพอในการเป็น “องค์คณะ”

จนมีบางฝ่ายเริ่มมองว่า ดีไม่ดีคดียุบพรรค ปชป.อาจเป็น “เกมยาว” ??

เหนืออื่นใด คลิปเผาศาลที่เกิดขึ้น นอกจากสะท้อนความอัปลักษณ์ในพฤติกรรมส่วนตัวของคนในองค์กรยุติธรรมบางราย ที่ต้องถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำลายองค์กรของตัวเอง

ยังแสดงให้เห็นชัดด้วยว่า วันนี้มีผู้ที่ต้องการสร้างผลกระทบบางประการต่อศาล ที่ไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตหรือสั่นคลอนความน่าเชื่อถือ

แต่มีเจตนาและความต้องการ “ทำลายล้าง” กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

มีความพยายามโจมตี “สถาบันตุลาการ” มาต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จพอสมควรกับการกระทำต่ออำนาจในฝ่าย “นิติบัญญัติ” และ “บริหาร”

ฉะนั้นวิกฤตศาลรัฐธรรมนูญอาจจะลุกลามบานปลาย จนทำให้เกิดการล้มคว่ำไปทั้ง “กระดานอำนาจประเทศไทย” หากไม่เร่งแก้ไข “ดับวิกฤต” ที่เกิดขึ้น !!

วันนี้มีผู้ที่ต้องการสร้างผลกระทบบางประการต่อศาล ที่ไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตหรือสั่นคลอนความน่าเชื่อถือ

แต่มีเจตนาและความต้องการ“ทำลายล้าง”กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

มีความพยายามโจมตี “สถาบันตุลาการ” มาต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จพอสมควรกับการกระทำต่ออำนาจในฝ่าย “นิติบัญญัติ” และ “บริหาร”