ในปีที่ผ่านมา การระบาดของ COVID-19 ทำให้คนทั่วโลกต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านเติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะยังรวมถึง ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ อีกด้วย ซึ่งในช่วงขาขึ้นแบบนี้ ‘ซัมซุง’ เองก็เดินกลยุทธ์ใหม่ในฝั่งของ ‘ตู้เย็น’ ที่ไม่ได้เน้นนำเสนอเรื่องของฟังก์ชันแต่เน้นที่ ‘ดีไซน์’ เพื่อกระตุ้นยอดขายด้วยการทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากลายเป็น ‘ของตกแต่งบ้าน’
COVID-19 ดันเครื่องใช้ไฟฟ้าโต
นับตั้งแต่ล็อกดาวน์ช่วง 10 สัปดาห์ทำให้หน้าร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องปิดตัวลง แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์ ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามาขึ้น โดยในส่วนของยอดขายตู้เย็นช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมสามารถเติบโตได้ถึง 30% โดยรวมทั้งปีตลาดตู้เย็นปิดที่ 16,340 ล้านบาทเติบโต 12% จากปกติเติบโต 5-8% ต่อปีเท่านั้น ขณะที่ ‘ซัมซุง’ สามารถเติบโตได้ถึง 18% ส่งผลให้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 20%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 ซัมซุงคาดว่าตลาดตู้เย็นจะเติบโตประมาณ 7% แต่บริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโตให้ได้ 28% โดยปีนี้มีซับแบรนด์ใหม่อย่าง ‘BESPOKE’ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในตลาดเกาหลี ซึ่งผู้บริหารมั่นใจว่า BESPOKE จะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ของตู้เย็นซัมซุงในปีนี้
“เรายังคาดว่าปีนี้ตลาดเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังมีตัวแปรสำคัญอย่างการท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวยังไม่ 100% คนจึงนำเงินมาจับจ่ายกับเครื่องใช้ไฟฟ้าและของตกแต่งบ้าน ดังนั้น อาจต้องประเมินอีกที” เจนนิเฟอร์ ซอง ประธานธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
ส่ง ‘BESPOKE’ ซับแบรนด์จับมิลเลนเนียล
ที่ผ่านมา ซัมซุงได้เริ่มนำร่องกลยุทธ์การใช้ ‘ดีไซน์’ ในการทำตลาดเพื่อเน้นไปที่ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของคนโดยเริ่มจาก ‘ทีวี The Wall’ สำหรับตลาดตู้เย็นซัมซุงมีซับแบรนด์ ‘BESPOKE’ ตู้เย็นที่มีจุดเด่นที่ผู้บริโภคสามารถ ‘คัสตอมไมซ์’ ได้เอง ทั้งวัสดุ สี และจำนวนโมดูล โดยในประเทศเกาหลี BESPOKE สามารถทำยอดขายได้ถึง 2 ใน 3 ของยอดรวม ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ซัมซุงนำเข้ามาทำตลาด คาดว่าจะทำรายได้ 10% ของกลุ่มตู้เย็น
ซัมซุงจะใช้ BESPOKE เพื่อจับกลุ่ม ‘มินเลนเนียล’ (อายุ 25-40 ปี) ซึ่งมีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน และใช้อารมณ์ตัดสินใจมากกว่าดูฟังก์ชัน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมินเลนเนียลมีสัดส่วนราว 29% ของประชากรไทยและคิดเป็น 27% ของประชากรที่มีรายได้ในไทย ถือเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อ และในอีก 5 ปีข้างหน้าคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างลอยัลตี้
“ในปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากขาดตลาด แต่ก็ยังเติบโต เราจึงจะเน้นที่กลุ่มพรีเมียม เพราะผลกระทบน้อย BESPOKE จะเป็นเกมเชนเจอร์ของเรา เนื่องจากมีดีไซน์และสีสันตรงกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อสะท้อนตัวตนของลูกค้าแต่ละคน สามารถอยู่ในทุกพื้นที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในครัว” กฤษฎา วัฒนารักษ์สกุล ผู้อำนวยการ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กล่าว
ไม่ได้มีแค่ตู้เย็น
สำหรับ BESPOKE ไม่มีแค่ตู้เย็น แต่มีเครื่องฟอกอากาศ เตาไมโครเวฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ โดยยังคงจุดเด่นด้านดีไซน์ สีสันฟังชันหลากหลาย รวมถึงสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ เพื่อตอบโจทย์ของเหล่ามิลเลนเนียล ซึ่งในไทยเองก็มีแผนจะนำสินค้าอื่น ๆ เข้ามาขายด้วยเช่นกัน โดยหวังจะสร้างเป็นอีโคซิสเต็มส์แบรนด์ซัมซุง
“เรามั่นใจว่าลูกค้าซัมซุงมีสินค้าของซัมซุงในบ้านเกินกว่า 1 ชิ้น เพราะเขาต้องการความสะดวก เรามีอีโคซิสเต็มส์ที่ครบที่สุด ทั้งมือถือ ทีวี ตู้เย็น ตอนนี้ลูกค้าเริ่มซื้อแบรนด์เพราะมันเชื่อมกันได้หมด จากเดิมที่ซื้อแบรนด์ไหนก็ได้”
สำหรับ BESPOKE ราคาเริ่มต้นที่ 36,970 บาท มี 5 รูปแบบสีให้เลือก ได้แก่ Glam Pink, Glam Navy, Glam White, Satin Gray, และ Satin White โดยสามารถเลือกทิศทางการเปิดประตู และสามารถนำตู้เย็นมาต่อกันเพื่อทำเป็นตู้เย็นแบบ 2, 3 และ 4 ประตูได้