“ปากีสถาน” เปิดให้เอกชนขายวัคซีน ราคาพุ่ง 4 เท่า การเข้าถึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำ

(Photo : Shutterstock)
“ปากีสถาน” กำลังรับมือการระบาดรอบ 3 และรัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เร็วพอ ทำให้ปากีสถานเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ตัดสินใจปลดล็อกให้เอกชนนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนป้องกัน COVID-19 เองได้ ผลคือราคาที่สูงกว่าตลาด 4 เท่า และปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำนักข่าว CNN รายงานว่า เมื่อเดือนก่อนปากีสถานตัดสินใจปลดล็อกให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19 เองได้ และวัคซีนของเอกชนเริ่มเข้ามาแล้วล็อตแรกช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน โดยเป็นวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย

ทันทีที่วัคซีนล็อตเอกชนเข้าสู่ประเทศ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกที่มีจำหน่ายวัคซีนมีประชาชนแห่ต่อคิวยาวนานหลายชั่วโมงเพื่อรอรับการฉีด หลายแห่งมีการจองหมดภายในไม่กี่วัน และหลายแห่งต้องเปลี่ยนระบบจากการวอล์กอินมาต่อคิว เป็นการจองคิวออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการชุมนุมชน หลังจากนั้นแม้แต่คิวออนไลน์ก็ยังต้องปิดชั่วคราว

โดยบริษัทเอกชนที่นำเข้าวัคซีนมาได้มากที่สุดคือ AGP Pharma ผู้นำเข้าวัคซีน Sputnik V มา 50,000 โดส ส่วนบริษัทเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างจองซื้อและนำเข้าเช่นกัน

ความต้องการวัคซีนของปากีฯ มีสูงมาก จากจำนวนเคสติดเชื้อสะสมที่พุ่งไปถึง 721,000 เคส และผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 ราย รวมถึงยังอยู่ระหว่างการระบาดรอบ 3 ขณะนี้

 

ราคาสูง-มีเฉพาะในเมืองใหญ่ สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

สำหรับการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลปากีสถาน มีการนำเข้ามาแล้ว 2.56 ล้านโดส ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนของจีน และมีการฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 1 ล้านคนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมักจะเป็นบุคลากรการแพทย์และกลุ่มผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ประเทศนี้มีประชากรถึง 238 ล้านคน ดังนั้น วัคซีนของรัฐบาลที่เข้ามาแล้วจึงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ปากีสถานเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 แต่จำนวนวัคซีนล่าช้าและไม่เพียงพอ จึงเปิดให้เอกชนนำเข้าเองได้ (Photo : Shutterstock)

เมื่อรัฐบาลเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเอง จึงเป็นการเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มอายุสามารถเข้าถึงวัคซีนด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอต่อคิวที่รัฐจัดการให้

อย่างไรก็ตาม การขายวัคซีนของเอกชนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับราคาขายและการเข้าถึงวัคซีน และสะท้อนชัดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่หยั่งลึกในประเทศ เพราะการขายของเอกชนส่วนใหญ่จะมีเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงการาจี เมืองอิสลามาบัด ส่วนประชาชนในเขตชนบทไม่สามารถเข้าถึงได้

รวมถึง “ราคา” ก็สูงเกินกว่ารายได้ประชาชนส่วนใหญ่ของปากีสถานจะเข้าถึงได้อย่างสะดวก

ขณะนี้ราคาขายวัคซีน Sputnik V แบบ 2 โดสเปิดขายราคา 12,000 รูปีปากีสถาน (ประมาณ 2,480 บาท) ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดสากลซึ่งคิดราคา 20 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 630 บาท) แปลว่าเอกชนปากีสถานบวกราคาสูงขึ้นถึง 4 เท่า

รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของชาวปากีฯ ยังอยู่ที่เพียง 41,545 รูปีปากีสถานต่อเดือน (ประมาณ 8,590 บาท) เท่ากับว่า การฉีดวัคซีนเอกชนครบ 2 โดสจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ต่อเดือน

 

เอกชนนำเข้าทำให้ “คนรวย” ได้ลัดคิว?

การตัดสินใจของปากีสถานให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงจริยธรรมในการจำหน่ายวัคซีนระหว่างการระบาด และการต่อสู้ระหว่างบริษัท AGP กับรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดราคา เพราะแต่เดิมรัฐบาลไม่มีข้อกำหนดเรื่องเพดานราคาวัคซีนเอกชน ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทเอกชนอาจจะกำลังค้ากำไรในช่วงที่คนไม่มีทางเลือก

Photo : Shutterstock

เมื่อเดือนก่อน องค์กร NGO ชื่อ “Transparency International Pakistan” เรียกร้องให้ Imran Khan นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ยับยั้งการนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนของเอกชน เพราะมองว่าการค้าวัคซีนจะทำให้กลุ่มคนรวยได้โอกาสลัดคิว และยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำมีผลกับสังคมมากขึ้นไปอีก

เวลาต่อมา รัฐบาลจึงตัดสินใจกลับคำสั่งที่ไม่มีการกำหนดเพดานราคาวัคซีนนำเข้าของเอกชน บริษัท AGP จึงฟ้องร้องรัฐบาล เพราะวัคซีน Sputnik V มีการนำเข้ามาแล้ว 50,000 โดสดังกล่าว สุดท้ายบริษัทจึงได้ขายวัคซีนล็อตนี้ในราคาเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นสิ้นสุดว่าต้องกำหนดเพดานราคาเท่าไหร่

ฟากบริษัท AGP ตอบโต้ว่าราคานี้เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะการนำเข้าจนถึงการฉีดวัคซีนต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดทาง ทั้งค่าขนส่ง ภาษี ค่าพิธีศุลกากร โกดังเก็บสินค้า ซัพพลายเชนการขนส่งในประเทศ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บในอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสด้วย อย่างไรก็ตาม สังคมก็ยังคงวิจารณ์ว่าราคา 12,000 รูปีปากีฯ สูงเกินไป

ที่ผ่านมา มีไม่กี่ประเทศในโลกที่อนุญาตให้เอกชนขายวัคซีนเอง เช่น
“อินเดีย” อนุญาตให้เอกชนบางรายเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคา
“โคลัมเบีย” อนุญาตให้เอกชนช่วยนำเข้าวัคซีนได้แต่ต้องฉีดให้ประชาชนฟรี
“อินโดนีเซีย” เปิดโครงการให้บริษัทเอกชนซื้อต่อวัคซีนของภาครัฐเพื่อฉีดให้พนักงานของตน
“เคนยา” เปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนอยู่ระยะหนึ่งแต่ระงับไปเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เพราะหวั่นเกรงปัญหาวัคซีนปลอมอาจเข้ามาในตลาดได้

ขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มหารือกับเอกชนแล้วเรื่องการเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีน แต่จะต้องนำเข้าวัคซีนที่ไม่ใช่ Sinovac และ AstraZeneca ที่รัฐบาลมีสัญญา เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบในหลักการ แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มีการกำหนดราคาหรือไม่ และจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยหรือไม่ ต้องรอติดตาม

Source