Microsoft ทุ่มซื้อบริษัท AI เบื้องหลังระบบ ‘Siri’ เริ่มต้นยุคล่าซื้อกิจการเพื่อดิสรัปต์ตนเอง

(Photo by Jeenah Moon/Getty Images)
Microsoft แถลงเมื่อวันจันทร์ (12 เม.ย. 2021) ว่า บริษัทเตรียมเข้าซื้อ Nuance Communications บริษัท AI เบื้องหลังการทำงานของ ‘Siri’ ด้วยเม็ดเงิน 1.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นักวิเคราะห์มอง Microsoft กำลังตั้งต้นไล่ซื้อกิจการระลอกใหม่ หลังถือกระแสเงินสดไว้ในมือสูง แต่เป็นการซื้อเพื่อ “ดิสรัปต์” ตนเอง ขยายออกจากธุรกิจดั้งเดิม

ประกาศของ Microsoft แจ้งการเข้าซื้อกิจการ Nuance Communications เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 1.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินสด 1.6 หมื่นล้านเหรียญ และรับภาระหนี้ 3.7 พันล้านเหรียญ

บริษัท Nuance เป็นบริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1992 โดยขณะนั้นยังใช้ชื่อ Visioneer จากนั้นมีการเทกโอเวอร์และควบรวมกิจการอีกหลายครั้งจนมาเป็น Nuance

บริษัทนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของ Siri ระบบผู้ช่วยสั่งงานด้วยคำสั่งเสียงที่ Apple ใช้งาน โดยบริษัทมุ่งความเชี่ยวชาญในด้าน AI ที่เกี่ยวกับบทสนทนา ต้องการสร้างโซลูชันที่สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบกับภาษามนุษย์ได้ และมีลูกค้า 60% ในวงการธุรกิจการแพทย์

Nuance Communications บริษัทมุ่งความเชี่ยวชาญในด้าน AI ที่เกี่ยวกับบทสนทนา ต้องการสร้างโซลูชันที่สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบกับภาษามนุษย์ได้ (Photo : Shutterstock)

Mark Moerdler นักวิเคราะห์จากบริษัท Sanford C. Bernstein & Co. มองว่า การเข้าซื้อ Nuance ของ Microsoft เพราะบริษัทน่าจะเล็งเห็นว่าศักยภาพของ Nuance น่าจะมีประโยชน์กับทั้งอุตสาหกรรมที่ Microsoft ให้บริการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ ค้าปลีก ภาคการผลิต การเงิน ฯลฯ

ก่อนที่จะเข้าซื้อกิจการ Microsoft เคยทำงานกับ Nuance มาแล้วเมื่อปีก่อน โดยร่วมเป็นพันธมิตรสร้างโซลูชันชื่อ Dragon Ambient Experience เป็นระบบบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างแพทย์กับคนไข้ จากนั้นพิมพ์บันทึกเสียงนั้นได้อัตโนมัติเพื่อเก็บไว้เป็นบันทึกทางการแพทย์

 

นักวิเคราะห์มอง “ระลอกใหม่” แห่งการ “ล่าซื้อกิจการ”

การเข้าซื้อ Nuance ครั้งนี้ ถือเป็นการปิดดีลมูลค่าสูงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นของ Microsoft นับตั้งแต่ที่เข้าซื้อ LinkedIn เมื่อปี 2016 ด้วยเม็ดเงิน 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ประกอบกับกระแสเงินสดในบริษัทที่สูงกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญ (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2020) ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า Microsoft กำลังดำเนินนโยบายล่าซื้อกิจการระลอกใหม่ และเป็นการทำตามวิสัยทัศน์ของ Satya Nadella ซีอีโอบริษัท ที่ต้องการขยายองค์กรให้แผ่ไปไกลว่าธุรกิจซอฟต์แวร์

Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft (Photo by Christophe Morin/IP3/Getty Images)

“Nadella กำลังเข้าสู่เส้นทางออกรบในศึกควบรวมกิจการ” Dan Ives นักวิเคราะห์จาก Wedbush Securities กล่าว “พรมแดนต่อไปของ Microsoft คือการไม่เพียงแต่นั่งอยู่บนความสำเร็จของตัวเองเท่านั้น”

สัญญาณการไล่ซื้อกิจการของ Microsoft เห็นได้จากการเสนอตัวเป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องการซื้อ TikTok สหรัฐฯ แต่ผู้ชนะในศึกครั้งนั้นกลับเป็น Oracle

ต่อมาบริษัทลงทุน 7.5 พันล้านเหรียญ เพื่อซื้อบริษัท ZeniMax Media ผู้ถือลิขสิทธิ์เกมหลายตัว เช่น Doom, Wolfenstein จากนั้นบริษัทยังตกเป็นข่าวว่ากำลังเจรจาซื้อแอปพลิเคชัน Discord แอปฯ แชทของเหล่าเกมเมอร์ ด้วยมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ

 

Microsoft กำลังตีตื้นในวงการเทคฯ รายย่อย

หัวใจสำคัญตลอดมาของบริษัท Microsoft คือการผลิตซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Windows OS, Microsoft Office หรือ Edge เบราเซอร์ท่องอินเทอร์เน็ต รวมไปถึง Azure บริการคลาวด์ที่กำลังทำเงินให้กับบริษัท

นักวิเคราะห์มองว่า การเทกโอเวอร์ Nuance เป็นการต่อยอดธุรกิจแบบที่เป็นหัวใจของบริษัทคือ “โซลูชันที่ใช้ในระดับองค์กร” แต่เห็นได้ว่าบริษัทกำลังพยายามต่อยอดไปในบริการสำหรับลูกค้ารายย่อย อย่างการเข้าซื้อ LinkedIn หรือ ZeniMax และความพยายามที่จะซื้อ TikTok กับ Discord

อย่างไรก็ตาม Ives กล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ Microsoft เข้าซื้อ TikTok ไม่สำเร็จ เพราะจะเป็นดีลการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากเกินไปสำหรับบริษัท

ในขณะที่ถ้าหากบริษัทซื้อ Discord สำเร็จ จะต่อยอดได้ดีกับบริษัทเกมที่เพิ่งซื้อมา รวมถึงไปกันได้กับธุรกิจด้านเกมมิ่งที่มีอยู่นั่นคือ Xbox, Xcloud และ GamePass

Moerdler จาก Sanford C. Bernstein กล่าวสรุปว่า วิถีการเข้าซื้อกิจการของ Microsoft ไม่ใช่การล่าซื้อเพื่อเพิ่มรายได้บริษัท แต่เป็นการซื้อกิจการที่จะช่วยดิสรัปต์บริษัทได้ในทางบวก

Source