‘จีน’ เล็งใช้ ‘หยวนดิจิทัล’ กับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาต่างชาติในโอลิมปิกปี 2022

(Photo by Wang Jianfeng/VCG via Getty Images)
หลังจากที่ ‘จีน’ ได้ทดลองใช้งาน ‘หยวนดิจิทัล’ (e-CNY) สกุลเงินดิจิทัลของจีนไปตั้งแต่วันที่ 12-25 เมษายนปีนี้ ที่มณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ โดยประชาชนจะได้รับหยวนดิจิทัลผ่านแอปฯ ในสมาร์ทโฟน ซึ่งจะสามารถใช้ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และโรงแรมต่าง ๆ ล่าสุด รัฐบาลก็เล็งจะให้นักท่องเที่ยวและนักกีฬาต่างชาติที่จะมางานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2022 ได้ใช้งานหยวนดิจิทัลด้วย

ธนาคารแห่งประเทศจีน (PBOC) เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับเงินหยวนดิจิทัลในปี 2014 โดยหยวนดิจิทัลถือเป็นเงินที่เรียกว่า CBDC หรือ Central Bank Digital Currency คือ เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งจะแตกต่างจากคริปโตเคอเรนซี อย่างบิตคอยน์ คือ เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มีเงินแบบเดิมที่ใช้กันอยู่โดยรองรับมูลค่า 1 หยวนดิจิทัลเท่ากับ 1 หยวนปกติ

ย้อนไปเดือนพฤษภาคมปี 2020 แบงก์ชาติจีนได้นำร่องใช้หยวนดิจิทัลที่เมืองเซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปีหน้าที่กรุงปักกิ่ง และเริ่มทดสอบรอบสองที่มณฑลไห่หนานช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนจะขยายไปยังเมืองอื่น ๆ อาทิ เซินเจิ้น ปักกิ่ง ซิงเต่า ต้าเหลียนและซีอาน ในเดือนถัดไป

ล่าสุด Li Bo รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศจีน กล่าวว่า มีแผนจะใช้หยวนดิจิทัลกับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาต่างชาติในการใช้งานในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในปี 2022 ซึ่งจะถือเป็นการทดสอบสกุลเงินดิจิทัลของจีนกับผู้ใช้ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก

“สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งที่กำลังจะมาถึงนี้เราพยายามทำให้ e-CNY ไม่เพียงแต่ใช้กับประชาชนในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักกีฬาต่างชาติและผู้เยี่ยมชมด้วย โดยเราจะทดลองใช้ให้มากที่สุด แต่ยังไม่มีแผนว่าจะใช้งานทั่วประเทศเมื่อไหร่ เพราะต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมก่อน” Li กล่าว

(Photo by Wang Jianfeng/VCG via Getty Images)

อย่างไรก็ตาม Li Bo ยืนยันว่า สกุลเงินหยวนดิจิทัลมีวัตถุประสงค์เพื่อแทนที่เงินสดและเหรียญในการหมุนเวียนและส่งเสริมการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดในประเทศจีน ไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลและไม่ได้รับการออกแบบมาเหมือนบิตคอยน์ และจุดมุ่งหมายของเงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่เพื่อแทนที่เงิน ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ในเวทีระหว่างประเทศ

“สำหรับความเป็นสากลของเงินหยวน เราได้กล่าวหลายครั้งแล้วว่ามันเป็นกระบวนการทางธรรมชาติและเป้าหมายของเราไม่ใช่การแทนที่ (ดอลลาร์) ดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลเงินระหว่างประเทศอื่นใด เป้าหมายของเราคือการให้ตลาดเลือกและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม PBOC กำลังทำงานร่วมกับธนาคารกลางอื่น ๆ รวมถึงธนาคารจากไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฮ่องกงเพื่อใช้เงินหยวนดิจิทัลในการค้าข้ามพรมแดน

ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าที่จีนสร้างหยวนดิจิทัลของจีนอาจเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความเป็นสากลให้กับเงินหยวน และยังท้าทายให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินสำรองของโลก ซึ่งการค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

Source